xs
xsm
sm
md
lg

เทศบาลนครแหลมฉบังเตรียมวางแนวทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม-น้ำเสียอย่างเป็นระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - เทศบาลนครแหลมฉบัง เตรียมวางแนวทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม-น้ำเสียอย่างเป็นระบบ หลังเมืองขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถรองรับได้ทันท่วงที

วันนี้ (25 เม.ย.) ที่ห้องประชุมชั้น 4 เทศบาลนครแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นางจินดา ถนอมรอด นายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง พร้อมด้วยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาเทศบาลนครแหลมฉบังเป็นเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม ประกอบด้วย นายสนธิ คชวัฒน์ คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายสุรชัย แสงทักษิณ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 ชลบุรี, นายวีระ ทองประไพ ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเทศบาลฯ, ชุมชน และผู้ประกอบการในเขตเทศบาล ร่วมประชุมในครั้งนี้อย่างพร้อมเพรียง

การประชุมในครั้งนี้ เนื่องจากมีประชาชนได้คัดค้านโครงการการขยายท่าเทียบเรือของการท่าเรือแหลมฉบัง โดยทางคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ซึ่งทางคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและพบมีปัญหาหลายประการที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข ประกอบด้วย 1.ปัญหาการจัดการน้ำเสียของเทศบาลฯ 2.การศึกษาโครงการเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม และ 3.การดำเนินงานของบริษัทเอกชนต่อความรับผิดชอบต่อสังคม และ 4.การจัดทำรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมประจำปีของเทศบาลฯ

นางจินดา กล่าวว่า ปัญหาต่างๆ ที่ทางคณะอนุกรรมาธิการฯ เสนอนั้น เนื่องจากปัจจุบันเทศบาลนครแหลมฉบัง เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้แผนงานที่วางไว้ โดยเฉพาะการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมไม่ทันท่วงที ดังนั้น จึงต้องระดมความคิดจากหลากหลายหน่วยงาน เพื่อวางแผนงานเพื่อเตรียมรองรับกับปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะหากไม่รีบดำเนินการ ปัญหา หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอาจดูแลไม่ทันท่วงที

ทางเทศบาลฯ มีแผนงานที่จะรองรับ แต่ต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการที่สูง โดยจะต้องประสานของบประมาณจากส่วนกลาง หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาช่วยสนับสนุนงบประมาณ เช่น ปัญหาการบำบัดระบบน้ำเสีย ซึ่งน้ำเสียในพื้นที่มีไม่มาก แต่น้ำเสียเทศบาลข้างเคียงที่ผ่านเทศบาลนครแหลมฉบัง จะต้องนำมาบำบัดร่วมกันก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ โดยอาจจะต้องใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ถึงจะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

นางจินดา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้น ปัญหาเรื่องขยะมูลฝอย ซึ่งกำลังมีปัญหา เนื่องจากปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉลี่ยขยะมูลฝอยจะต้องเข้าสู่การระบบบำบัดวันละ 200 ตันต่อวัน และยังมีขยะจากเทศบาลใกล้เคียงที่เข้ามาบำบัดที่เทศบาลฯ อีก 200 ตันต่อวัน รวม 400 ตันต่อวัน ซึ่งจะสร้างส่งผลกระทบทำให้บ่อฝังกลบเต็มเร็วกว่ากำหนด ซึ่งเรื่องนี้จะต้องวางแนวทางลดปริมาณขยะลง หรือต้องดำเนินการคัดแยกขยะเพื่อให้เกิดประโยชน์ โดยได้ประสานบริษัทเอกชนเข้ามารับดำเนินการกำจัดขยะบ้างแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ

ปัญหาสำคัญที่ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน คือ การอยู่ร่วมกันของประชาชนกับโรงงาน (โครงการเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม) เพราะปัจจุบัน มีโรงงานเป็นจำนวนมากในพื้นที่ ซึ่งทำอย่างไรให้ทั้งสองฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้ และพึ่งพากันได้ โดยจะต้องดึงให้ผู้ประกอบการโรงงานเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและผลกระทบตลอดไป

นางจินดา กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาต่างๆ นั้น จะต้องมีคณะกรรมการในแต่ละส่วนเข้ามาดูแลรับผิดชอบ เพื่อให้แผนงานที่วางไว้เป็นไปตามรูปแบบ โดยมีทั้งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง และในพื้นที่ช่วยกันวางแนวทาง และหลังจากนั้น ให้นำเสนอสู่คณะกรรมการใหญ่ ซึ่งตนและคณะผู้บริหารเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อให้แผนงานนั้นเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างเป็นรูปธรรม

กำลังโหลดความคิดเห็น