ยิ่งลักษณ์และชาวคณะแถลงผลการทัวร์นกขมิ้น เผยพอใจที่เร่งรัดโครงการ แต่ผู้ว่าฯ ยังต้องแก้ปัญหาทุกภาคส่วน ขอกำลังใจคนทำงาน ชี้น้ำไม่ท่วมเลยคงยาก ต้องดูน้ำฝนและพายุอีก 3 ลูก ปัดพิสูจน์ฝีมือรัฐบาล อ้างรอผลออกมาก่อน “ปลอดประสพ” โวประชาชนไม่ต้องกังวล แต่หนักใจพื้นที่ใหญ่เชื่อมต่อระบบซิงเกิ้ล อ้อมแอ้มไม่ตอบระบายน้ำผ่านสุพรรณฯ วอน กทม.อย่าปิดกั้นคลองเปรม-แสนแสบ-ลาดพร้าว ขู่อีก 2 สัปดาห์สอบงบรัฐหนุนป้องกันน้ำท่วม
วันนี้ (14 มิ.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่เขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ตรวจเยี่ยมสถานการณ์ความพร้อมในการรองรับน้ำของเขื่อนภูมิพล เพื่อประเมินความสมดุลที่จะป้องกันอุทกภัยร่วมกับองค์ประกอบในส่วนอื่น โดยผู้ว่าราชการจังหวัดตากเป็นผู้ชี้แจงว่า เขื่อนภูมิพลมีความจุสามารถรองรับน้ำได้ 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำรักษาระดับอยู่ที่ประมาณ 46 เปอร์เซนต์ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 54 เปอร์เซนต์ หรือประมาณ 7,200 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ในช่วงนี้ให้มีการชะลออัตราการปล่อยน้ำของเขื่อนภูมิพล ที่จะไหลลงสู่แม่น้ำยม เพื่อสร้างความสมดุลกับพื้นที่ปลายน้ำอื่นๆ จากนั้นเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ปกติ ก็จะให้มีการปล่อยน้ำให้มากขึ้น เพื่อที่จะรองรับสถานการณ์ในเดือนกรกฎาคม รวมถึงพายุอีก 3 ลูกที่จะเข้ามาด้วย
จากนั้นเวลา 11.15 น. บริเวณสันเขื่อนภูมิพล นางสาวยิ่งลักษณ์ พร้อมคณะประกอบด้วย นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.), นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.กระทรวงพลังงาน, นายชัชชาติ สิทธิ์พันธุ์ รมช.กระทรวงคมนาคม, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายรอยล จิตรดอน ประธานคณะอนุกรรมการติดตามวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ ใน กบอ.ร่วมกันแถลงข่าวถึงผลการทัวร์นกขมิ้น หรือทัวร์ลูกน้ำ ครั้งที่ 2 ซึ่งใช้เวลา 4 วัน ว่า วัตถุประสงค์ของการลงพื้นที่ครั้งนี้ ก็เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ต่อเนื่องจากที่ได้สั่งการให้ ครม.ทั้ง 31 คน ลงพื้นที่ 31 จังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ และการติดตามงบประมาณที่ได้จัดสรรลงมา เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าแต่ละพื้นที่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งได้รับรายงานจากการติดตาม พบว่ายังมีบางพื้นที่ต้องลงไปทำความเข้าใจเพิ่มเติมและเร่งรัด ทั้งนี้ ในระบบการจัดเก็บข้อมูล (พรีม็อกซ์) และกลไกของมหาวิทยาลัยในการจัดเก็บภาพถ่าย ตนและคณะทำงานได้เลือกในจุดที่ลงไปรอยต่อของจังหวัดและบางจุดที่ต้องการวิเคราะห์พื้นที่จริงเพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภาพรวมเห็นว่าการติดตามแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ มีการติดตามเรื่องการดูแลป้องกัน การสร้างพนัง การซ่อมแซม เพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อม เพื่อปกป้องพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ในส่วนเศรษฐกิจและประชาชน ในส่วนการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน โดยรวมสิ่งก่อสร้างและการขุดลอกคูคลองทำได้ 60-70% ทั้งประเทศ ซึ่งความคืบหน้าอยู่กลางน้ำและปลายน้ำ ส่วนพื้นที่ต้นน้ำนั้นยอมรับว่าช้ากว่าแผน แต่ก็ได้มีการเร่งรัดในพื้นที่เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน บางครั้งอาจเลยกำหนดเวลาไปบ้าง แต่สิ่งที่ต้องการ คืออยากให้ทุกส่วนชะลอน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อปรับความสมดุลปลายน้ำ เพื่อการรองรับเต็มที่ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดรับปากทั้งหมดว่าจะเสร็จทันตามกำหนด โดยได้มีการเร่งรัดปรับวิธีการทำงานใหม่ มีการเสริมอุปกรณ์ ทีมงานจากส่วนกลาง และมอบหมายให้กองทัพลงพื้นที่ช่วยเร่งรัดให้เสร็จตามกำหนดการตามที่ได้อนุมัติงบประมาณลงไป
สำหรับแนวทางของพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งจะเป็นส่วนการชะลอน้ำให้มากที่สุด ได้มีการเร่งรัดทำฝายชะลอน้ำ ซึ่งมีทั้งฝายกึ่งถาวรและฝ่ายถาวร รวมทั้งหมดฝายกึ่งถาวร จำนวน 2,200 แห่ง ฝายถาวร 610 แห่ง ใน 6 ลุ่มน้ำหลัก คาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ รับเป็นเจ้าภาพ โดยจะใช้ระบบจีพีเอสในการตรวจทั้งหมด เพื่อให้แน่ใจว่าการติดตั้งทั้งหมดมีการบันทึกเป็นข้อมูลเพื่อดูว่าอัตราการชะลอน้ำเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นแผนระยะสั้น ส่วนในระยะยาวจะมีการทำเวิร์คช็อปการกำหนดพื้นที่และพันธุ์ไม้ รวมทั้งวิธีการปลูกป่าเพื่อชะลอน้ำ จะทำตั้งแต่พรุ่งนี้ ในพื้นที่ของต้นน้ำทั้งหมด และจะบูรณาการลงในรายจังหวัดร่วมกับภาคประชาชนและเอกชน ในส่วนพื้นที่กลางน้ำ คือการเชื่อมแม่น้ำยมไปแม่น้ำน่าน ซึ่งปริมาณน้ำในแม่น้ำยมสายเก่า ความสามารถในการระบายน้ำยังไม่สามารถรองรับได้เท่ากับปริมาณนต้นน้ำที่ไหลลงมา ก็จะปรับ หรือพร่องน้ำในเขื่อนเพื่อปรับสมดุล ส่วนระยะยาวต้องมีการบูรณาการทั้งหมด และหาพื้นที่แก้มลิงเพื่อรับน้ำในส่วนการระบายน้ำยม แต่ระยะสั้นก็มีการขุดลอกคูคลองเพื่อการระบายน้ำ
สำหรับพื้นที่ปลายน้ำนั้น ในเรื่องการขุดลอกคูคลองได้ดำเนินการแล้ว มีการเพิ่มเครื่องสูบน้ำในจุดที่ยังท่วมขัง เพิ่มจุดติดตั้งกล้องซีซีทีวี ซึ่ง หลักในการทำงานคือการระบายน้ำนั้น จะยึดหลักความสมดุล เพราะถ้าระบายน้ำมากเกินไปก็จะมีปัญหาที่ปลายทาง คณะทำงานจึงต้องทำงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งปัจจุบันระบบซิงเกิ้ลคอมมานด์ (Single Command) เพื่อการจัดระบบข้อมูลก็มีความพร้อม โดยเฉพาะการส่งต่อไปยังระบบเตือนภัย ในส่วนของการซ้อมแผนเตือนภัย ตนได้เน้นย้ำให้มีการซ้อมเตือนภัยในทุกพื้นที่ กำหนดจุดอพยพประชาชน โดยเฉพาะจุดที่มีความเสี่ยงต่างๆ รวมทั้งการซ้อมของนิคมุตสาหกรรมและกรุงเทพมหานคร ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมก็มีแนวทางในการป้องกันทั้งในส่วนของนิคมฯ และโรงงานอุตสาหกรรมก็จะมีการทำกันหลายชั้น ทั้งพนังกั้นน้ำของนิคมฯ เอง และพนังในส่วนของจังหวัด มีการยกระดับถนนเพื่อเป็นพนังอีกชั้นหนึ่ง แต่ทั้งหมดก็ได้มีการคำนึงถึงการระบายน้ำออกด้วย เบื้องต้นหลายคนอาจจะเห็นการก่อสร้างบางอย่างยังไม่แล้วเสร็จ เพราะขณะนี้ถือว่าอยู่ระหว่างครึ่งทางของการทำงานและจะมีการติตตามเป็ระยะ ซึ่งพื้นที่ต้นน้ำจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. พื้นที่กลางน้ำในเดือน ก.ค.และ พื้นที่ปลายน้ำไม่เกินเดือน ส.ค.
