“ปลอดประสพ” อ้างไทยต้องรับข้อมูลก้อนเมฆหวังพยากรณ์อากาศแม่นยำ ชี้ นาซายกเลิกเป็นความหายนะและความถดถอยทางวิชาการของไทย จึงต้องผุดโปรเจกต์วิจัยเอง เพื่อพยากรณ์ให้แม่นยำ ตามแผนแก้น้ำท่วม คาด ใช้เวลา 10 เดือน งบ 200 ล้าน โว จะสร้างนักวิทยาศาสตร์หน้าใหม่เพียบ
วานนี้ (3 ก.ค.) จากกรณีที่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้จัดทำทีโออาร์สำหรับการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อมานำเสนอแผนแม่แบบ หรือคอนเซปต์ชวลแพลนวางแผนป้องกันปัญหาน้ำ ทั้งระบบ ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสารสำคัญที่ นายปลอดประสพ เสนอต่อ ครม.ในครั้งนี้ ได้อ้างหลักการและเหตุผลไว้โดยสังเขป ดังนี้ คำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศไทยจะต้องรับข้อมูลพื้นฐานทางด้านเมฆและอนุภาคขนาดเล็กในบรรยากาศชั้นสูง เพื่อการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ ซึ่งจะช่วยบริหารจัดการอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ได้ประเมินและทบทวนแล้ว พบว่า การยกเลิกความร่วมมือการศึกษาวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศกับองค์การนาซาในครั้งนี้ เป็นความหายนะและความถดถอยทางวิชาการครั้งสำคัญของประเทศไทย
นอกจากนี้ นายปลอดประสพ ยังได้แนบรายงาน “การหารือระหว่างนักวิทยาศาสตร์ด้านบรรยากาศเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยด้านเคมีและฟิสิกส์ของชั้นบรรยากาศไทย” ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งประกอบไปด้วยนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานของรัฐจำนวน 10 คน ทั้งนี้ ในรายงานได้ระบุถึงข้อเสนอแนะถึงแนวทางการศึกษาวิจัยด้านเคมีและฟิสิกส์ของบรรดานักวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งรูปแบบการศึกษา โดยมีการแบ่งการศึกษาเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงปลายฤดูฝน ก.ย.-ต.ค.จะเป็นการศึกษากระบวนการเกี่ยวกับเมฆ รวมทั้งฝุ่นละอองที่มาจากการเผาไหม้ในประเทศอินโดนีเซีย พื้นที่ศึกษา คือ ในทะเลทั้งสองฝั่งของภาคใต้ฝั่งอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย และช่วงฤดูแล้ง ก.พ.-มี.ค.จะเป็นการศึกษาผลจากการเผาป่าและพื้นที่เกษตรในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งกระบวนการในชั้นบรรยากาศที่มีผลต่อการกระจายและการสะสมของละอองหมอกควัน พื้นที่ศึกษาคือพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย
สำหรับการศึกษาจะประกอบด้วย การเก็บตัวอย่างทั้งการเก็บข้อมูลทรงตรงและการตรวจวัดระยะไกล ประกอบด้วย การเก็บข้อมูลภาคพื้นที่ดิน จะใช้สถานีตรวจอากาศของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ส่วนภาคทางอากาศจะใช้เครื่องบิน Super King Air ของสำนักฝนหลวง สำรวจอากาศกับหน่วยงานพยากรณ์ของรัฐด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ขณะที่ภาคทางทะเลจะใช้เรือสำรวจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านภาคดาวเทียมจะใช้ดาวเทียมไทยโซต (THEOS) โดยทั้งหมดจะนำมาวิเคราะห์ข้อมูลด้วยระบบซอฟต์แวร์ที่มีอยู่ จากนั้นจะทำแบบจำลองโดยผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วน รวมถึงการมีส่วนร่วม และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจของโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและเอกชน ขณะเดียวกันจะพัฒนานักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่อีกจำนวนมาก โดยรายละเอียดของงบประมาณในการใช้สามารถมีความชัดเจนในวันที่ 14-15 ก.ค.นี้ ขณะที่การดำเนินการจะเป็นการดำเนินงานในระยะสั้นระยะเวลา 10 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.55 - เม.ย.56 กรอบวงเงิน 200 ล้านบาท