xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ถกผู้ว่าฯ 6 จว.จี้เคลียร์งานเสร็จทัน ก.ค.สั่งช่วยรักษาคลองอย่าท่วมทีทำที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตรวจงานโครงการป้องกันน้ำท่วมบริเวณบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ เมื่อเช้าที่ผ่านมา
“ยิ่งลักษณ์” ถกร่วมผู้ว่าฯ 6 จังหวัดเหนือตอนล่าง สอบถามแก้มลิงพื้นที่กลางน้ำ เร่งปรับแผนให้เสร็จทันเดือนหน้า หวั่นไม่ทันน้ำมา จี้เปลี่ยนผู้รับเหมาหากทำเสร็จไม่ทัน แนะขอกำลังกองทัพช่วย สั่ง ก.คมนาคม-ทรัพย์ตรวจงาน ให้ผู้ว่าฯ แก้ผักตบชวายึดคลอง ร่วมท้องถิ่นช่วยรักษา อย่าทำแบบท่วมทีทำที

วันนี้ (13 มิ.ย.) ที่ จ.ชัยนาท เมื่อเวลา 08.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับฟังการบรรยายสรุปจากรัฐมนตรีที่รับผิดชอบผ่านระบบ Tele conferrence ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดในกลุ่ม 6 จังหวัด ประกอบด้วย กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน แม้ตนเองจะไม่สามารถลงได้ทุกพื้นที่ แต่ได้ส่งให้รัฐมนตรีลงไปประสานงานร่วมกับผู้ว่าฯ เพื่อประหยัดเวลา และนำข้อมูลมาหารือร่วมกัน โดยมีนายทศพล ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นผู้รวบรวมข้อมูลและติกตามการทำงานทั้งหมดเพื่อรายงานความคืบหน้า

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กล่าวรายงานถึงความคืบหน้าผลการติดตามโครงการต่างๆ ในส่วนต่างในโครงการบริการจัดการน้ำว่า ในเรื่องการขุดลอกคูคลอง หลายโครงการมีกความคืบหน้ามาก 60-70% แต่บางโครงการยังไม่ได้รับการเบิกจ่าย ขณะที่บางโครงการมีการเบิกจ่ายน้อยมาก ซึ่งไม่ทราบว่าเกิดจากปัญหาของการเบิกจ่ายหรือเกิดจากเรื่องอะไร และไม่รู้ว่าที่มาทำงานมีข้อขัดข้องอย่างไรหรือไม่ ตรงนี้เป็นข้อกังวล

ด้าน นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวรายงานผลการติดตามโครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรว่า ได้รับงบประมาณรวมทั้งสิ้น 629 ล้านบาทในจำนวน 35 โครงการ ขณะนี้มีหลายโครงการเสร็จสมบูรณ์แล้ว 100% และมั่นใจว่ามทั้ง 35 โครงการในพื้นที่กำแพงเพชรจะเสร็จสิ้น 100% ในเดือนกรกฎาคมตามเป้าหมาย

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้สอบถามถึงความคืบหน้าโครงการแก้มลิงต่างๆ เนื่องจากจุดเป็นจุดสำคัญเพราะเป็นพื้นที่กลางน้ำ ผู้ว่าฯ กำแพงเพชรกล่าวรายงานว่า โครงการแก้มลิงหนองบอนเป็นโครงการแฟลกชิป งานแล้วเสร็จ 100% ซึ่งโครงการแฟลกชิปมีทั้งหมด 4 โครงการวงเงินประมาณ 50 ล้านบาท มีแผนเบิกจ่ายภายในเดือนมิถุนายนนี้ทั้งหมด ขณะที่นายกฯ ได้ขอให้ผู้ว่าฯ กำแพงเพชรดูภาพรวมทั้งหมดในเรื่องของการใช้งบประมาณที่จะนำไปใช้ในโครงการต่างๆ

ขณะที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกกล่าวรายความคืบหน้าว่า จากงบประมาณที่ได้รับ 1,502 ล้านบาท เป็นการนำไปดำเนินโครงการซ่อมแซมฟื้นฟู 238 ล้านบาท ส่วนกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องแหล่งน้ำใช้งบ 660 ล้านบาท ผลงานเดินหน้าไป 80% ที่จุดบึงแม่ระหัน คาดว่าจะเสร็จตามแผนในเดือนกรกฎาคม ส่วนโครงการแฟลกชิปได้รับงบฯ 129 ล้านบาท เป็นการทำโครงการแก้มลิง ซึ่งตามแผนจะเสร็จ 13 สิงหาคม ขณะนี้ที่งานล่าช้าไประมาณ 16% ซึ่งเกิดจากภาวะฝนตก แต่ยังเชื่อว่าจะสามารถเร่งงานให้ทันตามเวลาที่กำหนด ส่วนโครงการขุดลอกคูคลองจะเสร็จก่อนกำหนดเวลา

