ร.ร.สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมรุ่นที่6
ชัยชนะบนเส้นทาง...ตามรอยเท้าพ่อ
โดย...นฤณรรณ คำประคอง
โรงเรียนที่ได้รับถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โครงการโรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมเฉลิมพระเกียรติ “ตามรอยเท้าพ่อ...กับฮอนด้า” ครั้งที่ 6 ประจำปี 2553-2554 ได้แก่ โรงเรียนบ้านสันป่าไร่ จ.ตาก และโรงเรียนฝางชนูปถัมภ์ จ.เชียงใหม่
แน่นอนว่า อนาคตของเยาวชนไทยกลุ่มนี้ กำลังจะเติบโตเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพของชาติและพร้อมที่จะสานต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป
สำหรับโรงเรียนบ้านสันป่าไร่ ร.ร.ประถมขนาดเล็ก ใน อ.แม่ระมาด จ.ตาก ที่มีนักเรียนทั้งไทยพุทธและชนเผ่าปกากะญอรวมอยู่ด้วยกัน ได้สะสมความรู้และพัฒนาโครงการด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องจนฝังอยู่ในวิถีชีวิตของนักเรียนและคนในชุมชน ความโดดเด่นของโรงเรียนแห่งนี้ คือ การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ทั้งปัญหาแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมี ปัญหาขยะ การขาดแคลนพลังงาน การดำเนินการของโรงเรียนจะเน้นงานในรูปแบบฐานเรียนรู้ ให้นักเรียนลงมือปฏิบัติจริง
“ตัวเล็ก” ด.ญ.พัชระ มันตาธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ร.ร.บ้านสันป่าไร่ บอกเล่าความรู้สึกว่า ไม่เคยคิดว่าโรงเรียนจะได้รับรางวัลครั้งนี้เลย เพราะทางโรงเรียนได้ส่งเข้าประกวดมาทุกปี ตั้งแต่เริ่มโครงการนี้ แต่ปีนี้เราทำดีและมีการพัฒนามาเรื่อยจนทำให้ประสบความสำเร็จ แต่รางวัลนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีความร่วมมือต่างๆของทั้งครู นักเรียนและผู้ก่อตั้งโครงการ ที่มอบสิ่งดีให้กับเรา หากไม่มีโครงการนี้พวกเราคงจะไม่มีจิตสำนึกหรือนึกถึงผลเสียที่เกิดขึ้นจากการทำลายสิ่งแวดล้อมนี้เลย
“ถ้าเรามีจิตที่จะรักษาสิ่งแวดล้อม ในอนาคตข้างหน้าเราก็จะมีบ้านเมืองที่สดใสและสะอาด แต่ถ้าเราไม่คิดที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมในวันนี้ วันข้างหน้าเด็กรุ่นหลังๆจะเดือนร้อน ถ้าเราคิดที่จะช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมพวกเราเชื่อว่าวันข้างหน้าประเทศไทยก็ยังคงมีสิ่งสวยงามและมีธรรมชาติให้ชื่นชม” ตัวเล็ก ตอบด้วยรอยยิ้มที่สุขใจ
ส่วน โรงเรียนฝางชนูปถัมภ์ ร.ร.มัธยมขนาดใหญ่ในอำเภอฝาง ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 188 ไร่ โรงเรียนได้พัฒนาพื้นที่บนดอยหลังโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จำลองการเกษตรทฤษฎีใหม่ ด้วยการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน คือ ขุดสระเก็บน้ำ 30% ปลูกข้าว 30% ปลูกผักผลไม้ 30% และสร้างที่อยู่อาศัย 10%
และต้นแบบการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริที่มีประสิทธิภาพ โรงเรียนยังมีความโดดเด่นด้านการบูรณาการหลักสูตรการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมในทุกสาระวิชา โดยให้นักเรียนรับผิดชอบฐานการเรียนรู้ต่างๆ และการสร้างจิตสาธารณะในชุมชน เช่น การทำฝ่ายกิจกรรมปลูกต้นไม้ รณรงค์การคัดแยกขยะในชุมชน ปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มาจากการลงมือปฏิบัติจริงทำให้แหล่งเรียนรู้แห่งนี้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ด้วยการขับเคลื่อนของผู้บริหาร คณะครู และนักเรียนจนเป็นศูนย์กลางการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชดำริของชุมชนอย่างแท้จริง
