ที่ประชุมครม.เห็นชอบตามข้อเสนอคมนาคม อนุมัติรฟท.-ขสมก.” กู้เงินเพิ่ม 1.1 หมื่นล้าน อ้างขาดทุนหนักจากเหตุน้ำท่วม พร้อมเคาะงบให้กรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยอีกล็อตงบ 3.9 พันล้านบาทรับน้ำท่วม ตีกรอบ 2 เดือนเชื่อ 6 นิคมอุตฯเสร็จแน่ ล็อกเป้า 2.1 ล้านไร่เป็นพื้นที่แก้มลิง แต่ปัดชี้จุดรับน้ำ สุดมั่นใจปีนี้เอาอยู่ เผย “ปู” สั่ง รมต.ลงพื้นที่ต้นน้ำรายงานสุดสัปดาห์หน้า
วันนี้ (5 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กู้เงินจำนวน 6,278 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินกิจการ โดยเงินจำนวนนี้จะนำมาใช้ในการเสริมสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากรายได้ของ รฟท.ลดลงจากเหตุการณ์อุทกภัย ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ทำให้โดยภาพรวม รฟท.ยังขาดทุนสุทธิอยู่ที่ประมาณ 1.39 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ที่ประชุมได้ขอให้ รฟท.ทำแผนการดำเนินการช่วง 5 ปีข้างหน้ามาประกอบการพิจารณาด้วย และให้โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนดวิธีการกู้ และค้ำประกันเงินกู้
นายภักดีหาญส์ กล่าวอีกว่า กระทรวงคมนาคมยังได้ขออนุมัติให้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กู้เงิน ตามมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ในวงเงินที่บรรจุอยู่ในแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2555 รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่ต้องกู้เงินเพื่อชดเชยรายได้จากการดำเนินมาตรการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.53 - 30 เม.ย.55 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,842 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนดวิธีการกู้ และค้ำประกันเงินกู้
นายภักดีหาญส์ กล่าวต่อว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในการขอโอนสัมปทานปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย ซึ่งบริษัท มิตซุยออยล์ เอ็กซ์เปอร์เรชั่น จำกัด สัญชาติประเทศญี่ปุ่น ในฐานะผู้ได้รับสัมปทานเดิม แจ้งความประสงค์ขอขอโอนสิทธิ์แปลงสำรวจเลขที่ จี4/50 ให้แก่ บริษัท ซาลามานเดอร์ เอนเนอร์จี้ บัวหลวง จำกัด สัญชาติประเทศอังกฤษ ตามมาตราพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 โดยเรื่องนี้คณะกรรมการปิโตรเลียมได้พิจารณาแล้ว เห็นควรให้อนุญาตตามที่ร้องขอแล้ว
ด้านนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติงบประมาณในส่วนการป้องกันอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งสิ้นประมาณ 3,900 ล้านบาท แบ่งเป็นการอนุมัติงบประมาณ 3,200 ล้านบาท เพื่อดำเนินการสร้างเขื่อนป้องกันนิคมอุตสาหกรรม 6 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร เขตประกอบอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) นิคมอุตสาหกรรมบางประอิน เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร และสวนอุตสาหกรรมบางกระดี ซึ่งมีแรงงานรวมกันประมาณ 2 แสนคน มีมูลค่าการส่งออก 1 ใน 3 ของยอดรวมการส่งออกทั้งหมด โดยงบประมาณจำนวนนี้คิดเป็น 2 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่อีก 1 ส่วนภาคเอกชนจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งคาดว่าอีกไม่เกิน 2 เดือนนับจากนี้ นิคมอุตสาหกรรมทั้ง 6 แห่งจะมีเขื่อนรอบนิคมป้องกันน้ำท่วมได้
นายปลอดประสพ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้งบประมาณอีก 610 ล้านบาทนั้น ได้อนุมัติเพื่อดำเนินการปรับโครงสร้างพื้นฐาน ให้สามารถควบคุมน้ำได้ทั้งเข้าและออกในพื้นที่รับน้ำ สำหรับพื้นที่แก้มลิงรับน้ำ 2.1 ล้านไร่ ซึ่งสามารถเก็บกักน้ำได้ 5,100 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยแบ่งออกเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 9 แสนไร่ และนอกเขตชลประทาน 1.2 แสนไร่ ทั้งนี้พื้นที่นอกเขตชลประทานที่กำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำนั้น อยู่ในพื้นที่ต่ำมากซึ่งหมายความว่า ปกติจะประสบกับสถานการณ์น้ำท่วมอยู่แล้ว ขณะที่เกษตรกรเองก็ไม่เพาะปลูกในฤดูน้ำอยู่แล้ว
