นายกรัฐมนตรีวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ รับฟังรายงานเยียวยาน้ำท่วม เผยอยากเห็นผู้ว่าฯ-ผู้การจังหวัดร่วมทำงานใกล้ชิดท้องที่ กำชับอย่าให้มีปิดถนน มีข่าวลงหนังสือพิมพ์ โอดไม่อยากเห็นม็อบปิดถนนต้องทำให้เปลี่ยนกติกากลุ่มใหญ่ ต้องลงไปชี้แจงปัญหา ย้ำเสียงเข้มขอดูวัดผลการทำงานจากเยียวยาน้ำท่วม ยาเสพติด ทุจริต เตรียมเดินสายสัปดาห์หน้าดูความคืบหน้าขุดคลอง ด้าน “ยงยุทธ” ทำเป็นตามนายกฯ ใครแก้ปัญหาช้าเจอถูกเด้งแน่นอน
วันนี้ (8 มิ.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล (video conference) เพื่อติดตามความคืบหน้าในการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย และความคืบหน้าการดำเนินการโครงการเพื่อป้องกัน และบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ร่วมกับคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกระทรวงกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการทั่วประเทศ ขณะที่กรุงเทพมหานคร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้นายยุทธศักดิ์ ร่มฉัตรทอง ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เข้าร่วมประชุมแทน
โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายว่า เรื่องที่เราจะเน้นกันมากจริงๆ เรื่องแรกคือเรื่องของการทำงานในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการ ที่ต้องทำงานร่วมกันอย่างไร การคาดหวังการทำงานของรัฐบาลที่ต้องทำงานร่วมกันในพื้นที่ และรวมถึงท้องถิ่นในการดูแลประชาชนอย่างไร และรวมไปถึงการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีทั้ง 31 จังหวัด เพื่อทริปเดินทางติดตามงานการแก้ไขเรื่องน้ำในภาพรวมไปการเดินทางติดงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ วันนี้มีในเรื่องของปริมาณน้ำฝนที่ค่อยข้างเยอะ ผลกระทบต่อพื้นที่ที่มีภาวะน้ำท่วม ตนห่วงใยไม่น้อย เบื้องต้นได้สั่งการให้รัฐมนตรีไปกำกับดูแลแล้ว แต่อยากจะฟังรายงานภาพรวมอีกครั้งว่า ขณะนี้แต่ละจังหวัดและจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ภาคเหนือว่าเป็นอย่างไร รวมถึงการเตือนภัยในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมหนักอยู่
จากนั้น นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่ฝนตกมาตั้งแต่ต้นเดือน ระบบการเตือนภัยได้มีดำเนินการ 2 วิธี คือ ทางเครือข่ายกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในจังหวัด ติดตั้งระบบเตือนภัยในพื้นที่โดยเฉพาะกรณีที่ปริมาณน้ำฝนเกินกำหนด สำหรับพื้นที่ที่เกิดฝนตกหนักและสะสมมาจนไม่สามารถอุ้มน้ำได้อีก คือ ที่จังหวัดบึงกาฬ หนองคาย และบุรีรัมย์ ซึ่งได้มีการประสานกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในจังหวัดเข้าไปแก้ไข ขณะที่ปริมาณน้ำฝนพื้นที่ภาคอีสานใต้ที่เริ่มจากหนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ และฝนที่ตกต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดตาก ระนอง ชุมพร กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา และฝนที่ตกต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ทำให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มขึ้นในพื้นที่จังหวัดเลย