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการเดินสายลงพื้นที่พอใจกับผลการดำเนินการแค่ไหน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความต้องการกับความคาดหวังของประชาชนไม่เคยเพียงพอ ทั้งนี้การทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือว่าน่าพึงพอใจในระดับของความตั้งใจในการเร่งรัดการทำงาน แต่บางส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดก็ต้องทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนติดตามการแก้ไขปัญหาของทุกภาคส่วน ไม่ใช่มองแค่ในจังหวัดเท่านั้น ซึ่งได้มีการปรับในรายละเอียดแล้ว ซึ่งภาพรวมถือว่าเป็นไปตามแผนแต่บางจุดก็มีสาระในรายละเอียดที่ต้องดูแลแต่คิดว่าทันเวลา เมื่อถามว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดส่วนใหญ่เชื่อว่าเสร็จทัน ถ้าไม่เสร็จจะดำเนินการอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ใช่แค่รับรายงาน แต่เราต้องติดตาม ซึ่งเรามีระบบการติดตามโดยไม่สามารถรอแล้วค่อยมาบอกว่าไม่เสร็จทำอย่างนั้นไม่ได้ บางจุดที่ช้ากว่ากำหนดก็มีการปรับ และขอความร่วมมือจากผู้รับงาน ขอความร่วมมือจากส่วนกลางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งถ้าไม่สำเร็จก็จะมีการประเมินผล ต่อข้อถามว่าจะมีการคาดโทษหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อแก้ไขงานให้เสร็จไม่ได้มุ่งมาจับผิดในรายบุคคล รัฐบาลมุ่งติดตามงานให้เสร็จ เพื่อดูแลประชาชน
เมื่อถามว่าใกล้ที่จะถึงฤดูฝนแล้วแต่ยังมีหลายโครงการที่ยังล่าช้า นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ใช่จุดใหญ่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นสาระที่มีการติดตามแล้ว ในส่วนของจุดใหญ่ๆ ก็มีการปรับเพื่อให้เกิดความสมดุลแล้ว เช่น การปรับระดับการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน การขดลอกคูคลอง เหลือเพียงการเร่งพัฒนาพื้นที่แก้มลิงต่างๆ เท่านั้น ซึ่งจะมีการติดตามให้ทันตามกำหนดเวลา เมื่อถามว่าคิดว่าโครงการต่างๆ จะเสร็จทันหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องทำและเร่งรัดให้ทัน ซึ่งทุกกระทรวงพร้อมลงไปทำงานให้เสร็จ และเชื่อว่าทุกคนมีความรับผิดชอบ ทั้งนี้ก็อยากขอกำลังใจให้คนทำงานด้วย เพราะทุกคนบากบั่นฝ่าฟันอุปสรรคในการแก้ปัญหา เพราะงานทั้งหมดเป็นงานทั้งประเทศแต่มีเวลาไม่กี่เดือน
“จะให้บอกว่าน้ำหายหมดจากทุกพื้นที่ ไม่มีท่วมเลยคงยาก เพราะเรายังไม่รู้ปริมาณน้ำฝนและพายุอีก 3 ลูก ว่าจะมีมาแค่ไหน เราจะเห็นใกล้เคียงขึ้นประมาณสิ้นเดือน ก.ค.นี้ อย่างไรก็ตามสถานการณ์ต้องดีขึ้นแน่นอน เพราะเรามีการดำเนินการทั้งการทำพนังกั้นน้ำ การระบายน้ำ ทำให้พื้นที่ท่วมขังลดลง ยอมรับว่าจุดเสี่ยงอาจมีพื้นที่ที่อยู่ใกล้คลอง หากความสามารถในการระบายน้ำเกินความสามารถ อาจทำให้น้ำล้นออกมาอย่างที่ จ.