xs
xsm
sm
md
lg

ชุดตรวจไวรัสกล้วยไม้เจอเร็วใน 3 นาที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสุรภี สาธิตการใช้ชุดตรวจ
กล้วยไม้ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญโดยมีมูลค่าการส่งออกสูงถึงปีละ 6,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัญหาจากไวรัสกลับเป็นตัวฉุดมูลค่าการส่งออกนี้ เพราะทำให้กล้วยไม้ขาดความสวยงามและยังถูกใช้เป็นมาตรการในการกีดกันทางการค้าได้ หากสินค้าถูกตีกลับย่อมทำให้เกษตรกรเสียค่าใช้จ่ายไปเปล่าๆ

น.ส.สุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ ปลัดกระทรวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กล้วยไม้มีมูลค่าการส่งออกสูงถึงปีละ 6,000 ล้านบาท โดยมีตลาดสำคัญอยู่ที่ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป แต่ด้วยเศรษฐกิจที่ไม่ดีเช่นนี้อาจมีการใช้เรื่องโรคไวรัสในกล้วยไม้มาเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า ทำให้การตรวจหาเชื้อไวรัสเพื่อตัดวงจรก่อนส่งออกจึงเป็นสิ่งจำเป็น

ทางด้าน ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) กล่าวว่า เดิมการส่งออกกล้วยไม้อยู่ในรูปการส่งดอก แต่ปัจจุบันเริ่มมีการส่งออกทั้งต้นมากขึ้น ซึ่งหากส่งออกเฉพาะดอกนั้นการติดเชื้อไวรัสของกล้วยไม้จะไม่มีปัญหามากนัก แต่จะเป็นปัญหาในกรณีส่งออกทั้งต้น และการเคลื่อนย้ายของกล้วยไม้ก็มีทั้งนำเข้าและส่งออก ซึ่งไทยก็นำเข้ากล้วยไม้จากหลายประเทศ ทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อไวรัสได้

ดังนั้น การตรวจหาเชื้อไวรัสจึงมีสำคัญเพราะมีประโยชน์ทั้งในนำเข้าและส่งออก ซึ่ง ดร.พีรเดชกล่าวว่า หากตรวจพบการติดเชื้อไวรัสก็สามารถสั่งทำลายกล้วยไม้ที่จะนำเข้าประเทศเพื่อป้องกันการระบาดได้ทัน รวมทั้งสั่งทำลายทิ้งก่อนส่งออกเพื่อลดการสูญเสียค่าใช้จ่ายได้

หากแต่เดิมการตรวจเชื้อไวรัสกล้วยไม้นั้นต้องส่งตัวอย่างไปตรวจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเกษตรกรและผู้เลี้ยงกล้วยไม้ไม่สามารถทำเองได้ และนอกจากแพงแล้วยังใช้เวลานาน 4-6 ชั่วโมง ซึ่งไม่สะดวกต่อเกษตรกร นางสุรภี กีรติยะอังกูร นักวิชาการจากกรมวิชาการเกษตรผู้ศึกษาไวรัสในกล้วยไม้มาตั้งแต่ปี 2537 จึงได้พัฒนาชุดตรวจไวรัสที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้อย่างสะดวก

นางสุรภีบอกว่าเธอใช้เวลาปีครึ่งในการลองผิดลองถูกเพื่อพัฒนาชุดตรวจกล้วยไม้อย่างง่าย ซึ่งเป็นเทคนิคที่เริ่มต้นมาจากยุโรปและสหรัฐฯ แต่เป็นเทคนิคที่เป็นความลับทางการค้า ไม่มีการจดสิทธิบัตร เธอจึงอาศัยความรู้เกี่ยวกับไวรัสพืชที่ตัวเองมีค้นหาวิธีตรวจที่สะดวกรวดเร็ว โดยความสำเร็จส่วนหนึ่งเธอบอกว่าได้รับคำแนะนำจากบริษัทเอกชนทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพให้ทราบถึงจุดสำคัญที่จะพัฒนาชุดตรวจได้

ชุดตรวจที่นางสุรภีในหัวหน้าโครงการพัฒนาขึ้นมานี้สามารถตรวจหาเชื้อไวรัสกล้วยไม้ 3 ชนิด คือ ไวรัสโออาร์เอสวี (Odontoglossum ring spot virus:ORSV) ไวรัสซีวายเอ็มวี (Cymbidium mosaic virus: CyMV) และโพตีไวรัส (Potyvirus) ซึ่งเป็นไวรัสที่หลายประเทศกักกันไม่ให้ติดเข้าไปกับกล้วยไม้ โดยในวงการกล้วยไม้ทั่วโลกมีรายงานการพบโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสบนกล้วยไม้พันธุ์ต่างๆ 25 ชนิด

ข้อมูลจาก สวก.ระบุว่าไวรัสซีวายเอ็มวีนั้นมีผลทำให้ต้นกล้วยไม้มีต้นที่ทรุดโทรม กระทบต่อปริมาณและคุณภาพของดอก การออกดอกน้อยลง และทำให้เกิดอาการใบและดอกด่าง ไวรัสโออาร์เอสวีทำให้ต้นกล้วยไม้มีใบเรียวเล็ก เหลือแต่เส้นกลางใบ และมีอาการใบด่าง มีผลรุนแรงต่อปริมาณผลผลิตของดอกและคุณภาพช่อดอก อีกทั้งเมื่อทำลายร่วมไวรัสซีวายเอ็มวีจะทำให้กล้วยไม้มีอาการรุนแรงขึ้น ส่วนโพตีไวรัส จะส่งให้กล้วยไม้ฟาแลนอฟซิสแสดงอาการใบเหลืองเป็นปื้นกว้าง เนื้อเยื่อที่ตายจะเปลี่ยนเป็นสีดำ