หนองบัวลำภู ขอนแก่น ปราจีนบุรี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ที่ผ่านมามีการติดตั้งระบบเตือนภัยติดเกือบทุกหมู่บ้าน ปัจจุบันมีการติดตั้งไปแล้ว 2,370 หมู่บ้าน โดยเป็นหมู่บ้านที่เสี่ยงอยู่ตามเชิงเขาทั้งหมด แต่ปัจจุบันทางกรมทรัพยากรธรณีได้มีการศึกษาพบว่า มีพื้นที่เสี่ยงภัยเพิ่มขึ้นมาเพิ่มเติม ทางกระทรวงทรัพย์ก็จะมีการจัดงบประมาณเพื่อดำเนินการติดตั้งระบบเตือนภัย เพื่อให้ครบทั้งประเทศอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเตือนภัยในพื้นที่สูง ส่วนบริเวณพื้นที่ต่ำซึ่งเป็นพื้นที่ราบจะมีปัญหาในเรื่องของน้ำฝนที่ตกมามาก จะที่จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดแพร่ ซึ่งได้มีการเตือนภัยตั้งแต่วันนี้
ขณะที่ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวรายงานว่า ขณะนี้เน้นหนักภาคใต้ 9 จังหวัด ที่เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องมา โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบคือ จังหวัดระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ ภูเก็ต ตรัง นครศรีธรรมราช พังงาน และสตูล ทั้งหมดทางกรมอุตุนิยมระบุว่าจะเกิดฝนตก 90 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่ซึ่งต้องเฝ้าระวัง การช่วยเหลือดำเนินการทุกภาคส่วน ทางจังหวัดภาคใต้มีประสบการณ์ติดต่อกันมา 2-3 ปี รวมถึงการแก้ไขปัญหาประสานทุกหน่วยในจังหวัด และหากต้องการอะไรเป็นพิเศษก็จะมีประสานงานมายังรัฐบาล อย่างพื้นที่จังหวัดระนองขอสะพานเหล็กเชื่อมก็ได้มีการส่งไปให้ ส่วนที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดแพร่นั้น ฝนที่ตกหนักทำให้น้ำท่วมเส้นทางรถไฟสายเหนือหยุดวิ่ง เนื่องจากน้ำจากทางเหนือไปเซาะราง ประมาณเย็นวันที่ 8 มิ.ย.ดำเนินการแก้ไขสามารถวิ่งได้
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า จากภาพรวมร่วมที่รายงานจังหวัดกระบี่ อุตรดิตถ์ และแพร่ ยังไม่ดีขึ้น ขอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดไปช่วยดูแลจังหวัดที่มีน้ำท่วมขังทั้งหมด ดูแลประชาชนให้ทั่วถึง ยังมีเรื่องของการดูแลเยียวยาว่า มีพื้นที่ไหนบ้างเข้าไปเข้าช่วยเหลือ พี่น้องประชาชนที่เจอปัญหาในปีที่ผ่านมาก็ไม่อยากเห็นเป็นปัญหาที่ร้างลาไม่ได้รับการแก้ไข
จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานสถานการณ์ โดยส่วนใหญ่ระบุว่าสถานการณ์ดีขึ้น ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า สถานการณ์ที่เริ่มขึ้นก็ขอฝากผู้ว่าฯ ช่วยดูแล และติดตามให้ด้วย เบื้องต้นต้องขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดลงไปสำรวจระบบเตือนภัยของจังหวัดตนเองไปยังท้องถิ่นและชุมชนว่าระบบเตือนภัยที่ไม่สมบูรณ์ให้รีบติดตั้งโดยด่วน เพราะเราเองอย่างปัญหาคราวที่แล้วจังหวัดระยอง ระบบเตือนภัยไม่ได้มีการเชื่อมโยงไปถึงชุมชน ขอให้ทุกจังหวัดลงไปสำรวจร่วมกัน เตรียมระบบเตือนภัยให้พร้อมทาง กบอ.และกรมทรัพยากรฯ ขอให้ช่วยในการบูรณาการติดตั้งระบบเตือนภัยนี้ให้ควบคุมชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่มีฝนตกและน้ำท่วมขังบ่อย ขอให้เตรียมไว้เลย จากเหตุการณ์นี้ก็ต้องขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดที่ฝนตกครั้งนี้ได้มีการเตรียมการต่างๆ ขอให้ตรงนี้ไปปรับปรุงขั้นตอนด้วย และฝากทาง กบอ.เข้าไปดูในพื้นที่ ถ้ายังมีปริมาณน้ำท่วมขังที่นานจะติดตั้งและปรับปรุงอะไรเพิ่มเติม เพื่อให้น้ำไหลไปโดยเร็ว แผนที่ได้มีการเร่งรัดจะได้เห็นว่าพื้นที่ส่วนไหนต้องปรับปรุงเพิ่มเติม
