ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- องค์การนาซาประกาศยกเลิกโครงการศึกษาองค์ประกอบเมฆที่สัมพันธ์กับภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Composition, Cloud, Climate Coupling Regional Study) หรือ SEAC4RS เนื่องจากรัฐบาลไทยอนุมัติให้ใช้สนามบินอู่ตะเภาในการสำรวจชั้นบรรยากาศตามโครงการนี้ไม่ทันเส้นตายวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา คล้อยหลังไม่กี่วัน นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็เสนอโครงการที่จะให้นักวิทยาศาสตร์ไทยทำการวิจัยเองขึ้นมาเสียบแทนทันที
ทั้งที่ก่อนหน้านั้นรัฐบาลไทยหรือนักวิทยาศาสตร์ของไทยไม่เคยมีแนวคิดจะศึกษาโครงการนี้มาก่อน แต่นายประสพได้เรียกหารือนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อย่างรีบร้อนในวันที่ 2 ก.ค.แล้วทำโครงการเสนอต่อที่ประชุม ครม.ในวันรุ่งขึ้น(3ก.ค.)ทันที
โครงการดังกล่าว นายปลอดประสพเสนอเป็นวาระจร เพื่อขออนุมัติงบประมาณ 200 ล้านบาท สำรวจทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับชั้นเมฆ การเคลื่อนไหวของเมฆและละอองอนุภาคในอากาศ ในโครงการการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพอากาศ หลังองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (นาซา) ยกเลิกการขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศช่วงมรสุม โดยมีเป้าหมายจะดึงนาซากลับมาร่วมมือกับรัฐบาลไทยในโครงการดังกล่าวอีกครั้ง
เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนที่นายปลอดประสพ จะเสนอโครงการดังกล่าวเข้า ครม.นั้น นายปลอดประสพได้ไปออกรายการทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการสำรวจสภาพอากาสขององค์การนาซาที่ขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานปฏิบัติการ แต่กลับใช้โอกาสนี้โจมตีพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายที่ต่อต้านการให้สหรัฐฯ ใช้สนามบินอู่ตะเภาอย่างดุเดือด และโยนความผิดว่าเหตุที่โครงการสำรวจสภาพอากาศต้องชะลอออกไปเป็นความผิดของพรรคประชาธิปัตย์ และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง
ทำให้นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแถลงข่าวตอบโต้ และเตรียมที่จะฟ้องร้องเพื่อเอาผิดต่อนายปลอดประสพในประเด็นที่กล่าวให้ร้ายพรรคประชาธิปัตย์ และทำให้พรรคเสียหาย พร้อมย้ำว่า กองบัญชาการกองทัพไทยได้ส่งหนังสือแสดงข้อห่วงใยในการใช้สนามบินอู่ตะเภาของสหรัฐฯ ไปถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ทำให้รัฐบาลยังไม่กล้าอนุมัติให้นาซาเข้ามาใช้ แล้วก็มาโยนความผิดให้พรรคประชาธิปัตย์
สำหรับสาระสำคัญของโครงการศึกษาเบื้องต้นการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพอากาศของประเทศไทย ที่นายปลอดประสพเสนอต่อที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้อ้างหลักการและเหตุผลถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศไทยจะต้องรับข้อมูลพื้นฐานทางด้านเมฆและอนุภาคขนาดเล็กในบรรยากาศชั้นสูง เพื่อการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ ซึ่งจะช่วยบริหารจัดการอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายปลอดประสพยังอ้างว่า ได้ประเมินและทบทวนแล้ว พบว่า การยกเลิกความร่วมมือการศึกษาวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศกับองค์การนาซา เป็นความหายนะและความถดถอยทางวิชาการครั้งสำคัญของประเทศไทย
นายปลอดประสพ ยังได้แนบรายงาน “การหารือระหว่างนักวิทยาศาสตร์ด้านบรรยากาศเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยด้านเคมีและฟิสิกส์ของชั้นบรรยากาศไทย” ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ซึ่งประกอบไปด้วยนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานของรัฐจำนวน 10 คน