นายปลอดประสพ กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรียังได้แบ่งงานรัฐมนตรีทั้งหมดได้ไปติดตามควบคุมการจัดการน้ำเป็นรายจังหวัด เพื่อบริหารทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดยเป็นการมอบพื้นที่ตามความเหมาะสม โดยตน ในฐานะประธาน กบอ. นายนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะดูภาพรวมในพื้นที่ รวมไปถึงกำหนดการของนายกรัฐมนตรีเพื่อลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในช่วง 2 สัปดาห์นี้ โดยจะนำคณะไปติดตามการเตรียมความพร้อมเป็นรายจังหวัดตั้งแต่ภาคเหนือตอนบน ถึงภาคกลางตอนล่าง เพื่อตรวจสอบความพร้อมระบบเตือนภัยการเก็บน้ำ ซับน้ำ ระบายน้ำ ดูระบบปฏิบัติการซิงเกิลคอมมานด์ ซึ่งถ้าเป็นไปได้จะมีการสาธิตการสั่งการเพื่อซักซ้อมระบบก่อน ทั้งนี้ยืนยันรัฐบาลมีการเตรียมความพร้อมรับมือหากสถานการณ์เกิดขึ้นจริง
ผู้สื่อข่าวถามถึงการกำหนดอัตราชดเชยสำหรับพื้นที่รับน้ำหรือแก้มลิง นายปลอดประสพ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการหารือเรื่องตัวเลข เนื่องจากพื้นที่รับน้ำ 1.2 แสนไร่นอกเขตชลประทานนั้นเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมอยู่แล้ว และไม่มีการทำการเกษตรหรือดำเนินการใดๆ ดังนั้นคงไม่จำเป็นต้องชดเชยในส่วนนี้ คงเหลือแต่พื้นที่ 9 แสนไร่ในเขตชลประทานที่ต้องจ่ายชดเชย และถ้าจ่ายก็จะดำเนินการตามสัดส่วนพื้นที่ซึ่งมีการแบ่งไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งจะมีการบอกแจ้งเป็นช่วงๆหากมีการใช้พื้นที่
“เชื่อว่าปริมาณน้ำในปีนี้จะยังมากอยู่ แต่สามารถบริหารจัดการได้ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ยืนยันจะไม่เหมือนปีที่แล้วอย่างเด็ดขาด หากจะท่วมก็เป็นแค่การท่วมขังในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น” นายปลอดประสพ ระบุ
ขณะที่ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ปรารภก่อนเข้าวาระการประชุมถึงสถานการณ์น้ำ โดยสั่งการให้รัฐมนตรีทั้งหมดลงพื้นที่เพื่อติดตามและทำความเข้าใจกับร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่และระดับกรมในการดำเนินโครงการในแผนงานบริหารจัดการน้ำทั้งแผนเร่งด่วนและระยะยาว รวมถึงรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะของคนในพื้นที่ เพราะแม้ว่าการลงพื้นที่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ผ่านมาพบว่าบางโครงการมีความคืบหน้ามาก แต่บางโครงการมีความคืบหน้าน้อย จึงต้องเร่งรัดเพื่อให้เสร็จทันช่วงฤดูฝน
นายอนุสรณ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับรัฐมนตรีที่ลงพื้นที่ต่างๆ อาทิ ในกลุ่มภาคเหนือตอนบน นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.กระทรวงต่างประเทศ ลงพื้นที่ จ.ลำพูน นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.กระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ จ.ลำปาง ภูมิ สาระผล รมช.กระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ จ.เชียงราย นางนลินี ทวีสิน รมต.ประจำสำนักนายกฯ ลงพื้นที่ จ.พะเยา นายศักดา คงเพชร รมช.กระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ จ.น่าน และนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ลงพื้นที่ จ.แพร่ โดยเมื่อรัฐมนตรีลงพื้นที่ไปแล้วต้องรายงานผลมายังน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 15 มิ.ย.นี้จากนั้นจะรวบรวมส่งเข้าที่ประชุม ครม.สัญจรในวันที่ 19 มิ.ย.ต่อไป