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขอคุยในภาพรวมเนื่องจากได้มีการเรียกผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดต่างๆ มาด้วย อยากเห็นผู้ว่าฯ กับผู้การทำงานในท้องที่อย่างใกล้ชิด จริงๆ แล้วประชาชนจะอุ่นใจถ้าผู้ว่าฯ กับผู้การฯ ทำงานรวมประสานสัมพันธ์กัน ทำงานร่วมกัน ตนมองในเชิงรุก วันนี้อะไรหลายๆ อย่างที่เราเห็นประชาชน มีเรื่องเดือดร้อนหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสินค้าเกษตร เรื่องการเยียวยา วันนี้ขอให้ผู้การฯ ผู้ว่าฯ ลงไปสำรวจพื้นที่เพื่อให้แน่ใจว่า ดูแลความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนต้องทั่วถึง ขออย่าให้เห็นจากข่าวก่อนที่ได้รับรายงานจากทางจังหวัด อันนี้คือสิ่งหนึ่งที่จะขอให้ท่านช่วยกันตรวจตรา ทำงานในเชิงรุกมากขึ้น เพราะบางครั้งการทำงานเชิงรุกบางทีชาวบ้านอาจไม่รู้ที่จะแจ้ง แต่ถ้าอยู่ในท้องที่กระทรวงมหาดไทยอาจใช้กลไกของท้องถิ่น ต้องทำงานกับท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด
“ทางตำรวจเองก็มีผู้กำกับ สารวัตร ลงไปในกลไกการทำงาน เรื่องของการดูความเดือดร้อนของประชาชนในเชิงรุก ทั้งในส่วนความเดือดร้อนการเกษตร สินค้า ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน การเยียวยาบ้านเรือนที่เสียหายต่างๆ การแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ ตรงนี้ก็จะเห็นว่า หลายๆ พื้นที่พี่น้องประชาชนมาเรียกร้องตามท้องถนน อันนี้เป็นสิ่งที่เป็นหน้าที่ของผู้ว่าฯ และผู้การที่จะต้องลงไปดูแล ถ้ามีประชาชนแบบนี้แสดงว่า การดูแลประชาชนไม่ทั่วถึง การชี้แจงพี่น้องประชาชนยังไม่มีความชัดเจน ต้องขอภาระนี้เป็นภาระของผู้ว่าฯ และผู้การฯ อย่าให้มีการปิดถนน จำเป็นจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย ความเดือดร้อนจะต้องได้รับการดูแล ต้องเข้าใจความรู้สึก หัวอกของพี่น้องประชาชนด้วย ถามว่าการวัดผลเกิดจากความพึ่งพอในการดูแลประชาชนในพื้นที่ การแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างรวดเร็ว การเรียกร้องทำได้ แต่ขอให้ส่งตัวแทนมาเจรจา เกี่ยวข้องกับกระทรวงไหนขอให้เปิดช่องให้กับทางผู้ว่าฯ ส่งเรื่องเข้ามา และแก้ไขปัญหาการสื่อสาร” นายกฯ กล่าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า ตนคาดหวังที่อยากเห็นการเยียวยาบ้านเรือนที่เสียหาย ซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงไม่จบ คือ เกณฑ์การพิจารณา อย่าวัดจากความรู้สึก กรุณาใช้คนกลางที่จับต้องได้ให้กับประชาชน และเชื่อว่าวันนี่การสื่อสารยังไม่ทั่วถึง ใช้กลไกผู้ว่าฯ ท้องถิ่น เข้าใจว่า ท้องถิ่นเป็นฝ่ายรวบรวม แต่ทางจังหวัดต้องมีหน้าที่ชี้แจง อย่างที่เป็นข่าวบางบ้านทำไม 15 บาท 900 บาท ชั่วโมงนี้ท่านต้องกลับไปดู อยากเห็นท่านสั่งการผู้ที่เกี่ยวข้องลงไปเยี่ยมบ้าน ท่านมีข้อชี้แจงได้หมด ท่านต้องทำตามกติกาชี้แจงได้ ให้ดูหลักฐานได้ หาคนกลางได้ วันนี้ฝากปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดี ปภ.