ในรายงานได้ระบุถึงข้อเสนอแนะถึงแนวทางการศึกษาวิจัยด้านเคมีและฟิสิกส์ของบรรดานักวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งรูปแบบการศึกษา โดยมีการแบ่งการศึกษาเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงปลายฤดูฝน ก.ย.-ต.ค.จะเป็นการศึกษากระบวนการเกี่ยวกับเมฆ รวมทั้งฝุ่นละอองที่มาจากการเผาไหม้ในประเทศอินโดนีเซีย พื้นที่ศึกษา คือ ในทะเลทั้งสองฝั่งของภาคใต้ฝั่งอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย และช่วงฤดูแล้ง ก.พ.-มี.ค.จะเป็นการศึกษาผลจากการเผาป่าและพื้นที่เกษตรในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งกระบวนการในชั้นบรรยากาศที่มีผลต่อการกระจายและการสะสมของละอองหมอกควัน พื้นที่ศึกษาคือพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย
สำหรับการศึกษาจะประกอบด้วย การเก็บตัวอย่างทั้งการเก็บข้อมูลทรงตรงและการตรวจวัดระยะไกล ประกอบด้วย การเก็บข้อมูลภาคพื้นที่ดิน จะใช้สถานีตรวจอากาศของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ส่วนภาคทางอากาศจะใช้เครื่องบิน Super King Air ของสำนักฝนหลวง สำรวจอากาศกับหน่วยงานพยากรณ์ของรัฐด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ขณะที่ภาคทางทะเลจะใช้เรือสำรวจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านภาคดาวเทียมจะใช้ดาวเทียมไทยโชต (THEOS) โดยทั้งหมดจะนำมาวิเคราะห์ข้อมูลด้วยระบบซอฟต์แวร์ที่มีอยู่ จากนั้นจะทำแบบจำลองโดยผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วน รวมถึงการมีส่วนร่วม และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจของโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและเอกชน ขณะเดียวกันจะพัฒนานักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่อีกจำนวนมาก
รายละเอียดของงบประมาณในการใช้สามารถมีความชัดเจนในวันที่ 14-15 ก.ค.นี้ ขณะที่การดำเนินการจะเป็นการดำเนินงานในระยะสั้นระยะเวลา 10 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.2555 - เม.ย.2556 กรอบวงเงิน 200 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการโครงการดังกล่าว โดยยังไม่ได้อนุมัติงบประมาณออกมา
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้พิจารณาการจัดสรรงบประมาณในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวน 8,000 ล้านบาท มีกรรมาธิการบางส่วนติดใจในประเด็นโครงการสำรวจก้อนเมฆ ที่แม้นาซาจะถอนตัวออกไปแล้ว แต่ทางรัฐบาลยังมีท่าทีจะดำเนินการต่อเอง โดย น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ กรรมาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้ซักถามถึงความจำเป็นที่ต้องซื้ออุปกรณ์ตรวจสอบก้อนเมฆ จากกรณีที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติเงิน 200 ล้านบาท จากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ทำไมถึงต้องซื้อในเมื่อสำนักฝนหลวง ของกรมอุตุนิยมวิทยา ก็มีอุปกรณ์เครื่องมือชนิดนี้
ขณะที่นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงว่า ครม.ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ เป็นเพียงการวางโครงการเบื้องต้นเท่านั้น หากนาซาไม่มาทำโครงการนี้แล้วทางไทยก็ต้องทำเอง เรื่องการขอเบิกงบประมาณจึงเป็นความคิดของนายปลอดประสพคนเดียว
นอกจากนี้ ยังมีข้อน่าสงสัยว่า เรื่องการวิจัยชั้นเมฆและผลกระทบจากหมอกควันนั้นเกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย แต่เหตุใดนายปลอดประสพไม่หารือกับรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ ก่อน
รวมทั้งเงิน 200 ล้านบาทนั้น ถือว่าเป็นจำนวนมากทีเดียวสำหรับประเทศไทยที่มีงบสำหรับการทำวิจัยเพียงปีละ 4,000 ล้านบาท โดยที่โครงการวิจัยในด้านอื่นๆ มีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่า ขณะที่โครงการนี้ยังไม่มีความชัดเจนออกมาเลย
การเร่งรีบเสนอโครงการ โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นเพราะการที่นาซาถอนตัวออกไปได้สร้างความหายนะและความถดถอยทางวิชาการอย่างใหญ่หลวง จนต้องของบฯ ทำวิจัยเอง 200 ล้านบาทนั้น เห็นได้ชัดว่ามีวาระแอบแฝงที่จะทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายต่อต้านการที่สหรัฐฯ เข้ามาใช้อู่ตะเภา และยังมีข้อน่าสงสัยถึงความโปร่งใสของการใช้เงินในโครงการดังกล่าวด้วย