xs
xsm
sm
md
lg

คิดดี ทำดี : "สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา" หัวใจเธอสวยด้วย "จิตอาสา" - "การคืนกำไรสู่สังคม"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คำว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” ทั้งกายและใจ เห็นทีต้องใช้กับเธอคนนี้ “ตุ๊กตา” สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ได้เป็นอย่างดี เพราะเธอคือลูกสาวที่เจริญรอยตามคุณพ่อ “เฉลียว อยู่วิทยา” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ “RED Bull” หรือ “กระทิงแดง” ที่กระฉ่อนไปทั่วโลก ทั้งในยุโรปและเอเชีย

เมื่อปี 2007 นิตยสารฟอร์บ ได้จัดอันดับให้คุณเฉลียว เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของเมืองไทย แม้จะเป็นบุรุษผู้ซ่อนกาย ภายใต้ตำแหน่งเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในไทยก็จริง แต่คนตระกูลนี้กลับไม่เคยปรากฏตัวในงานสังคมหรูหรา และไม่เคยปรากฏตัวต่อสาธารณะเพื่อสิ่งอื่น นอกจาก “งานเพื่อสังคม”

• พ่อเป็นตัวอย่างของ
การทำงานเพื่อสังคม


ตุ๊กตา หรือที่เธอเรียกตัวเองว่า “ตา” เล่าว่า

“สมัยเด็ก ตาค่อนข้างใกล้ชิดคุณพ่อ เห็นท่านทำงานตามเสด็จฯโครงการชนบท สร้างฝายน้ำชลประทาน อีสานเขียว ตายังจำได้เลยว่า เมื่อใดที่ได้ยินชื่อของทุ่งกุลาร้องไห้แล้ว เราเศร้ามาก เวลาที่คุณพ่อให้ทุนสนับสนุนทหารที่รับราชโองการมา พอเวลาที่ท่านกลับมา ตาก็มักจะถามว่า ครั้งนี้คุณพ่อไปแจกของที่ไหน แล้วเอาอะไรไปแจกบ้าง พอช่วงหน้าหนาวก็ไปแจกผ้าห่ม เสื้อผ้าเด็กตามต่างจังหวัด สิ่งเหล่านั้นเป็นภาพสะสมที่ตาเห็นมาตลอด คุณพ่อมักสอนเสมอว่า ทำอะไรก็ตาม ถ้าเราไม่ถนัด ไม่ควรทำ เพราะจะทำได้ไม่ดี”

การที่ได้เห็นคุณพ่อทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจในการช่วยเหลือผู้อื่น เธอจึงยึดมั่นและตั้งปณิธานว่า เมื่อโตไปเธอจะต้องเป็นอย่างคุณพ่อของเธอให้ได้

“ตอนเรียนมหาวิทยาลัยชอบทำกิจกรรมหลากหลาย ทั้งกิจกรรมเชียร์ หรืออาสาสมัคร ทำให้คุ้นเคย อีกอย่างก็ชอบเป็นส่วนตัว พอทำงานและมีเวลาว่าง ก็จะขับรถเก๋งไปกับเพื่อนๆ ลงพื้นที่ต่างจังหวัด ไปบริจาคสิ่งของให้กับชาวบ้านอยู่เรื่อยๆ ทำให้พบข้อจำกัดโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลที่เราอยากเข้าไปให้ถึง แต่รถเข้า ไปไม่ได้ เลยตั้งเข็มไว้ว่า ต้องเรียนขับรถ ออฟโร้ด เรียนการตั้งแคมป์ ทำอาหาร และตาทำหมดทุกอย่าง ลุยถึงขนาดที่เพื่อนๆ ที่ไปออกค่ายด้วยกัน ถึงกับซูฮกในความตั้งใจที่อยากจะช่วยเหลือผู้อื่นอย่างจริงจัง”


หลังจบการศึกษา สุทธิรัตน์กลับมาช่วยธุรกิจของครอบครัว พร้อมพกความมั่นใจมาเต็มเปี่ยม โดยเริ่มจากการรับหน้าที่เป็นเลขาฯ และเข้าไปเรียนรู้งานทุกอย่างที่คุณพ่ออยากให้ทำ จากที่เดินตามรอยเท้าคุณพ่อมาระยะหนึ่ง เธอบอกว่า “คุณพ่อเหมือนหนังสือเล่มใหญ่ที่เรียนรู้ไม่มีวันจบ”

