xs
xsm
sm
md
lg

พายุสามลูกจ่อถล่ม-ลุ่มน้ำยมจุดเสี่ยง-“มาร์ค”ซัดเอาไม่อยู่!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- “ปู” ปิดทริป ลั๊นลา ! ทัวร์ลุ่มน้ำ เชื่อแผนป้องกันน้ำท่วมคืบ 60-70%มั่นใจไม่แรงเท่าปี 54 รอประเมินน้ำฝนจากพายุสามลูก เอาอยู่หรือไม่ เผยลุ่มน้ำยมจุดเสี่ยง “มาร์ค”ซัดไม่มีความเปลี่ยนแปลง เอกชนกังวลยอมลงทุนป้องกันตนเอง ผวา7วันสุโขทัย-พิดโลกทะลัก

วานนี้ (14 มิ.ย.55) ภารกิจวันที่สี่ ในการลงพื้นที่เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ปลายน้ำ กลางน้ำ และต้นน้ำ หรือทัวร์นกขมิ้น ครั้งที่ 2 ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการติดตาม และลงพื้นที่ จ.ตาก และจ.เชียงใหม่
เวลา 11.15น. บริเวณสันเขื่อนภูมิพล น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมคณะ ร่วมกันแถลงผลการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการเตรียมการป้องกันอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำและ ปลายน้ำ ว่า จากการติดตามในภาพรวมทั้งประเทศมีความคืบหน้า 60 -70% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นส่วนของพื้นที่กลางน้ำและปลายน้ำ ส่วนในพื้นที่ต้นน้ำยังมีบางพื้นที่ที่ยังล่าช้า จึงต้องเร่งรัดและทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าต้องชะลอน้ำให้มากที่สุด ซึ่งทุกจังหวัดรับปากที่จะเร่งรัดให้ทันในเดือนมิ.ย. พร้อมสั่งการหน่วยงานต่างๆรวมถึงกองทัพให้การสนับสนุนเต็มที่ให้ทันตามกำหนด

"ได้ย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวในพื้นที่ต้นน้ำต้องทำความเข้าใจว่าการดำเนินการทุกโครงการต้องแล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย. และพื้นที่กลางน้ำต้องแล้วเสร็จภายในเดือนในเดือนก.ค. ส่วนพื้นที่ปลายน้ำต้องแล้วเสร็จภายในเดือนส.ค." นายกฯ กล่าว

ในส่วนของพื้นที่กลางน้ำเน้นการเชื่อมโยงและการผันน้ำจากแม่น้ำยมสู่แม่น้ำน่าน โดยเฉพาะแม่น้ำยมสายเก่าที่ต้องขุดลอกให้สามารถรับน้ำได้เต็มประสิทธิภาพที่ถือเป็นแผนระยะสั้น ขณะที่ในระยะยาวต้องหาพื้นที่แก้มลิงและขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติ และติดตั้งประตูระบายน้ำเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการเกษตร

ขณะที่พื้นที่ปลายน้ำได้มีการขุดลอกคูคลองไปแล้วพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในจุดที่น้ำท่วมขังรวมถึงการติดตั้งกล้องซีซีทีวี เพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ ส่งเข้าศูนย์ระบายน้ำแห่งชาติแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะเชื่อมโยงโดยตรงกับระบบซิงเกิล คอมมานด์เซ็นเตอร์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำภาพรวม โดยจะยึดการระบายน้ำแบบสมดุลเป็นหลัก พร้อมได้สั่งการให้ปรับระบบเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงฝึกซ้อมแผนเตือนภัยโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง นิคมอุตสาหกรรม และกรุงเทพมหานคร

ส่วนการลงพื้นที่สำรวจความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรม แต่ละนิคมฯ ได้ทำพนังกั้นน้ำรอบนิคมฯ ในส่วนของจังหวัดก็มีการทำคันป้องกันอีกชั้น ประกอบกับการยกระดับถนนให้สูงขึ้นถือเป็นคันป้องกันน้ำให้กับจังหวัดอีกชั้น แต่ก็ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในการระบายน้ำควบคู่กัน