สุโขทัยที่เขื่อนดินของท้องถิ่นแตก และวันนี้รัฐบาลห่วงพื้นที่ภาคใต้ เพราะปริมาณฝนมีมาก ขณะนี้ให้มีการเตรียมข้อมูลแล้วและตนก็จะลงไปดูในพื้นที่ด้วยตนเอง” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ปัจจุบันมีแนวคันพระราชดำริในการป้องกันมากขึ้น จากเดิมมีเพียงแนวเดียว วันนี้มีการสร้างความแข็งแรงของแนวป้องกัน มีการป้องกันในส่วนของคลองระพีพัฒน์อีกชั้นหนึ่ง จุดเสี่ยงต่างๆ ส่วนกลางก็เข้ามาเร่งรัดให้เสร็จ ขุดลอกคูคลองก็ดำเนินการไปเกือบทั้งหมด ความสามารถการระบายน้ำในคลองแตกต่างจากปีที่แล้วแน่นอน การระบายเร็วขึ้น มีการจุดป้องกันน้ำท่วม และหากมีปริมาณน้ำมากก็จะไม่ท่วมขังนาน สถานการณ์ยืนยันดีขึ้น แต่ไม่สามารถบอกได้ไม่ท่วมเลย เพราะเป็นปัญหาในพื้นที่ หากพื้นราบน้ำไม่ไปก็ต้องตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่ม อย่างปทุมธานีมีการติดตั้งเพิ่มแล้ว ประตูจุฬาลงกรณ์ก็ติดตั้งเพิ่ม สามารถระบายน้ำได้ 3 เท่า เราทำทุกจุดเท่าที่เวลารองรับ แต่ระยะยาวก็มีแผนในการดำเนินการแล้วเช่นกัน
เมื่อถามว่าการแก้ปัญหาครั้งนี้ เท่ากับเป็นการแสดงบทบาทและภาวะผู้นำนายกฯ และรัฐบาล หากยังเกิดปัญหาขึ้นอีกจะมีการรับผิดชอบอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภัยธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ประชาชนพิจารณา ซึ่งวันนี้งานทั้งหมดนายกฯ ครม.ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือ และการช่วยเหลืออย่างมาก ซึ่งบางอย่างมีปัจจัยที่ยากมากก็ต้องขอความเห็นใจ วันนี้จะขอทำหน้าที่อย่างเต็มที่และขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในการช่วยกันเพื่อแก้ไขปัญหา เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรกับคำพูดที่ว่า การบริหารจัดการน้ำครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์ฝีมือรัฐบาล นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้ผลออกมาก่อน การทำงานของรัฐบาลนั้นประชาชนจะเป็นผู้พิจารณา เพราะเราก็ทำงานอย่างเต็มที่ ทุกวันนี้เราเปิดรับทุกความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงแก้ไข เพราะปัญหาในเรื่องของน้ำ ไม่ใช่แค่วาระของรัฐบาล แต่เป็นวาระของประเทศ
ด้านนายปลอดประสพ กล่าวว่า หน้าที่ของ กบอ.คือทำให้ประชาชนไม่ต้องวิตกกับน้ำท่วมอีก ด้วยสิ่งที่ทำไปแล้ว 5 อย่าง คือ 1.เรามีข้อมูลทางวิชาการเพียงพอต่อการตัดสินใจ 2. เรารับข้อมูลแบบปัจจุบันทันด่วน หรือเรียลไทม์จากทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง ไม่มีอะไรซ่อนเร้น 3. เรามีระบบการคำนวณที่จะพยากรณ์ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นใน 1 สัปดาห์ ซึ่งเพียงพอต่อสำหรับการเตือนภัย 4. เรามั่นใจว่าจะเตือนภัยให้ท่านปลอดภัย สบายใจ และสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต และ 5.ในระยะยาว เราจะทำแผนการและวิธีปฎิบัติที่ยั่งยืน เพื่อนำน้ำมาใช้ประโยชน์ ไม่ใช่กลัวน้ำเพราะเห็นว่าเป็นโทษ สิ่งที่ตนหนักใจมีเรื่องเดียว คือพื้นที่ในการบริหารจัดการเป็นพื้นที่ใหญ่ มีขอบเขตจังหวัด มีหลายลำน้ำ ที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งยังเป็นจุดอ่อนอยู่ ดังนั้นจะต้องหาทางทำให้ทุกพื้นที่มาเชื่อมต่อกันเป็นแผ่นเดียว เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการแบบซิงเกิ้ล หรือเป็นจุดเดียวจริงๆ