ที่ต้องวางหลักเกณฑ์นี้ให้เกิดความยุติธรรม ให้ชาวบ้านรู้สึกว่า ดูแลทั่วถึงและเกิดความยุติธรรม อยากเรียนว่ากติกาคือกติกา เรายึดถือกติกา เพราะว่าวันนี้กระทรวงมหาดไทยต้องทำงานร่วมกับพี่น้องอย่างมาก ดังนั้นต้องมีความชัดเจนอันนี้เป็นความจำเป็นที่ต้องชี้แจง
“เราเองมีมาตรการที่จะเร่งจับจ่ายหรือใช้งบฯ เร่งด่วน 120,000 ล้านบาท หรือ 350,000 ล้านบาท เราเองก็อยากเห็นการเยียวยาต่างๆ บางครั้งมีการปิดกันหมด แต่สำหรับประชาชนต้องลงไปดูว่า จังหวัดไหนเดือดร้อนให้ส่งมา แต่ที่เราต้องปิดต้องการเร่งรัดเพื่อให้เกิดระเบียบ เร่งรัดในการทำงาน แต่พอส่วนกลางปิดท่านก็ปิด ก็ทิ้ง ไม่ได้ชี้แจง ก็ขอไปทำความเข้าใจนี้ด้วย เราปิดเพื่อใช้เวลาในการเร่งรัดการสำรวจนี้คือวัตถุประสงค์ แต่หากยังมีพื้นที่ที่เดือดร้อน หน้าที่ของเราคือต้องดูแลประชาชน ภาษีพี่น้องประชาชนให้เรามาทุกวันนี้ต้องจริงใจรักประชาชน อันนี้ต้องขอความกรุณาเอาเรื่องนี้เข้ามา แต่ต้องทำในเชิงรุก เพราะบางครั้งจะมีปัญหาเหมือนกันไม่ได้ทำแล้วล่าช้า แต่ต้องมีแนวทางดูแลประชาชนเพื่อให้เกิดเท่าเทียมควบคู่กันไป ความเดือดทางการเกษตรต้องทำความเข้าใจ และขออย่าให้มีปัญหาการเมืองเข้ามาแทรกแซงเรื่องความเดือดร้อนความเป็นอยู่ของประชาชน อันนี้ท่านผู้การฯ ผู้ว่าฯ อยู่ในพื้นที่รู้ข้อมูลดีที่สุด ท่านต้องสำรวจให้ความเป็นธรรมกับคนกลุ่มใหญ่ แต่ดิฉันก็ไม่อยากเห็นคนกลุ่มเล็กแล้วต้องทำให้เปลี่ยนกติกากลุ่มใหญ่ ดังนั้นคนกลุ่มเล็กท่านก็ต้องยึดกติกาคนกลุ่มใหญ่ แต่ท่านต้องลงไปชี้แจงแก้ไขปัญหา อย่าให้ปัญหานี้อยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ ที่ดิฉันต้องอ่านจากหน้าหนังสือพิมพ์แล้วกดไปหาทางจังหวัดว่าเกิดอะไรขึ้น ขอมหาดไทยปรับปรุงการรายงานด้วย ระบบวิธีการรายงานทั้งในเรื่องของพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่แค่มหาดไทยเพราะต้องลงไปทำงานกับท้องถิ่น วันนี้จะเห็นหลายครั้งว่า กติกาท้องถิ่นไม่ได้สอดคล้องกับส่วนจังหวัด อันนี้เป็นหน้าที่ผู้ว่าฯ ต้องไปประชุมกับท้องถิ่นว่า ให้เป็นระเบียบแบบแผนเดียวกัน” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว
นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ส่วนหนึ่งที่ได้สั่งการไปแล้ว และอยากให้ติดตามปัญหาที่เวลามีปัญหาอุทกภัย ศูนย์รวบรวมข้อมูลจังหวัดยังไม่มีความเป็นเอกภาพ จะเห็นว่าหลายๆ ครั้งรายงานขึ้นมาตัวเลขไม่ตรงกัน ขอให้ผู้ว่าฯ ใช้ศาลากลางจังหวัดเป็นศูนย์ส่วนหน้าได้ตั้งแต่วันนี้ ขอให้ รมต.