“ที่ผ่านมา ตาเห็นคุณพ่อทำงานเพื่อสังคมมาโดยตลอด แต่ในช่วงหลังเริ่มรู้สึกว่า พ่อมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้น ทำให้ตาเห็นว่า คุณพ่อเริ่มจะไม่มีเวลาทำงานเพื่อสังคม เพราะกิจกรรมมันหนักจริงๆ สำหรับตัวคุณพ่อ ตาก็เลยแยกเอางานกิจกรรมเพื่อสังคมมาทำเอง และบรรจุเป็นวิสัยทัศน์ของบริษัท ที่พนักงาน ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการคืนกำไรให้กับสังคม”
เธอย้อนอดีตให้ฟัง

• “สานก๋วยด้วยใจโดม” สร้างรร.ให้เด็ก
โครงการแรกที่ประทับใจไม่รู้ลืม


สิ่งที่จุดประกายให้สุทธิรัตน์หันมาจริงจังกับงานเพื่อสังคมมากขึ้นนั้น เธอเล่าว่า ในทุกๆ วันจะมีจดหมายเป็นพันๆ ฉบับที่เขียนเข้ามายังบริษัทฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ มีทั้งนักเรียนนักศึกษาที่ขอทุนไปทำกิจกรรมเพื่อสังคม หน่วยงานราชการ ไปจนถึงประชาชนทั่วไปที่เดือดร้อน

แล้วเธอก็ไปสะดุดกับจดหมายฉบับหนึ่ง ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนมาขอทุนเพื่อทำโครงการ “สานก๋วยด้วยใจโดม” เพื่อไปช่วยสร้างอาคารเรียนให้กับเด็กนักเรียนที่จังหวัดน่าน อันเป็นท้องถิ่นทุรกันดาร

สุทธิรัตน์ก็เคยเป็นอดีตเด็กกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้เธอรู้ซึ้ง ว่าเด็กกิจกรรมนั้นมีเพียงแรงกายและพลัง แห่งความตั้งใจ แต่ทุกอย่างจะไปไม่ถึงฝั่ง ถ้ายังขาด “เงินทุน”

“สมัยเป็นนักศึกษา ตอนที่ทำกิจกรรมนั้น เราไม่มีทุนเลย ทุกคนรวมทั้งตาด้วย ต้องไปเปิดหมวกเพื่อเดินขอเงินบริจาคจากคนที่เดินผ่านไปมา เพื่อนำไปใช้ในงานกิจกรรม พอมาอ่านจดหมายฉบับนี้ ตาจึงเข้าใจถึงความตั้งใจและความเหนื่อย ยากของเด็กนักศึกษาเหล่านี้”

ไม่เพียงแต่จะให้เงินสนับสนุนโครงการ “สานก๋วยด้วยใจโดม” แต่เธอกลับทำมากกว่านั้น คือเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างอาคารหลังนี้ตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จ ซึ่งใช้เวลา 15 วันเต็ม ทั้งอดหลับอดนอน ตากแดดตากฝน ทว่าเธอก็ไม่แสดงความเหนื่อยหรือท้อใจให้ใครเห็นเลยแม้แต่นิดเดียว

และเมื่ออาคารเรียนหลังใหม่เสร็จสมบูรณ์เป็นรูปเป็นร่าง และพร้อมที่จะส่งมอบความรู้สึกแรกของหญิงสาว ในวันนั้นเธอบอกว่า หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง เมื่อได้เห็นภาพรอยยิ้มและเสียงหัวเราะบนใบหน้าของเด็กๆ และผู้ปกครองทุกคน ที่มารอรับมอบห้องเรียนใหม่อย่างใจจด ใจจ่อ และรอยยิ้มอันยินดีปรีดาของน้องๆ นักศึกษาที่ได้สละเวลามาสร้างโรงเรียนในครั้งนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงระยะเวลาแค่ไม่กี่วัน แต่ก็ทำให้น้องๆ กลุ่มนั้น รู้สึกว่า ตัวเองมีประโยชน์ต่อสังคม ภาพเหล่านั้นถึงแม้ว่าจะผ่านมานานเพียงใด ยังคงประทับอยู่ในความทรงจำไม่รู้ลืม