ขณะที่นายกฯ เน้นย้ำให้ทางจังหวัดปรับแผนโดยขอให้โครงการทั้งหมดเสร็จในเดือนกรกฎาคม ที่จากเดิมจะเสร็จในเดือนสิงหาคม เราเกรงว่าจะไม่ทันเนื่องจากเป็นพื้นที่กลางน้ำ รวมทั้งในจุดบางระกำที่เป็นจุดผันน้ำจากแม่น้ำยม ไปแม่น้ำน่าน โดยทางผู้ว่าฯ พิษณุโลกยืนยันว่าจะเร่งโครงการให้แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาตามที่นายกฯ กำหนด ซึ่งเชื่อว่าจะทำได้

สำหรับ จ.พิจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานว่า ได้งบประมาณทั้งสิ้น 923 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 519 ล้านบาท ซึ่งแบ่งานออกเป็น 2 ส่วน โดยเป็นงบประมาณของทางจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับโครงการแฟลกชิป ซึ่งเกี่ยวข้องกับงบระมาณฟื้น 294 ล้านบาทแล้วเสร็จ 2 โครงการซึ่งจะมีความล่าช้าบ้างในบางส่วน ทั้งในเรื่องของการทำงานและเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งที่ผ่านมา จ.พิจิตรเป็นพื้นที่ที่ต่ำที่มีน้ำท่วมระยะเวลายาว ชาวนาเสียเวลาทำนาไป 1 ฤดูกาล ทำให้หลังจากน้ำลดแล้วชาวนาจะเร่งการทำนาอย่างเต็มที่ไม่ยอมให้การทิ้งน้ำทำใ้ห้ผู้รับเหมาต้องเจรจากับชาวนา จึงทำให้ชาวนาเสียเวลาไปอีก 1 เดือน รวมถึงพื้นที่เป็นดินเลนทำให้ทำงานได้ยาก ต้องนำแผ่นเหล็กแข็งมาปูจึงจะทำงานได้

ขณะที่นายกฯ สอบถามว่ามีความจำเป็นที่จะต้องขอกำลังหนุนจากกระทรวงกลาโหมหรือไม่ ทางผู้ว่าฯ ชี้แจงว่า จากการที่คุยกับผู้รับเหมาและช่างผู้คุมงามยืนยันว่าจะสามารถแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมนี้ สามารถช่วยตัวเองได้

ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวว่า จ.พิจิตรเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมจำนวนมากสิ่งที่เราทำประชาชนสบายใจหรือไม่หรือต้องปรับปรุงเพิ่มเติม เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของประชาชน จ.พิจิตร ขณะที่ผู้ว่าฯ พิจิตร กล่าวว่า รัฐบาลเข้ามาดูแลประชาขนเองก็รู้สึกพอใจแต่กังวลอยู่บ้างก็ตรงจุดแม่น้ำยม เนื่องจากไม่มีฝายหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อาจจะเป็นปัญหาได้

ขณะที่ ดร.อานนท์ชี้แจงว่า จ.พิจิตร ในการแก้ปัญหาระยะยาวในระดับพื้นที่นั้น โดยเฉพาะในส่วนของลุ่มน้ำขนาดใหญ่ซึ่งรอในส่วนของงบประมาณ 300,000 ล้านบาท ซึ่งตรงนั้นจะมีโครงการขนาดใหญ่ ก็จะทำให้เกิดการจัดการบริหารน้ำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะรอคณะผู้เชี่ยวชาญมาดูแล

ด้าน นายปลอดประสพ สุรัสวดี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กล่าวว่า ในส่วน จ.พิจิตร ที่มีปัญหากรณีผู้รับเหมาต้องทำถนนลงไปยังบึง โดยที่ผู้รับเหมามีเครื่องมือไม่พร้อมให้ไปเจรจาเปลี่ยนเครื่องมือ ขณะที่นายกฯ ระบุว่าไปรับแผนคุมงานถ้าไม่ได้คุยกันไม่ได้ ขอให้ทางจังหวัดทำเรื่องฝากมาเพื่อทางจังหวัดได้ทำงานร่วมกัน ส่วนลุ่มแม่น้ำยมยังไม่มีโครงการขนาดใหญ่ ให้ทาง กบอ.ดูแลเพื่อให้เกิดการบูรณาการทั้งประเทศ ใน จ.พิจิตรเองต้องแน่ใจว่าน้ำจะไหลผ่านสู่ จ.นครสวรรค์ และจะไม่ทำให้น้ำท่วมขังอย่างแน่นอน และจะไม่เกิดการขวางทางน้ำ อยากให้ทุกจังหวัดกลับไปดูในส่วนของตัวเอง โดยเฉพาะรอยต่อ และอยากขอให้ทาง กบอ.ไปดูในเรื่องของ้ำว่าไหลลงตามธรรมชาติหรือไม่ รวมถึงการปรับสัญญาให้เร็วขึ้น