“เจมส์” นายภูริพัมน์ คำมา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ร.ร.ฝางชนูปถัมภ์ บอกว่า โรงเรียนเข้าร่วมปีนี้เป็นปีที่ 2 และได้รางวัลในครั้งนี้ เราตั้งใจมากที่จะทำให้ทุกคนในโรงเรียนช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งตอนนี้โรงเรียนได้ร่วมกับวัดเพื่อนำแนวคิดการรักษาสิ่งแวดล้อมเผยแพร่ให้คนในชุมชนและวัด โดยเด็กๆ จะเข้าไปเป็นจิตอาสาช่วยกันทำความสะอาดวัดและช่วยกันดูและรักษาความสะอาด
น้องเจมส์ เล่าด้วยว่า นอกจากนี้ โรงเรียนมีการจัดประกวดการประหยัดพลังงานโดยที่ติดมิเตอร์ไว้ที่ห้องเรียนทุกห้องและทุกชั้นเรียน เพื่อที่จะได้เอาแต่ละชั้นปีมาแข่งกันว่าห้องไหนประหยัดไฟมากที่สุด หากห้องไหนไม่ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้ก็จะมีการลงโทษตามข้อตกลงที่ได้ตั้งกันไว้ จากตอนแรกทางโรงเรียนเสียเงินในการใช้ไฟฟ้ามาก แต่ตอนนี้ลดลงเท่าตัวเลย เพราะทุกคนช่วยกันประหยัดและรู้จักนำสิ่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้
“เราจะรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่และจะสานต่อความรู้ต่างๆที่ได้เรียนรู้มา สอนต่อให้ชุมชนและครอบครัวได้เรียนรู้การรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อที่วันข้างหน้าคนรุ่นต่อไปจะได้เห็นธรรมชาติที่สวยงาม และรู้จักใช้และรู้จักประหยัดและรักษาสิ่งแวดล้อมเอาไว้”
ด้าน นางสาวศิริพร ศรีสุข ผู้จัดการฝ่ายส่วนกิจกรรมเพื่อสังคม สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ เป็นตัวแทนของฮอนด้า เล่าว่า ในปีนี้มีโรงเรียนที่เข้าแข่งขันทั้งหมด 84 โรงเรียน เหตุที่ได้เลือกสองโรงเรียนดังกล่าว เพราะตรงตามประเด็นและตรงตามข้อกำหนดของเราทุกอย่าง โรงเรียนบ้านสันป่าไร่เข้าร่วมโครงการเราตั้งแต่ปีแรก จนมาปี้นี้เราได้เห็นพัฒนาการของโรงเรียนมาตลอด จึงเป็นเหตุผลที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้
ผู้จัดการฝ่ายส่วนกิจกรรมเพื่อสังคม เล่าต่ออีกว่า โรงเรียนฝางชนูปถัมภ์ ที่ได้รับคัดเลือกเพราะโรงเรียนทำตามวัตถุประสงค์และมีการพัฒนาดีมาก เข้าร่วมเป็นครั้งที่สอง แต่ทำได้ดีมาก ถึงแม้จะเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่มีการควบคุมและบริหารงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี และนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาประยุคใช้ได้ดีมาก ทำให้เราได้ตัดสินใจเลือกสองโรงเรียนนี้ เพราะตรงตามวัตถุประสงค์ของเรามากที่สุด เราเองได้เฝ้าติดตามและคอยดูแลมาตลอดการแข่งขัน เห็นการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของแต่ละโรงเรียนดีขึ้น
“เงินทุนที่เราให้มันเป็นแค่เงินทุนตั้งต้นให้ ทุนก็โรงเรียนหนึ่งไม่เกิน 6 หมื่นบาท ทุนต่อรอบเรามีให้ไม่เกิน 90 โรงเรียน เราให้ทุนไปเขาก็ต้องพร้อมให้เราเอากรรมการได้ตรวจสอบ ข้อแม้ในการรับทุน ไม่ใช่รับทุนแล้วหายไป เราจะไปดูและประเมินว่า เขามีอะไรที่ขาด หรือให้กรรมการช่วยเสริม เขาตามคอยดูและปรับปรุงตามที่เราบอก กรรมการไปตรวจสอบ 2รอบ ดูความเป็นไปได้ว่าโรงเรียนต้องปรับอะไรบ้าง เช่นธนาคารขยะทำไม่ถูกหรือเอาบัญชีมาดูกรรมการเราไปต้องไปตรวจตามฐานที่มี และต้องให้แนะนำว่าแต่ละฐานเป็น และจะให้โรงเรียนปรับปรุงและเราจะนำกรรมการมาตรอจรอบสอบ และนำมาคัดเลือกว่าโรงเรียนไหนเหมาสมและตรงตามวัตถุประสงค์”นางสาวศิริพรกล่าว
สุดท้าย...การรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เพื่อใครแต่เพื่อตัวเราเองและทุกคนในสังคมโลก หากเราไม่รักษาธรรมชาติ เราอาจจะต้องพบกับภัยพิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยน้ำมือของเราเอง แต่หากเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ ธรรมชาติก็จะยังคงอยู่และสวยงามดังเดิม