นายกฯ พร้อมคณะทัวร์ตรวจแผนป้องกันน้ำท่วมวันที่ 2 สิงห์บุรี มั่นใจประตูระบายน้ำพระงามแล้วเสร็จในเดือน ก.ค. สั่ง 2 กระทรวงกำจัดผักตบชวา ห่วงระบบบริหารจัดการจุดรับน้ำเชื่อม 3 จังหวัด พระนครศรีอยุธยา-สิงห์บุรี-ชัยนาท สั่งหัวหน้ากลุ่มจังหวัดจับกลุ่มทำงานร่วมกัน เน้นทำความเข้าใจประชาชน
วันนี้ (12 มิ.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ อาทิ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงมหาดไทย นาย่ลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ เดินทางไปที่ จ.สิงห์บุรี โดยเริ่มออกเดินทางจากทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 13.30 น. ล่าช้ากว่ากำหนดการ 1 ชั่วโมง ได้เดินทางมายังจุดก่อสร้างประตูระบายน้ำพระงาม ตำบลพระงาม อำเภอพรหมบุรี จ.สิงห์บุรี เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน ซึ่งเป็นความสำนักชลประทานที่ 12 โดยใช้งบประมาณ 145,078,800 บาท ซึ่งประตูระบายน้ำพระงาม อยู่บริเวณกลางคลองกระทุ่มโพรงมีความยาวประมาณ 4.6 กม. ซึ่งเป็นคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย สามารถรับปริมาณน้ำที่แม่น้ำลำชวดเพื่อระบายน้ำสู่แม่เจ้าพระยา แต่ในฤดูน้ำหลากระดับน้ำในแม่เจ้าพระยามีระดับสูงมากจะไหลเข้าแม่น้ำน้อย และประตูระบายน้ำพระงามจะทำหน้าที่เป็นอาคารป้องกันไม่ใช่ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้าพื้นที่การเกษตร ในเขตอำเภอพรหมบุรี ท่าช้าง บางระจัน และอำเภอเมือง จ.สิงห์บุรี และอำเภอโพธิ์ทอง วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง และพื้นที่ตอนล่างในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ รวมพื้นที่ประมาณ 200,000 ไร่ ซึ่งประตูระบายน้ำพระงามคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ค.
ระหว่างนายกฯ ดูการก่อสร้างได้สอบถามนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าประตูน้ำใน จ.สิงห์บุรีมีทั้งหมดกี่ประตูและการซ่อมแซมและก่อสร้างจะเสร็จทันกำหนดหรือไม่ ซึ่งนายธีระรับปากว่าจะเร่งดำเนินการให้ทัน
นายกฯ ยังสอบถามถึงการกำจัดผักตบชวาในคูคลองต่างๆ ซึ่งนายธีระกล่าวว่า ผักตบชวาแพร่พันธุ์เร็วมาก การกำจัดจึงต้องแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยกรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการ ทำให้นายกฯ สั่งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปแบ่งคูคลองรับผิดชอบในการกำจัดผักตบชวา และให้กระทรวงมหาดไทยประสานท้องถิ่นในการดูแลรักษา พร้อมเดินทางมายังที่ประตูระบายน้ำลำชวด ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี เพื่อทำการตรวจพื้นที่รับน้ำนองซึ่งจุดนี้เป็นพื้นที่รับที่ใหญ่ที่จุดโดยเชื่อมต่อกัน 3 จังหวัด คือ จ.สิงห์บุรี ชัยนาท และพระนครศรีอยุธยา โดยได้รับฟังรายงานสรุปจาก ผอ.สำนักชลประทานที่ 12 จ.ชัยนาท ว่าที่บริเวณประตูระบายน้ำลำชวดเป็นประตูรับน้ำนองใต้ จ.นครสวรรค์ โดยจะทำหน้าที่ควบคุมน้ำนองเป็นบริเวณประมาณ 10 ทุ่ง คือ 1. ทุ่งสรรพยา 2. ทุ่งอินทร์บุรี 3. ทุ่งบางกระบือ 4. ทุ่งโรงช้าง 5. ทุ่งชัณสูตร 6. ทุ่งพิกุลทอง 7. ทุ่งไชโย 8. ทุ่งบางพลับ 9. ทุ่งไผ่ดำพัฒนา และ 10. ทุ่งโคกช้างโดยการทำงานจะเืชื่อมโยงกันระหว่างเหนือประตูระบายน้ำและใต้ระตูระบายน้ำ โดยในช่วงหน้าน้ำหลาก เมื่อประชาชนเก็บเกี่ยวพืชผลทงการเกษตรเสร็จแล้วจะใข้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่กระจายน้ำ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1.9 แสนไร่ สามารถรับน้ำนองได้ 523 ล้านลูกบาศก์เมตร
ด้านนายกฯ ได้สอบถามถึงการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน และผู้ว่าฯ ทั้ง 3 จังหวัดเพื่อให้เกิดผลดี นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวชี้แจงว่า ในส่วนนี้ได้ควบคุมบริหารจัดการแบบซิงเกิลคอมมานด์ ซึ่งจะมีการบริหารจัดการการระบายให้มีความสัมพันธ์กันระหว่างเหนือประตูน้ำกับใต้ประตูน้ำ
จากนั้นนายกฯ ได้ฝากให้ทางกระทรวงมหาดไทยและกรมชลประทานประสานงานและสื่อสารกับประชาชนสร้างเครือข่ายประสานงานในพื้นที่ ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ อีกทั้งเรื่องของการเก็บเกี่ยวข่าวให้ทันเวลาและการดูแลถนนสัญจรในช่วงเวลาที่เกิดปัญหาน้ำท่วม โดยให้หัวหน้าส่วนจังหวัดประชุมร่วมกันเพื่อดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด และขอให้ทาง กบอ.ทำรูปแบบคมอพิวเตอร์จำลองเหตุการณ์ว่าหากเกิดเหตุน้ำท่วมแล้วมีพื้นที่ใดเกิดปัญหาและหาวิธีการจัดการต่อไป
ด้าน นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานประธาน กอบ. กล่าวแสดงความห่วงใยว่า จุดนี้เป็นจัดเชื่อมต่อของ 3 จังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่แก้มลิงสามารถรับน้ำได้ประมาณ 200,000 ไร่ ซึ่งต้องอาศัยเรื่องของการบริหารจัดการร่วมกัน ทั้งทางจังหวัดและกรมชลประทาน 3 จังหวัดต้องทำงานให้สอดคล้องกัน และที่สำคัญคือเรื่องการทำความเข้าใจและการสื่อสารประชาชน