ซีวายเอ็มวีกับโออาร์เอสวี ไม่ค่อยรุนแรงต่อกล้วยไม้จำพวกหวาย แต่เมื่อศึกษาลึกลงจะพบว่ามีผลต่อช่อดอกและการออกดอก ซึ่งเมื่อตรวจต้นที่ออกดอกทุกช่อจะพบว่าไม่มีเชื้อไวรัส แต่โออาร์เอสวีจะส่งผลรุนแรงต่อสาวน้อยเต้นระบำ (กล้วยไม้) ความรุนแรงทำให้ใบเป็นเส้น แต่ไวรัส 2 ชนิดนี้ร้ายแรงต่อฟาแลนอฟซิส ทำให้ต้นเหลืองเป็นจ้ำ ราคาตก ขายต้นไม่ได้” นางสุรภีอธิบายถึงความรุนแรงของไวรัส

พร้อมกันนี้ นางสุรภียังอธิบายกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ชุดตรวจที่เธอและทีมวิจัยพัฒนาขึ้นนี้สามารถตรวจหาไวรัสแม้มีปริมาณเพียงเล็กน้อยได้ เพราะจำนวนไวรัสเพียงเล็กน้อยจะกระจายตัวในชุดตรวจได้ดีกว่าปริมาณไวรัสมากๆ ซึ่งอาจจะให้ผลที่คลาดเคลื่อนได้ และบอกด้วยว่าไวรัสพืชสามารถแพร่กระจายได้จากการที่น้ำคั้นจากพืชที่เป็นโรคไปสัมผัสแผลของพืชที่ไม่เป็นโรค เช่น ใช้กรรไกรตัดกิ่งไปสัมผัสน้ำคั้นที่ไวรัสไปสัมผัสกับแผลของพืชที่ไม่เป็นโรค เป็นต้น

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถใช้น้ำคั้นจากกล้วยไม้มาหยดทดสอบในชุดตรวจและได้ผลเร็วภายใน 3 นาที ซึ่งสามารถนำราก ใบ หรือดอกมาทดสอบก็ได้ โดยชุดทดสอบสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสทั้ง 3 ชนิดได้พร้อมกันในชุดเดียว และอนาคตจะพัฒนาให้สามารถตรวจได้พร้อมกัน 4-5 ชนิด และหลังจากพัฒนาชุดตรวจสำเร็จแล้วทางกรมวิชาการเกษตรได้ผลิตขึ้นมาจำหน่ายแก่เกษตรกร แต่เพื่อขยายผลให้ชุดตรวจไปถึงเกษตรกรได้มากขึ้นจึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ บริษัท ซีแพค อินเตอร์ จำกัด รับสิทธิในการผลิตชุดตรวจสอบไวรัสออกจำหน่าย

“คิดว่าช่วยอุตสาหกรรมกล้วยไม้ได้มาก เพราะถ้าความรู้จากแล็บออกมาแล้วไม่มีบริษัทไปรับช่วงนักวิจัย ก็ไม่มีทางจะถ่ายทอดผลงานวิจัยออกไปสู่เกษตรกรได้” ดร.พีรเดช กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ และบอกว่าได้ให้สิทธิแก่บริษัทซีแพคนำงานวิจัยไปผลิตชุดตรวจไวรัสกล้วยไม้ได้เป็นเวลา 10 ปี

ทางด้าน น.สพ.เจริญ ปาจริยานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีแพค อินเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ปกติทางบริษัทจะผลิตเฉพาะชุดตรวจสำหรับสัตว์ แต่เห็นว่ามีความต้องการในการตรวจไวรัสกล้วยและมองว่าเป็นความท้าทายจึงรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในครั้งนี้ และจะจำหน่ายชุดตรวจตามเจตนารมณ์ของนักวิจัยผู้พัฒนาชุดตรวจที่ต้องการให้เกษตรกรเข้าถึงได้ โดยจำหน่ายชุดตรวจละ 100 บาท และบรรจุในกล่องละ 10 ชุด

เอกสารจาก สวก.ยังบอกถึงปัญหาของไวรัสกล้วยไม้ว่า ทำให้เกษตรกรเข้าใจผิดว่าเกิดจากแมลง เชื้อราหรือแบคทีเรีย จึงใช้สารเคมีกำจัด ซึ่งเป็นสิ่งที่สิ้นเปลือง เพราะพืชที่เกิดโรคจากไวรัสไม่สามารถรักษาด้วยสารเคมีใดๆ ได้ ดังนั้น วิธีในการป้องกันการระบาดตามที่ผู้อำนวยการ สวก.แนะนำคือ ทำลายทิ้ง
นางสุรภี ผู้พัฒนาชุดตรวจไวรัสกล้วยไม้ และ น.สพ.เจริญ ผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี
กำลังโหลดความคิดเห็น