ยงยุทธดู อำนวยความสะดวกผู้ว่าฯ ในการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อให้คนประจำพื้นที่รวบรวมข้อมูลจากทั้งหมดส่งเข้ามา แล้วส่งมายังส่วนกลางอย่างมีเอกภาพ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายครั้งที่ข้อมูลดังกล่าวตัวเลขไม่ตรงกันทำให้การให้ข้อมูลกับสื่อไม่ตรงกัน ดังนั้นหากมีการปรับกระบวนการนี้โดยเริ่มตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไล่มาถึงส่วนกลางของจังหวัด และจังหวัด มาถึงส่วนรวมที่กรุงเทพฯ จะทำให้งานมีเอกภาพมากขึ้นมาก โดยเฉพาะการรองรับผลทีจะมาถึงเร็วๆ นี้ ถ้าเราเลิกก็จะทำให้ระบบซิงเกิลคอมมานด์มีเอกภาพมากขึ้น แต่ทั้งนี้ซิงเกิ้ล คอมมานด์ ไม่ได้ใช้กฎหมายไปบังคับผู้ว่าราชการจังหวัด แต่สิ่งที่เราอยากได้คือความเป็นเอกภาพในการทำงานร่วมกัน จึงอยากจะขอความร่วมมือว่าอยากให้มีการปรับกระบวนการกันว่าจะทำอย่างไร โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย นายยงยุทธจะต้องวางกติกาให้ด้วยการจัดระบบเครือข่ายทั้งหมด ซึ่งกลไกทั้งหมดกระทรวงมหาดไทยต้องทำให้เป็นระบบอย่างเป็นรูปธรรม ก็จะทำให้การทำงานเป็นเอกภาพได้ ไม่ว่าจะเกิดเรื่องภัยพิบัติหรืออุบัติเหตุ หรือประชาชนเกิดวามเดือดร้อนเราจะใช้กลไกนี้ให้เป็นเอกภาพ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังกล่าวถึงการรายงานการใช้งบประมาณในส่วนของการบริหารจัดการน้ำของแต่ละจังหวัด ซึ่งอยู่ในระบบของพีม็อก (pmoc) ทั้งหมดซึ่งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดสามารถเข้าไปดูได้แล้วในเว็บไซต์ ซึ่งวันนี้ตนได้ใช้ดูตัวเลขในเอกสารการใช้งบประมาณของแต่ละจังหวัด ตนขออนุญาตตกลงกันก่อนว่าทุกจังหวัดกรุณากรอกความคืบหน้า เราจะวัดของแต่ละจังหวัดจากการรายงานระบบนี้ทั้งหมด วันนี้ไม่ต้องบอกดูเองว่าจังหวัดไหนยังไม่คืบหน้าถึง 50% จะให้เวลาไม่เกิน 1 เดือน ขอให้ปรับเพราะเราจะวัดจากนี้เป็นต้นไป ในส่วนของการทำงานของจังหวัดทุกอย่างในการติดตามแก้ไขปัญหาเพราะความเดือดร้อนของประชาชนไม่สามารถรอได้ และขอร้องว่าบางท่านได้เสนอตัวเลขมา ซึ่งอาจจะไม่ใช่ตัวเลขที่ทันสมัยจริงๆ ดังนั้นขอให้ไปอัพเดททั้งหมดใหม่ และรัฐมนตรีทั้ง 31 ท่านที่จะลงไปตรวจพื้นที่ก็จะใช้ข้อมูลจากเอกสารชุดนี้ทั้งหมด ตนเห็นแล้วในภาพรวมบางจังหวัดแผนไม่ได้สอดคล้องกบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเลย มีการของบเร่งด่วนแต่แผนเสร็จมกราคม กรุณาไปปรับแผนและรายงานกลับมาด้วย เพราะถ้าได้งบเร่งด่วนแต่เสร็จเดือนมกราคมอย่างนี้ไม่ได้
“ขอให้ไปปรับแผนและเร่งในสิ่งที่ต้องทำด่วนว่าคืออะไรบ้างที่จะต้องดึงเข้ามา ซึ่งตรงนี้รัฐมนตรีมีข้อมูลหมดจะขอให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องลงไปทำงานว่ามี แผนเร่งด่วนในการปรับอย่างไร บางครั้งสิ่งก่อสร้างถาวรทำไม่ทัน จะทำชั่วคราวเพื่อป้องกันน้ำขึ้นมาได้หรือไม่ เพราะขณะนี้มีหลายจังหวัดทีเดียวที่ยังเป็นอย่างนี้อยู่ โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ความคืบหน้ายังไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ฉะนั้นพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำต้องเร่ง เพราะเป็นต้นกำเนิดทั้งหมด ถ้าเรากั้นน้ำ ชะลอน้ำไว้ไม่ดี แน่นอนปลายน้ำทำยังไงก็แก้ไม่ได้ อันนี้ต้องขอให้กลับไปทบทวนทั้งหมด ถ้าจังหวัดไหนเปิดพีม็อกไม่ได้กรุณาแจ้งหน่วยงาน ศบภ.