• จัดตั้ง “โครงการกระดานดำ”
“โครงการเรารักษ์น้ำ” ช่วยเหลือชนบท


หลังโครงการ “สานก๋วยด้วยใจโดม” สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เธอได้หันมาจริงจังกับกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างเต็มตัว โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาเป็นหลัก จึงริเริ่มตั้ง “โครงการกระดานดำ” เพื่อโรงเรียนยากไร้ในชนบท (จนขณะนี้ เข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว) เป็นโครงการนำร่อง จากนั้นจึงต่อด้วยโครงการ “เรารักษ์น้ำ” ซึ่งจับมือกับมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่บนดอยสูงทางจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย จำนวน 80 อ่าง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี 2549

สุทธิรัตน์เล่าต่อว่า โครงการนี้สืบเนื่อง มาจากการที่เธอมีโอกาสไปสัมผัสกับชาวบ้านในท้องถิ่นห่างไกล เมื่อครั้งที่ไปร่วมกับค่ายกระดานดำ ชาวบ้านส่วนใหญ่ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคและบริโภค เธอจึงอยากจะทำโครงการที่เกี่ยวกับน้ำ

โครงการนี้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ตั้งแต่ปี 2547 และสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 80 แห่งใน 13 ชุมชน จนเสร็จลุล่วงในปี 2549 ส่งผลให้ชุมชนมีน้ำใช้ในการดื่มกินตลอดหน้าแล้ง โดยสุทธิรัตน์จะใช้เวลาส่วนหนึ่ง ในการขับรถด้วยตัวเองลุยเข้าไปถึงชุมชนในถิ่นทุรกันดาร เพื่อสำรวจความคืบหน้าของโครงการอยู่เสมอ

หลังจากที่โครงการ “เรารักษ์น้ำ” โครงการ 1 ประสบความสำเร็จไปแล้วในปี 2550 หญิงแกร่งคนนี้ก็ยังไม่ยอมหยุดนิ่ง เธอเริ่มขยาย “เรารักษ์น้ำ” โครงการ 2 เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน ให้กับชาวบ้านใน 3 จังหวัดภาคอีสานคือ ขอนแก่น สกลนคร และอุดรธานี ด้วยการ สร้างสระน้ำตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ให้มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน และหนึ่งในนั้นที่ถือว่า เป็นประตูสำคัญของเกษตรทฤษฎีใหม่ ก็คือ “น้ำ”

หญิงสาวเล่าถึงโครงการนี้ว่า เกิดมาจากการไปนั่งศึกษาแนวคิดเกษตรทฤษฎี ใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และเห็นว่า “น้ำ” เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้ จึงสานต่อเรารักษ์น้ำโครงการ 2 ที่ บ้านละหานนา จ.ขอนแก่น เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้ในการเกษตรกรรม อย่างเพียงพอและสามารถพึ่งพาตัวเองได้

สำหรับวิธีการขุดสระน้ำตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่นั้น ต้องเป็นขั้นบันได เธอได้ลงมือศึกษาเองอย่างละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการขุดสระ และว่าจ้างให้ผู้รับเหมาขุดตามแบบที่ได้มีการกำหนดไว้ในทฤษฏีทุกประการ รวมทั้งใช้เวลาในการทำความเข้าใจให้กับชาวบ้านอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่

จากการเข้าไปสัมผัสและเรียนรู้ถึงแนวทางของเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เธอบอกว่า ซาบซึ้งถึง พระอัจฉริยภาพของพระองค์ด้านการพัฒนาทรัพยากรให้ได้ประโยชน์สูงสุด แต่โครงการที่เธอทำอยู่นี้ถือว่าเป็นฟันเฟืองเพียงเล็กๆ เท่านั้น เธออยากให้คนทั่วไปได้เข้าใจถึงแก่นแท้ของเกษตรทฤษฎีใหม่โดยทั่วกัน