จากนั้นในส่วนของ จ.นครสวรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานว่า ในส่วนที่เป็นพื้นที่รองรับน้ำได้มีการดำเนินการไปแล้วกว่า 50% เบิกจ่ายงบประมาณแล้ว 76% ยืนยันว่าจะให้ทุกโครงการแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมนี้ทั้งหมด ในส่วนที่เป็นโครงการระบบผันบึงบอระเพ็ดที่ล่าช้ากว่าแผนที่ถือว่าเป็นแนวเขตพนังกั้นน้ำ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการใกล้แล้วเสร็จและจะทันในเดือน กรกฎาคมแน่นอน และเป็นเพียงการกั้นน้ำไว้ชั่วคราวสามารถระบายน้ำออกได้

ขณะที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาทกล่าวรายงานว่า ในส่วนของจังหวัดมีทั้งหมด 38 โครงการ งบประมาณ 1,653 ล้านบาท ดำเนินการไปแล้วกว่า 80% และจะมีข้อกังวลอยู่บ้างในเรื่องของแหล่งน้ำ 1 โครงการ อยู่ในเขตอำเภอเมืองซึ่งตรงนี้จะทำเป็นพื้นที่แก้มลิง

“สิ่งที่ต้องทำไม่ใช่แค่ปรับสัญญา แต่ถ้าเอางานไปแล้วเสร็จไม่ทันก็ต้องปรับหรือเปลี่ยนผู้รับเหมา ทางกองทัพมีศักยภาพเข้ามาช่วยเหลือได้ และขอสั่งการทางจังหวัดดูว่ามีอะไรที่ต้องช่วยเหลือหรือเสริมกำลังเข้าไป โดยให้ยึดขีดเส้นตายตามที่ กบอ.กำหนด และขอฝากกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพย์ไปดูงานที่ลงพื้นที่เพืิ่อติดตามงาน และรายงานเข้ามา อย่าได้เกรงใจ เพราะงานที่กระทรวงลงไปต้องทำงานร่วมกับพื้นที่ ดังนั้นต้องรู้” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวต่อว่า ขอสั่งการไปยังผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดว่ารัฐบาลได้ลงงบประมาณในการขุดลอกคลองเป็นจำนวนมาก เพราะปีที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำเลย และเมื่อทำแล้วผักตบก็ขึ้นใหม่อย่างเร็วมากทำให้น้ำที่ไหลลงไปเกิดการติดขัด จึงขอให้เป็นหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลรักษา โดยขอให้ทางกรมชลประทาน กองทัพ และจังหวัด ทำงานบูรณาการร่วมกับท้องถิ่น อบจ. อบต.และภาคประชาชนในการรักษาคูคลอง และโครงการนี้ขอให้ทางกระทรวงมหาดไทยไปรับผิดชอบดูแล รวมทั้งในส่วนของ กทม.ด้วย ต้องดูแลเป็นประจำไม่ใช่น้ำท่วมทีทำที หรือปีหนึ่งทำครั้งหนึ่ง และขอให้ทางจังหวัดไปดูว่าในส่วนของงบประมาณที่ขอไปยังไม่ได้ในโครงการใด

นายกฯ กล่าวต่อว่า ขอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดในกลุ่มพื้นที่ต้นน้ำทำการบันทึกระบบจีพีเอสขณะที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ขอให้มีการทำภาพถ่ายดาวเทียมลงมาในระบบ เพื่อให้เข้าร่วมกับระบบซิงเกิลคอมมานด์ ฝากให้กระทรวงทรัพย์ไปบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูล โดยให้กระทรวงมหาดไทยแจ้งไปยังผู้ว่าฯ กำหนดเป็นระยะสั้นจัดทำเวิร์กชอปผู้ว่าฯ ทั้งหมดจากในเรื่องของการปลูกป่าที่ทำในส่วนของกองทัพ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนถึงในส่วนของโครงการพระราชดำริเพื่อให้เห็นภาพรวมในการเคลียร์พื้นที่ให้ชัดเจน ซึ่งให้ปลูกป่าไปพร้อมกับการทำฝายกั้นน้ำจัดแบ่งพื้นที่โซนนิ่ง และทำงานร่วมกับภาคเอกชน และประชาชน

กำลังโหลดความคิดเห็น