ในการอำนวยความสะดวกเรื่องนี้ทั้งหมด และนอกจากนั้นสิ่งที่เราจะได้จากพีม็อกเราจะขออนุญาตให้ผู้ว่าฯ และปลัดกระทรวงทุกกระทรวงที่รับงบประมาณไปกรุณารายงานมาในเอกสาร และถ้าใช้ระบบจีพิเอสได้ เราจะขอรายงานจากจีพีเอส เพราะจะเชื่อมผลการรายงานเข้าสู่แผนที่ส่วนกลางทั้งหมด แผนที่พร้อมหมด เช่น คลองที่ขุดเสร็จแล้วจะเป็นสีเขียว ส่วนคลองที่ขุดไม่เสร็จจะเป็นสีเหลือง คลองที่มี่การจัดสรรงบประมาณลงไปจะเป็นสีแดง ซึ่งการเดินสายในสัปดาห์หน้าจะไปดูในเรื่องนี้ ท่านผู้ว่าฯ กรุณาลงไปทำการบ้านให้ก่อน” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้เราได้บูรณาการร่วมกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศในการทำรายงานพื้นที่เข้ามา โดยจะผ่านระบบมือถือถ่ายรูป และเข้ามาที่เว็บส่วนกลาง คือใช้จีพีเอสมาร์กไว้ เพื่อที่จะได้ดูว่าจุดนี้ดีหรือไม่ดีและจะเปิดให้ช่วยกันรายงานข่าวเข้ามา เมื่อรายงานเข้ามาจะส่งข้อมูลไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่จะต้องส่งทีมไปสำรวจ เพราะบางครั้งการดูแลด้วยผู้รับเหมา อาจจะไม่มีใครสอดส่องดูแล จึงต้องใช้กลไกนี้ในการช่วยทำงานด้วย จึงขอให้ใช้ระบบนี้ดูในการป้องกันเพื่อให้งานทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย สำหรับการแก้ไขปัญหาการเยียวยาบ้านเรือนที่เสียหายจากน้ำท่วมครั้งที่แล้วให้แน่ใจว่าการเยียวยาบ้านเรือนที่เสียหายทุกจังหวัดดูแลเรียบร้อยหรือไม่ บางครั้งอาจจะต้องช่วยชี้แจงประชาชนด้วย ขอให้ผู้ว่าราชกาจังหวัดช่วงลงพื้นที่ของตนเอง และสำหรับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับ ผู้บังคับการจังหวัด (ผู้การ) ซึ่งสามารถเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ขอความกรุณาทำงานในเชิงรุกในการทำงานให้สัมพันธ์กับผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งการแจ้งข้อมูล ข่าวกรองต่างๆ วันนี้ข่าวกรอง และข้อมูลต่างๆ คนในพื้นที่ต้องทำงานมากขึ้น ไม่ใช่ว่าข่าวกรองที่จะต้องเช็คเรื่องความมั่นคงอย่างเดียวแต่สิ่งที่อยากทำ คือ เช็กเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนด้วย เพราะความเดือดร้อน สุดท้ายแล้วก็จะกลับมาที่ความมั่นคง ก็ขอว่าถ้ามีข้อมูลเบาะแสต่างๆ เหล่านี้ก็น่าจะแจ้งไปทางผู้ว่าฯ เพื่อเข้าไปแก้ไข
“ขอย้ำอีกทีว่าจะขอดูการวัดผลการทำงาน ทั้งในส่วนของผู้บังคับการจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัด จากการดูแลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จากการแก้ไขปัญหาและติดตามเรื่องระบบการบริหารจัดการน้ำ ภัยยาเสพติด ทุจริตคอร์รัปชัน ดิฉันขออนุญาตติดตามตรงนี้ ขอให้ท่านช่วยกรุณาในการถ่ายทอด ส่วนนี้ไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการทำงานอย่างเป็นเอกภาพด้วย” นายกฯ กล่าว
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงปัญหาเรื่องยาเสพติดด้วยว่า แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการปราบปรามกันไปมาก แต่อยากจะขอความร่วมมือในการเพิ่มดีกรีของการแจ้งเบาะแส การป้องกันและยกกลุ่มเสี่ยงออกจากกัน ซึ่งวันนี้ยังไม่เห็นเชิงรุกมากนัก การปราบปรามทำได้ดีแล้ว แต่อยากจะให้เน้นในเรื่องของการแยกกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะสถานศึกษาและชุมชน ก็จะทำให้ช่วยลดความเสี่ยงได้