• “เรดบูล สปิริต รวมพลังสดใส ใจอาสา”
กิจกรรมสร้างจิตอาสา


หลังจากที่สุทธิรัตน์ตั้งทีมทำกิจกรรมเพื่อสังคมมาได้ระยะหนึ่ง เธอเล็งเห็นว่ายังมีคนอีกจำนวนมากอยากที่จะเป็นส่วนหนึ่งกับการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เธอทำอยู่ ดังนั้น เธอจึงจัดตั้งกิจกรรมที่ชื่อว่า “เรดบูล สปิริต รวมพลังสดใส ใจอาสา” ที่เธอตั้งใจทำให้สังคมนี้ กลับมามีความหวังอีกครั้ง

“เรามองแล้วว่า สิ่งที่ยั่งยืนและแข็งแรง ที่สุดคือการสร้างจิตอาสา เพราะมันคือการสร้างความหวัง พอทุกคนมีความหวังจะไม่เกิดการท้อถอย มันจะหวัง ..หวัง.. และหวังไปเรื่อยๆ จะหวังไปข้างหน้า แล้วจะมีพลังก้าวต่อไป วันหนึ่งมันต้องเสร็จ วันหนึ่งมันต้องได้ วันหนึ่งฉันต้องโต

โดยโครงการนี้เป็นการให้ผู้ที่มีจิตอาสาสมัครมาเป็นอาสาสมัคร แล้วลงพื้นที่ ไปช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน อย่างเช่นในช่วงน้ำท่วม เราก็แจกของผู้ประสบภัย หรือจะเป็นการไปปลูกป่า หรือปลูกปะการัง”


ทุกวันนี้นอกจากการเข้าไปทำงานในหน้าที่ผู้บริหารแล้ว บ่อยครั้งเมื่อถึงวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ผู้บริหารหญิงคนนี้ไม่ยอมหยุดพักผ่อน แต่เธอกลับเลือกที่จะออกไปเยี่ยมโครงการต่างๆ ที่เคยให้เงินสนับสนุนไว้ หรือลงไปพื้นที่เพื่อเตรียมหาข้อมูลให้กับโครงการใหม่ๆ ซึ่งการเดินทางของเธอก็ไม่ได้นั่งเครื่องบิน ทั้งที่สามารถเลือกความสะดวกสบายของการเดินทางได้ แต่ผู้หญิงคนนี้เลือกที่จะขับรถแลนด์โรเวอร์ หรือรถออฟโร้ดไปเอง เพราะจะได้มีโอกาสแวะเวียน ซอกแซกเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ ที่น่าสนใจได้ด้วย ชนิดที่ว่าค่ำไหนนอนนั่น ทั้งกางเต๊นท์กลางดิน หรือนอนบ้านชาวบ้าน

เมื่อถามว่า ตอนนี้สุทธิรัตน์ “เหนื่อยไหมกับสิ่งที่ตนเองทำอยู่” เธอตอบด้วยใบหน้าเบิกบาน พร้อมรอยยิ้มว่า

“ไม่ได้รู้สึกเหนื่อยเลย ตารู้สึกว่าสิ่งที่ทำเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องงาน แต่เป็นสิ่งที่เราอยากทำ เพราะทุกครั้งตาใช้วิธีว่า ถ้าเหนื่อย มันก็เหนื่อยกาย แต่ว่าไม่ได้เหนื่อยใจ จะมองไปหาคนที่แย่กว่าเรา ทำให้เรารู้สึกว่า เรายังไปได้อีกเยอะกว่าคนที่ทำอะไรไม่ได้เลย เรายังมีศักยภาพ เราก็ทำต่อไป ดังนั้น ตาเลยไม่รู้สึกเหนื่อยหรือท้อ เพราะไม่เคยรู้สึกว่าเป็นงาน”

นี่เป็นอีกหนึ่งความคิดดีๆ ของภาคธุรกิจที่เติบโตและร่ำรวยมาจากประชาชน ระดับรากหญ้า แต่ก็ยังไม่ลืมที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กลับคืนสู่สังคม

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 134 กุมภาพันธ์ 2555 โดย นับดาว)





กำลังโหลดความคิดเห็น