นักบินอวกาศเผยภาพ “เมฆเรืองแสง” ตัดภาพฉากอวกาศสีดำที่เห็นในบรรยากาศชั้นสูงเหนือที่ราบสูงทิเบต โดยบันทึกจากบนสถานีอวกาศ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังถกเถียงกันอยู่ว่าเมฆชนิดนี้ก่อตัวขึ้นได้อย่างไร
ภาพเมฆเรืองแสง (noctilucent cloud) ที่ไม่เห็นกันได้ทั่วไปนี้คือ เมฆเรืองแสงโพลาร์เมโซสเฟียร์ (polar mesospheric cloud) ซึ่งเป็นเมฆเรืองแสงบริเวณขั้วโลกในชั้นบรรยากาศเมโซสเฟียร์ และปกคลุมเหนือที่ราบสูงทิเบตซึ่งถูกบันทึกโดยลูกเรือบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2012 และเพิ่งเผยออกมาไม่กี่วันนี้
ภาพนี้แสดงให้เห็นการเรืองแสงในชั้นล่างของบรรยากาศชั้นเมโซสเฟียร์ด้วย ส่วนชั้นสตราโทสเฟียร์ (stratosphere) ซึ่งอยู่ด้านล่างลงไปนั้นแสดงสีส้มจางๆ ออกโทนแดงบริเวณใกล้ขอบฟ้า
สเปซด็อทคอมรายงานว่าเมฆเรืองแสงในชั้นเมโซสเฟียร์นี้มักจะเห็นได้บ่อยในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกเหนือและช่วงต้นฤดูร้อนของซีกโลกใต้ โดยองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) เผยว่ามนุษย์อวกาศจะเห็นเมฆเหล่านี้ได้บ่อยๆ เหนือแคนาดา ตอนเหนือของยุโรปและตอนเหนือของเอเชีย แต่พบเมฆชิดนี้ในซีกโลกใต้ไม่ค่อยบ่อยนัก
โดยปกติเมฆเรืองแสงจะจางจนไม่สามารถมองเห็นได้ และจะเห็นได้ก็ต่อเมื่อเมฆดังกล่าวเรืองแสงจากดวงอาทิตย์ที่อยู่ต่ำกว่าขอบฟ้า ขณะที่ชั้นบรรยากาศที่อยู่ต่ำกว่าอยู่ใต้เงาโลก ซึ่งเมฆประหลาดนี้จะก่อตัวระหว่างความสูง 76-85 กิโลเมตรจากพื้นผิวโลก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีไอน้ำเพียงพอ แต่เมฆก็มีสิ่งให้โมเลกุลน้ำได้ยึดเกาะ อย่างเช่น ฝุ่นละออง เป็นต้น เมื่อไอน้ำจับตัวกับฝุ่นเหล่านี้หรืออนุภาค อื่นๆ ก็ก่อตัวเป็นหยดน้ำหรือผลึกน้ำแข็ง
หากแต่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเมฆเรืองแสงนั้นมีฝุ่นละอองมาให้เกาะได้อย่างไร และจริงๆ แล้วเมฆชนิดนี้ก่อตัวขึ้นอย่างไร ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่าฝุ่นที่ก่อให้เกิดเมฆชนิดนี้มาจากดาวตก ภาวะโลกหรือแม้แต่ไอเสียจากจรวด แต่มันเป็นเรื่องค่อนข้างยากที่กระแสลมจะพัดฝุ่นขึ้นไปถึงชั้นเมโซสเฟียร์ที่เมฆชนิดนี้ก่อตัว
เมื่อเป็นเช่นนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงสันนิษฐานว่าเมฆเรืองแสงน่าจะได้ฝุ่นจากอวกาศด้านนอก ซึ่งอนุภาคเล็กๆ จากอุกกาบาตยังคงค้างอยู่ด้านบนของชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้งานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ยังเผยว่าการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของก๊าซในชั้นบรรยากาศหรืออุณหภูมินั้นเป็นสาเหตุให้เมฆเหล่านี้สว่างขึ้น