ขณะเดียวกันย้ำว่า แผนป้องกันอุทกภัยปีนี้จะต้องแล้วเสร็จตามกำหนดการทุกพื้นที่ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าน้ำจะไม่ท่วมเลย เพราะเป็นภัยธรรมชาติรวมถึงจะต้องมีการประเมินปริมาณน้ำฝนจากพายุสามลูก ว่ามีมาก น้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่าสถานการณ์น้ำปีนี้จะไม่รุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
ด้านนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว่า สิ่งที่หนักใจมีเรื่องเดียว คือพื้นที่ในการบริหารจัดการเป็นพื้นที่ใหญ่ มีขอบเขตจังหวัด มีหลายลำน้ำ ที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งยังเป็นจุดอ่อนอยู่ ดังนั้นจะต้องหาทางทำให้ทุกพื้นที่มาเชื่อมต่อกันเป็นแผ่นเดียว เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการแบบ Single (เป็นจุดเดียว)

ผู้สื่อข่าวถามถึงการระบายน้ำผ่านบางจังหวัด อย่าง จ.สุพรรณบุรี ที่เคยทำได้ไม่เต็มที่ในปีที่แล้ว ปรากฎว่านายปลอดประสพได้แต่พูดค้างว่า “เอ่อ..” ก่อนที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ชิงโยนให้นายรอยลเป็นพูดตอบแทน โดยนายรอยล จิตรดอน กล่าวในเชิงวิชาการว่า ในส่วนของแม่น้ำท่าจีนมีการขยายคลองลัดทำให้การระบายน้ำทำได้ดีขึ้น โดยเชื่อว่า จากเดิมที่เคยระบายได้เพียง 1-2 ล้านลบ.ม.ต่อวัน จากขีดความสามารถ 6 ล้านลบ.ม. จะสามารถระบายน้ำได้ดี ขึ้น

สำหรับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.นครนายก ที่ยอมรับว่าเป็นห่วง ก็จะพยายามคงปริมาณน้ำไว้ไม่ให้เกินร้อย ละ 20 จนกระทั่งสัปดาห์สุดท้ายของเดือนส.ค. เพราะหลังจากนั้น น้ำจะฮวบเข้ามาทันที อย่างปีที่แล้ว มีถึงวันละ 200 ล้านลบ.ม. ขณะที่เขื่อนป่าสักฯ รับน้ำได้เต็มที่เพียง 1,000 ล้านลบ.ม. ดังนั้นแม้น้ำจะล้นมาก แต่ก็น้อยลงบ้าง

“สำหรับปริมาณฝนปีนี้ เท่าที่คาดการณ์ แม้จะมากว่าค่าเฉลี่ย แต่จะน้อยกว่าปีที่แล้ว คือราว 1,500 มม. ซึ่งหากฝนตกมาขนาดนั้นอาจจะเกิดน้ำท่วมนิดหน่อย โดยเฉพาะในลุ่มน้ำยม” นายรอยลกล่าว
สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯมีรายงานว่า มีการขุดลอกคูคลองแล้วเสร็จกว่า 90 %

นายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับพื้นที่รับน้ำ มีเพียงแค่การติดตามความคืบหน้าในการใช้เงินงบประมาณ ติดตามเรื่องการขุดลอกคูคลอง หรือการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับพื้นที่รับน้ำซึ่งไม่มีการประกาศให้ชัดทำให้บริหารไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องประกาศล่วงหน้ากำหนดกติกาให้ชัดว่าจะมีการชดเชยเยียวยาให้ประชาชนอย่างไร หากมีการใช้พื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่รับน้ำ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการบริหารจัดการไปจากเดิม

นอกจากนี้การที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่ให้แต่ละจังหวัดกั้นน้ำกันเอง แสดงว่ายังไม่ได้บูรณาการตกลง กันระหว่างจังหวัดว่าจะมีการระบายน้ำผ่านจากจังหวัดต่าง ๆ เข้ามาอย่างไร จะมีกี่แผน ซึ่งหากในปีนี้ปริมาณน้ำฝนเท่ากับปีที่แล้วก็น่าเป็นห่วงมาก เพราะยังไม่เห็นความแตกต่างที่เป็นรูปธรรมในการบริหารของรัฐบาล

**เอกชนกังวลยอมลงทุนป้องตนเอง
 

นายอภิชาต ลี้อิสสระนุกูล รองประธานกรรมการบริหารบริษัท ไทยแสตนเลย์ การไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯมีโรงงานอยู่พื้นที่จ.ปทุมธานีและอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมดังนั้นเพื่อความมั่นใจจึงต้องลงทุน 100 ล้านบาทในการก่อสร้างคันคอนกรีตรอบพื้นที่โรงงานโดยเร่งที่จะก่อสร้างให้เสร็จภายในส.ค.นี้เพื่อความมั่นใจยิ่งขึ้นเพราะคงไม่สามารถที่จะรอการช่วยเหลือจากภาครัฐได้เพียงอย่างเดียว