ด้าน นายยงยุทธกล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมาตนได้ประชุมกับทางกรุงเทพมหานครทุกเขต โดยปลัด กทม.ได้ยืนยันว่าการเยียวยาเรื่องที่อยู่อาศัยจะเสร็จในวันที่ 29 ก.ค. 55 สำหรับจังหวัดต่างๆ และปริมณฑลที่ยงมีปัญหาอยู่ จะเสร็จประมาณวันที่ 5 ก.ค. ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้มารวมกันอยู่ที่นี้แล้ว ตนขอเรียนถึงเกณฑ์ในการพิจารณาโยกย้ายแต่งตั้งท่านทั้งหลายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งนายกฯ จะใช้หลักเกณฑ์ 3 ข้อด้วยกัน คือ ข้อแรกเรื่องยาเสพติด 2. เรื่องการเยียวยา 3. การใช้งบประมาณที่ได้ไป ถ้าไม่สุจริตไม่โปร่งใส และช้าก็จะเป็นเกณฑ์ในการประเมินตัวท่านแน่นอน เพราะฉะนั้น ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกท่านได้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็นและเรื่องสำคัญ และท่านายกฯ เอาจริงเอาจังแน่นอน เรื่องนี้ช้าไม่ได้ครับ เรื่องการดูแลไม่ให้น้ำท่วมในครั้งต่อไป
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวเสริมว่า จริงๆแล้วไม่ใช่เกณฑ์ที่จะผลักภาระให้กับท่านอย่างเดียว ท่านต้องไปแจ้งกับผู้ใต้บังคับบัญชาการท่านด้วย เพราะว่ากลไกนี้ทำงานกับคนหมู่มาก ต้องให้เห็นว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่เราร่วมกันเอาจริงเอาจังเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ ก็เป็นความร่วมมือที่จะขอให้ท่านลงไปถ่ายทอด เพราะการทำงานตรงนี้ ทุกส่วนมีส่วนร่วม ขอให้เราร่วมกันอย่างจริงจัง ก็จะทำให้ประชาชนเห็นว่าตรงนี้มีความมั่นคงและเป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้หารือในเรื่องของพื้นที่รุกล้ำว่า หลายปีที่ผ่านมาสิ่งที่เราเห็นอยู่สองเรื่อง และหลังจากนี้ต้องทำงานคือเรื่องของพื้นที่รุกล้ำ ซึ่งของเก่าจะต้องมีการออกกฎกติกาว่าส่วนไหนไม่ถูกต้อง แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องบูรณาการร่วมกันในการหาทางออกให้กับประชาชนที่มีการรุกล้ำไปแล้ว แต่ของใหม่อย่าให้เกิดของใหม่ กติกาท่านรู้อยู่แล้วว่าตรงไหนอยู่ได้ ตรงไหนอยู่ไม่ได้ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องท่านก็ทราบจะต้องไม่ให้เกิดแล้ว และทางกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็พร้อมที่จะทำงานร่วมกันในการหาที่อยู่ให้พี่น้องประชาชนอย่างเหมาะสม ตนเชื่อว่าในส่วนนี้เราเต็มใจและเราจะได้แก้ปัญหาระยะยาว
ส่วนการขุดลอกคูคลองเราลงทุนไปเยอะ ในปีนี้เสียค่าใช้จ่ายมาในการขุดลอกคูคลองทั้งประเทศ สิ่งที่ขออย่างแรกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพในการไล่ตั้งแต่ต้นน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ ลงมายังปลายน้ำ นำรายงานกลับเข้าสู่ระบบ พีม็อกว่าพื้นที่ส่วนไหนไม่ได้ขุดลอกคูคลองที่ตื้นเขิน เพื่อให้น้ำไหลลงไปตามแนวเส้นทางทั้งหมด และเราได้ใช้งบไปเยอะ ก็ขอให้จังหวัดทำหน้าที่ในการดูแลรักษาอย่าให้ตื้นเขินอีก จะต้องมีมาตรการในการดู อาจจะมีเครื่องมือในระยะยาว ก็ควรจะทำ อาจจะให้ทางกองทัพ ถ้ามีคน มีเครื่องมือ กองทัพอาจจะใช้คนในการทำบ้าง ถ้าเราทำทุกปีเราจะไม่เกิดปัญหานี้ ขอฝากนายยงยุทธ และกระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเอาไปดูว่าจะทำอย่างไรในเรื่องการบำรุงรักษา