“ปลอดประสพ” ให้สบายใจได้ถ้ามวลน้ำเท่าปี 54 เผยเสริมระบบป้องกัน ซ่อมแซมเสร็จไปมาก เชื่อหาแก้มลิงได้ครบ 2.1 ล้านไร่ รับ “นายกฯ ยิ่งลักษณ์” ห่วงหลัง “การปลูกหญ้าแฝกกันดินพัง-ขุดลอกคูคลองขนาดเล็กใน กทม.-แก้ปัญหาชาวบ้านรุกล้ำคูคลองสาธารณะ-ขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณะเลิกกำหนดเดือนมิถุนาฯ” เฉื่อย เตรียมนั่งหัวโต๊ะประชุมความคืบหน้าทุกวันพฤหัสบดี ระบุจะมีพายุเข้าไทยอีก 3 ลูก
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงข่าวถึงผลการประชุมติดตามความก้าวหน้าการป้องกันและแก้ไขอุทกภัย ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันอังคารที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า นายกรัฐมนตรีให้ความเป็นห่วงเรื่องนี้ ซึ่งต่อไปนี้ทุกวันพฤหัสบดี นายกฯ จะไปทำงานที่ตึกแดง ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อติดตามงาน ซึ่งหมายความว่าจะมีการประชุมกันทุกสัปดาห์เริ่มตั้งแต่วันพฤหัสบดีหน้าเป็นต้นไป แต่การติดตามงานกรณีที่เดินทางไปต่างจังหวัดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
นายปลอดประสพกล่าวถึงความคืบหน้าของการป้องกันและแก้ไขอุทกภัยว่า ขณะนี้มีสิ่งที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 100% แล้ว 7 เรื่อง คือ 1. ฝายต้นน้ำ ซึ่งอยู่ในป่าทั้งหมด เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีอยู่ทั้งหมด 2,000 แห่ง 2. พื้นที่รับน้ำ พื้นที่ทั้งหมด 2.1 ล้านไร่ และรับน้ำได้ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงมหาดไทย โดยนายกฯ ได้ฝากให้เริ่มไปคุยกับราษฎรและเอาสูตรการชดเชยถ้าจำเป็นต้องใช้ ดังนั้นต้องรอกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงมหาดไทย แล้วจึงจะมาประกาศได้ว่า ถ้าเกิดเหตุเพศภัย จำเป็นต้องใช้พื้นที่ที่เกษตรกรทำการเกษตรอยู่ รัฐบาลจะมีการชดเชยเท่าไหร่
3. ประตูน้ำหลักทั้งหมด ขณะนี้ซ่อมเสร็จหมดแล้ว ดังนั้นจึงขอให้สบายใจได้ และขอให้มั่นใจว่าไม่พังอีกแล้ว เพราะมีการซ่อมดีกว่าเดิม ซึ่งเรื่องนี้ทางกรมชลประทานเป็นผู้รับผิดชอบ 4. พร่องน้ำเขื่อนหลัก 2 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งอยู่ในสภาวะที่รับน้ำได้อย่างต่ำ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะมีการเก็บอย่างนี้ตลอดไปจนกว่าจะถึงปลายฤดูฝน และมั่นใจว่าไม่มีพายุ ถึงจะมีการนำน้ำเข้าให้เต็มเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับหน้าแล้งปีหน้า เพราะฉะนั้นก็แปลว่าน้ำไม่ท่วม และน้ำไม่แล้ง ซึ่งเรื่องเขื่อนนี้ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เป็นผู้รับผิดชอบ