เมื่อถามถึงการปรับปรุงแม่น้ำท่าจีนซึ่งเคยระบายน้ำได้น้อยในช่วงน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 นายปลอดประสพ กล่าวว่า มีการขุดลอกสันดอนอยู่ตลอดเวลา ทำให้เชื่อว่าในปีนี้จะระบายน้ำได้ดีขึ้น เมื่อถามต่อถึงการระบายน้ำผ่านบางจังหวัดอย่าง จ.สุพรรณบุรี ที่เคยทำได้ไม่เต็มที่ในปีที่แล้ว ปรากฎว่านายปลอดประสพได้แต่พูดค้างว่า “เอ่อ..” ก่อนที่นางสาวยิ่งลักษณ์ชิงจะโยนให้นายรอยลเป็นพูดตอบแทน โดยนายรอยล กล่าวในเชิงวิชาการว่า ในส่วนของแม่น้ำท่าจีนมีการขยายคลองลัด ทำให้การระบายน้ำทำได้ดีขึ้น โดยเชื่อว่าจากเดิมที่เคยระบายได้เพียง 1-2 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน จากขีดความสามารถ 6 ล้าน ลบ.ม. จะสามารถระบายน้ำได้ดีขึ้น
นายรอยล อธิบายเรื่องระดับน้ำในเขื่อนสำคัญต่างๆว่า การระบายน้ำจากเขื่อนสำคัญ ในปีนี้ดูเรื่องความสมดุล เพราะแต่ละเชื่อนก็มีฝนตกไปเหมือนกันเลย ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ที่เคยน้ำน้อย ปีนี้กลับมีน้ำมากขึ้น เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ก็มีน้ำมากเช่นกัน แต่การระบายน้ำต้องระวัง ต่างจากเขื่อนสิริกิติ์ เพราะหากระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลมากไป จะส่งผลกระทบต่อการทำนา สำหรับเชื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.สระบุรี ที่ยอมรับว่าเป็นห่วงก็จะพยายามคงปริมาณน้ำไว้ไม่ให้เกินร้อยละ 20 จนกระทั่งสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ส.ค. เพราะหลังจากนั้น น้ำจะฮวบเข้ามาทันที อย่างปีที่แล้วมีถึงวันละ 200 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เขื่อนป่าสักฯ รับน้ำได้เต็มที่เพียง 1,000 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นแม้น้ำจะล้นมาก แต่ก็น้อยลงบ้าง สำหรับปริมาณฝนปีนี้ เท่าที่คาดการณ์ แม้จะมากว่าค่าเฉลี่ย แต่จะน้อยกว่าปีที่แล้ว คือราว 1,500 มม. ซึ่งหากฝนตกมาขนาดนั้นอาจจะเกิดน้ำท่วมนิดหน่อย โดยเฉพาะในลุ่มน้ำยม
ส่วน นายชัชชาติ กล่าวถึงการทำพนังกั้นน้ำเพื่อป้องกันพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่ปลายน้ำ ว่า กระทรวงคมนาคมทำพนังกันน้ำโดยยึดสมมุติฐานว่าน้ำมาเท่าปีที่แล้วเป็นหลัก โดยจะกั้นพื้นที่สำคัญเป็น 2 วง วงใหญ่ เหมือนไข่แดง รอบแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ กทม.ไปจนถึงเชื่อนป่าสักฯ และวงเล็ก เหมือนไข่แดง รอบนิคมฯ ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดจะเสร็จสิ้นในเดือน ส.ค.นี้ เชื่อว่าจะไม่ทำให้นิคมฯ ถูกน้ำท่วมอีก
สำหรับการป้องกันน้ำท่วม กทม. นายปลอดประสพ กล่าวว่า ไม่เถียงว่าระบบชลประทานใน กทม.มีไว้เพื่อรองรับน้ำฝน แต่ก็มีอยู่หลายคลองที่ใช้เป็นทางน้ำผ่าน อาทิ คลองเปรมประชากร คลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว จึงอยากเรียกร้องจาก กทม.ว่าอย่าไปปิดกั้นทางน้ำผ่านนั้นๆ นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ กทม.ใช้งบประมาณที่รัฐบาลสนับสนุนไปดำเนินโครงการป้องกันน้ำท่วมต่างๆ ให้แล้วเสร็จด้วย เพราะอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์ตนจะลงไปตรวจสอบ