นอกจากนี้ ขอให้คำนึงถึงเรื่องพื้นที่การเกษตรด้วย เพราะสินค้าเกษตรต่างๆ มีปัญหาในเรื่องของน้ำค่อนข้างเยอะ สำหรับเรื่องพื้นที่เกษตรเราจะจัดทำ เวิร์คช้อปกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์จะต้องเป็นเจ้าภาพในการทำเวิร์คช้อป จะดูสินค้าเกษตร โซนนิ่งที่ให้ผลผลิตที่ดีที่สุดและการดูแลระบบน้ำต่างๆ เพื่อใช้ในการเกษตร ตรงนี้เราจะเสียเงินใช้งบประมาณ 3.5แสนล้านบาท โดยจะทำควบคู่กันไป ทั้งเรื่องของภัยน้ำท่วมและน้ำแล้ง และในส่วนของการทำแก้มลิงต่างๆ ก็จะได้ใช้สำหรับพื้นที่เกษตร และขอให้ผู้ว่าเตรียมสำรวจและดูว่าในจังหวัดสินค้าอะไรที่จะเป็นสินค้าเกษตร สร้างรายได้ของจังหวัดและให้ผลผลิตที่ดีเราะส่งเสริม เพราะเราจะไม่ส่งเสริมแบบกระจาย เช่น การปลูกพืชล้มลุก บนเขาที่ต้องถางป่าออก อย่างนี้เราจะไม่ส่งเสริมแล้ว แต่เราจะไปส่งเสริมแบบนี้ในพื้นที่ลุ่ม
ด้าน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม กล่าวว่าจากที่ตนได้ลงพื้นที่ไปจังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีปัญหาเล็กน้อยคือโครงการที่ จ.สระบุรี รับผิดชอบมีหลายโครงการ แต่บางโครงการก็อยู่นอกเหนือของทางจังหวัด ในส่วนของผู้ว่าฯ จะต้องรับผิดชอบและดูทุกโครงการหรือไม่
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า วัตถุประสงค์ที่ให้รัฐมนตรีไปตรวจในพื้นที่ก็ต้องการให้ดูเรื่องของการจ่ายเงินชดเชย 5,000 บาทว่าเรียบร้อยหรือไม่ หรือการดูแลเกี่ยวกับเงินยาบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายว่าจะมีอะไรสามารถช่วยเหลือเพิ่มเติม นอกจากนี้ รัฐมนตรีจะต้องไปดูตามเอกสารพีม็อกที่มีการเบิกงบประมาณไปทั้งหมด ซึ่งรัฐมนตรีจะไม่ดูเฉพาะในส่วนที่ทางจังหวัดเบิกไป จริงแล้ว ท่านคือซีอีโอของจังหวัด เพราะฉะนั้นต้องดูโดยรวมทั้งหมดจะเป็นของใครไม่ต้องสนใจแต่ให้รับมนตรีดูผลสุดท้ายแล้วรายงานมา เช่น เงินของกระทรวงกลาโหมที่ไปขุดลอกคูคลอง รัฐมนตรีต้องดูว่าสิ่งที่ทำนั้นทำดีหรือมความคืบหน้าหรือไม่ และรายงานกลับมาที่พีม็อกเอาเป็นว่าอะไรที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดให้รายงานมาทั้งหมด แม้ว่ารัฐมนตรีจะให้งบประมาณไปกับ อบต. อบจ. ก็ต้องรายงาน เพราะรัฐบาลจะตามัวเลขงบประมาณ ซึ่งจะทำให้เป็นเอกภาพมาที่สุด
นอกจากนี้ รัฐมนตรีก็สามารถเสนอต่อ ครม.ถึงรอยเชื่อมต่อ ซึ่งการเดินทางทัวร์ลุ่มน้ำนี้เราจะดูเน้นรอเชื่อมจังหวัด โดยจะเน้นในเรื่องของการระบาย้ำ ซึ่งจังหวัดใกล้เคียงถ้าตกลงกันได้ขอให้ตกลงเลยว่า จะเปิดทางให้น้ำไหลไปอย่างไร มิเช่นนั้นถ้ากักน้ำไว้ หรือการขวางทางน้ำก็จะเกิดปัญหาเหมือนปีที่ผ่านมาอีก ดังนั้น ผู้ว่าฯ ดูทั้งหมดไม่ต้องสนใจใคร แต่ท่านต้องรายงานว่าใครรับผิดชอบชิ้นไหนอย่างไร เข้ามาในระบบ เราจะได้ช่วยท่านได้ และจะช่วยติดตามด้วยอีกแรงหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ความจริงหวังอยู่ลึกๆ ว่าความคืบหน้าของจริงน่าจะเสร็จทัน แต่ว่ารายงานอาจจะไม่ตรง จึงอยากย้ำว่าต้องทำรายงานมาให้ตรง ไม่เช่นนั้นจะเสียชื่อจังหวัดของท่านเอง ช่วงนี้พื้นที่จะทำงานหนักหน่อย เพาะเป็นส่วนสำคัญ แต่ตนก็เห็นใจ เราจะพยายามทำงานบูรณาการให้เยอะที่สุด