5. แนวคันดินริมแม่น้ำ ลำคลอง ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม 6. การเสริมความสูงถนนเป็นแนวปิดล้อมพื้นที่สำคัญที่เป็นตัวเมือง ระยะทาง 500 กิโลเมตร เรียกว่าแนวปิดล้อมพื้นที่เศรษฐกิจ ตั้งแต่วันจันทร์นี้เป็นต้นไป ผู้รับเหมาประมาณ 120 ราย จะเข้าทำงานพร้อมกัน ซึ่งจะเป็นการทำชั่วคราว เพื่อให้คลุมพื้นที่ทั้งหมด ดังนั้นอาจจะมีรถติดบ้าง ประชาชนก็ต้องเข้าใจ ซึ่งในส่วนนี้อยู่ในความผิดชอบของกระทรวงคมนาคม และ 7. การเสริมความยาวของคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริ หรือ King’ s Dike ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการกับชลประทานร่วมกัน
“ทั้งหมดนี้เสร็จหมดแล้ว ดังนั้นประชาชนนอนเต็มตาหลับได้ ไม่ใช่นอนตายตาหลับ”
นายปลอดประสพยังแถลงเกี่ยวกับโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่และมั่นใจว่าจะเสร็จทันตามกำหนด ซึ่งจะมีการจัดระเบียบการดำเนินงาน และนายกรัฐมนตรีจะติดตามเอง คือ 1. โครงการทำคลังข้อมูล(Data Bank) ที่หลายหน่วยจะนำเครื่องประมวลข้อมูลต่างๆ มาเชื่อมกัน โดยนำมาไว้ที่ทำการ และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ 2. การติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) และโทรมาตร (Telemeters) 3. โครงการขยายแนวคลองลัดของแม่น้ำท่าจีน 2 เพื่อให้สามารถใช้แม่น้ำท่าจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 4. โครงกรรมการจะจัดระเบียบการบริหารจัดการอัตราการไหลของน้ำ (Flow) ทุกวัน
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวถึงสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป คือ 1. การเชื่อมต่อระบบเตือนภัยระหว่างหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา ศูนย์เตือนภัยพิบัติ หรือทางจังหวัดที่มีการเตือนภัยแบบต่างคนต่างเตือนทำให้ประชาชนไม่หนี เพราะเกิดความสับสนไม่รู้ว่าจะฟังใคร จึงต้องมีการเชื่อมระบบและจัดว่าหน่วยงานไหนมีการพูดอย่างไร ที่ไหน แค่ไหน อย่างไร 2. แก้ปัญหาจุดบอดการระบายน้ำ เช่น ระบบ siphon ผ่านคลอง ทางรถไฟ จุดที่ลำน้ำผ่านเมือง ตัวอย่างการผ่านคลองบางคลองนั้นน้ำดีแต่บางคลองน้ำไม่ดี การที่จะให้น้ำดีผ่านน้ำไม่ดีต้องมีการทำ siphon อย่างกรณีของคลองประปา หรือคลองระพีพัฒน์ เป็นต้น
3. เรื่องการติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ ซึ่งขณะนี้มีเยอะ โดยในที่ประชุมมีการพูดคุยกันว่า ไม่แน่ใจว่าใช้ได้หรือไม่ ติดตั้งถูกที่และเก็บไว้ถูกต้องหรือไม่ และ 4. เรื่องการบริหารจัดการ Single Command Center ที่ตนรับผิดชอบ ซึ่งตนก็ถูกตรวจในเรื่องนี้ ตนก็ต้องอาระวาดคนอื่นบ้าง เพราะเมื่อตนสั่งแล้วก็ต้องเชื่อฟัง ไม่งั้นคนที่ถูกดุก็คือตน