นายทวิช เตชะนาวากุล กรรมการผู้จัดการบริษัทนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า(ไฮเทค)กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลมีศูนย์เตือนภัยที่ชัดเจนกว่านี้เพราะน้ำจากภาคเหนือเริ่มมาแล้วเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ มีการเตรียมตัวซึ่งส่วนใหญ่ขณะนี้เป็นการรับรู้ผ่านข่าวสารจากการรายงานของสื่อมากกว่า

**โต้งการันตีปีนี้เอาอยู่ฟื้นเชื่อมั่นลงทุน
 

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในการสัมมนาเรื่อง”ก้าวใหม่การลงทุนหลังวิกฤติอุทกภัย”ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ว่า เงินกู้สนับสนุนอีก 1 ส่วนในการก่อสร้างผ่านธนาคารออมสินที่รัฐเตรียมวงเงินไว้ 15,000 ล้านบาทอัตราดอกเบี้ย 0.01% รัฐบาลพร้อมขยายระยะเวลาปล่อยกู้ออกจาก 7 ปี เป็น 15 ปี ปลอดชำระเงินต้นในช่วง 5 ปีแรกโดยจะเสนอ ครม. เร็ว ๆ นี้
“ เงินออมสินคงจะปล่อยกู้ได้ในไม่ช้านี้และเฉพาะ 6 นิคมฯคงใช้ประมาณ 2,000 ล้านบาทเป้าหมายที่วางไว้ 1.5 หมื่นล้านบาทคงจะไม่ถึงและที่ผ่านมาผู้ประกอบการนิคมฯร้องเรียนที่ถูกนำท่วมมีการนำค่าสินไหมทดแทนมาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเก็บเงินภาษีรายได้นิติบุคคลเรื่องนี้ก็พร้อมเจรจากับกรมสรรพากร เพื่อลดหย่อนภาระดังกล่าว”นายกิตติรัตน์กล่าว
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า มีบริษัทที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยได้รับการอนุมัตินำเครื่องจักรมาทดแทนเครื่องที่เสียหาย 426 โครงการ มูลค่า 97,176 ล้านบาท และยังมีโครงการลงทุนใหม่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ลงทุนถึง 78 โครงการ มูลค่าการลงทุน 41,489 ล้านบาท

**ผวา7วันสุโขทัย-พิดโลกทะลัก
 

วานนี้ (14 มิ.ย.) นายธีรพงศ์ เพ็ชรพงษ์ นายก อบต.รังนก อ.สามง่าม จ.พิจิตร เปิดเผยว่า แม่น้ำยมเอ่อล้นตลิ่ง ทั้งมีน้ำป่าจากเขต จ.กำแพงเพชร และ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ไหลเข้ามาท่วมนาข้าวในเขต ต.รังนกแล้วนับหมื่นไร่ ชาวนาพยายามระดมเครื่องสูบน้ำที่ใช้ในการเกษตรเมาเร่งสูบน้ำ แต่ขาดเงิน ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือประตูระบายน้ำก็มีขนาดเล็กระบายน้ำได้ช้า

นายสุทัศน์ บุญผ่อง อายุ 48 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านเนินยุ้ง ต.รังนก อ.สามง่าม จ.พิจิตรซึ่งมีอาชีพทำนา กล่าวว่าถ้าน้ำท่วม จ.สุโขทัย ไหลเข้า อ.บางระกำ และมีปริมาณมากเช่นนี้อีกไม่เกิน 7 วัน คงต้องเกิดน้ำท่วม นาข้าวครั้งใหญ่ทั้งตำบลสามง่าม ตำบลหนองโสน ตำบลวังจิก ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อย่างแน่นอน

ที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก หลังจากที่หลังสถานการณ์ฝนตกในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ ส่งผลให้น้ำได้ไหลลงสู่คูคลองตามธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะแม่น้ำยม ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ จ.สุโขทัย และพื้นที่การเกษตรบางส่วนใน จ.พิษณุโลก ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่เร่งเตรียมขนสิ่งของส่วนใหญ่ขึ้นหนีน้ำบางรายเร่งให้ช่างมาทำการต่อเติมดีดบ้านให้สูงขึ้นอีก 4 เมตรเพื่อหนีน้ำที่จะมาในปีนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น