นายปลอดประสพกล่าวว่า ส่วนการดำเนินการที่ยังล่าช้าอยู่มีทั้งหมด 4 เรื่อง คือ 1. การปลูกหญ้าแฝกกันน้ำกันดินพัง ซึ่งจากการรายงานน่าเป็นที่เข้าใจแต่ต้นแล้วว่า กำลังปลูกในโรงปมเพาะ 2. การขุดลอกคูคลองขนาดเล็กใน กทม.ก็ยังมีป้ายอยู่ปกติ เพราะคนที่มีรูปในป้ายยังไม่ลงมาขุดเสียที 3. คลองสาธารณะที่ ครม.ได้มีมติไปเรียบร้อยแล้วว่า ให้กระทรวงมหาดไทยกับกทม.ไปดำเนินการในส่วนที่มีการบุกรุกคูคลอง และให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ไปแก้ไข ซึ่งยังไม่ขยับทำให้หลายคลองยังหยุดไม่ได้ ขณะที่ผู้รับเหมาระบุว่า อย่าว่าแต่ไม่เริ่มดำเนินการได้เลย แค่ยกเครื่องมือไปก็ขู่เผาแล้ว และ 4. แหล่งน้ำสาธารณะ แหล่งน้ำธรรมชาติ ในพื้นที่ต้นน้ำ การขุดลอกคูคลองแต่เดิมต้องแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. แต่ได้มีการเลื่อนมาเดือน ก.ค.แล้วยังไม่แล้วเสร็จ ทั้ง 4 เรื่องต้องมีการเร่งรัด
สำหรับพื้นที่รับน้ำจำนวน 2.1 ล้านไร่ ได้ดำเนินการจัดหาเรียบร้อยแล้ว โดยกรมชลประทานมีแผนที่เรียบร้อยแล้ว มีการประกาศ ชาวบ้านรับรู้แล้วในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ประกาศว่า ถ้าเข้าไปใช้แล้วจะจ่ายเท่าไร เพราะต้องการสำรวจว่าพื้นที่ดังกล่าวมีใครอยู่บ้าง เพาะปลูกอะไร ไม่ใช่ปลูกวันนี้พรุ่งนี้รับตังค์ แม้กระทั้งเรื่องหญ้าแฝงต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเช่นเดียวกันเพื่อให้ทัน ไม่ว่าจะดำเนินการวิธีใด สำหรับการขุดลอกคูคลองใน กทม.ก็ต้องทำให้เสร็จ และถือเป็นหน้าที่ตนในการตรวจสอบซึ่งต้องแล้วเสร็จ ตนรู้ว่าอะไรบ้างที่ กทม.ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาล เช่น งบประมาณ เทคโนโลยี ความใส่ใจ คำสั่งจากรัฐบาลผ่านไปยังกระทรวงมหาดไทย อย่างการบุกรุกคูคลองกระทรวงมหาดไทยจะเข้าไปช่วย ต่อไปนี้จะบอกความจริง เพราะประชาชนเองก็กังวล มันจะได้จุดไหน จะได้ไปช่วยกันดู คราวนี้ไม่มีปิดบัง
นายปลอดประสพกล่าวต่อว่า สำหรับความพร้อมสำหรับพื้นที่สำคัญนั้น ในระยะ 500 กิโลเมตร ควบคุม กรุงเทพฯ นนทบุรี ตอนใต้ปทุมธานี ที่ดำเนินการในการป้องกันเรียกได้ว่า 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ได้แก่การยกถนน อย่างคลองพระยาบันลือ คลองมหาสวัสดิ์ ตอนเหนือของกรุงเทพฯ คลองรังสิตควบคุมได้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สวทช. เอไอที นิคมอุตสาหกรรม 6 แห่ง วัดบางแห่ง รวมถึงทำเนียบรัฐบาลไม่ท่วมแน่ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสภาพอากาศหลังจากนี้คาดการณ์ว่าจะมีพายุเข้ามายังประเทศไทยทั้งหมดไม่เกิน 3 ลูก โดยจะเข้าไทยตรงๆ 1 ลูก และอีก 2 ลูกเข้ามาเพียงเฉียงๆ เท่านั้น และหากปริมาณน้ำปีนี้เท่ากับปีที่แล้ว เราสามารถรับมือได้อย่างสบายภายใต้โครงการที่ได้วางแผนไว้ ส่วนการดำเนินการในส่วนของจังหวัดหากมีความล่าช้า คงไม่ต้องให้เป็นเรื่องของ กบอ. เชื่อว่ากระทรวงมหาดไทยจะมีวิธีการจัดการ