“นายกฯ ยิ่งลักษณ์” พร้อมนำกรณีมะกันขอใช้อู่ตะเภาถกในสภา หากเข้าข่าย ม.190 ยันเปิดแน่ข้อตกลง แต่ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น เผย รมว.ต่างประเทศเร่งดันเข้า ครม. แต่ตีกลับให้นำไปขอความเห็นให้ครบถ้วน รอบคอบทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน พร้อมตรวจสอบเนื้อหารายละเอียดที่จะสำรวจ ทั้งสถานที่ ขั้นตอนวิธีการ และจุดที่จะสำรวจ ส่วนใบแดง “เก่ง-การุณ” ต้องรอศาลตัดสิน ก่อนได้ข้อสรุปจะส่งใครลงเลือกตั้ง
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาการขอใช้สนามบินอู่ตะเภาขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) สหรัฐอเมริกา เพื่อตั้งศูนย์ช่วยเหลือมนุษยธรรมและศึกษาชั้นบรรยากาศว่า จริงๆ แล้วความร่วมมือของทางนาซาคือ ความร่วมมือในการสำรวจภูมิอากาศ แต่เรื่องสถานที่ต้องดูในรายละเอียด แต่ทางทีมงานได้เสนอว่า สนามบินอู่ตะเภาเหมาะสมกว่า แต่ก็ยังไม่ได้สรุปในเรื่องสถานที่ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้จะเป็นรายละเอียดที่เราจะหารือกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า เบื้องต้นอนุญาตให้นาซาใช้สถานที่ในเมืองไทยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยัง เบื้องต้นเป็นความร่วมมือที่ต่อเนื่องมาในหลักการเราเห็นว่า เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็เห็นว่า เนื่องจากเราไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้ แต่ก็ต้องมีข้อกังวลใจที่เราเป็นห่วงว่า ในเรื่องการสำรวจจะสำรวจมากน้อยแค่ไหน และบริเวณใด ใช้สถานที่ไหน จึงเป็นเรื่องที่จะต้องตั้งคณะทำงานในการศึกษารายละเอียดเนื้อหา แต่ขั้นตอนการทำงานเราต้องมีขั้นตอนของรัฐบาลว่า การที่จะไปร่วมมือต่างๆ กระทรวงการต่างประเทศก็ต้องทำความเห็นกับทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องรวมถึงกองทัพ และนำเสนอ ครม. และทางกฤษฎีกาก็ต้องตีความอีกครั้งหนึ่งว่า จะต้องมีการนำเสนอต่อรัฐสภาหรือไม่
ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องเรียนว่า ในส่วนของสหรัฐฯ เองก็ต้องมีการเตรียมงานว่า แน่นอน ถ้าเราติดในเรื่องของขั้นตอน และรายละเอียด จึงได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงไปยังสหรัฐฯ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันว่า เรายังติดปัญหาในเรื่องของขั้นตอนอย่างไร ต้องเรียนว่า เราเองก็ต้องทำทั้ง 2 ส่วน ในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ต้องประคองในเรื่องของการสื่อสารให้มีความเข้าใจสอดคล้องกัน ในขณะเดียวกัน ก็ต้องดูในรายละเอียดของประเทศว่า มีปัญหาอุปสรรค หรือข้อห่วงใยอะไร และขั้นตอนตามกฎหมาย หรือขั้นตอนในเนื้อหาว่า กฎหมายจะต้องดำเนินการอย่างไรให้ถูกต้อง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้นาซาได้ขีดเส้นตายให้เราให้คำตอบภายในวันที่ 26 มิ.ย. น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เราคงต้องเข้าไปหารือ เชื่อว่า ทางสหรัฐฯ น่าจะเข้าใจในขั้นตอนของเรา เมื่อถามว่า มีบางฝ่ายยังติดใจอยู่ว่า หากไทยได้ประโยชน์จริง ทำไมจึงไม่มีการเปิดข้อตกลงร่วมกัน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น เปิดแน่นอน อันนี้ไม่ต้องห่วง เพราะเรื่องทุกอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีอะไรเลย และต้องเรียนว่า เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านมา เราเองก็ได้ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มาชี้แจง ตัวนี้ที่ถามว่า ยังไม่มีรายละเอียดเพราะว่า ยังไม่ได้คณะทำงานในการหารือก่อนว่า เราจะมีขั้นตอนเนื้อหาการสำรวจที่ไหนอย่างไร ถ้าเมื่อต้องมีการชี้แจงแล้วก็พร้อมให้การชี้แจง ไม่มีอะไรเลยทุกอย่างก็เป็นสิ่งที่ตรงไปตรงมาอยู่แล้ว และเราคำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศเป็นหลักอยู่แล้ว
ส่วนหากจำเป็นต้องเข้าสภาฯ และเกี่ยวกับมาตรา 190 รัฐบาลพร้อมหรือไม่นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า พร้อม ต้องเรียนว่า เรายืนยันที่จะปฏิบัติตามขั้นตอน แต่แน่นอนต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ส่วนสภาฯ ก็ต้องอยู่ที่ทางกฤษฎีกากับกระทรวงการต่างประเทศที่จะให้ความเห็นว่า ต้องเข้ารัฐสภาหรือไม่ อันนี้คือขั้นตอนตามกฎหมาย แต่ว่า ในการชี้แจงพี่น้องประชาชน สื่อมวลชน หรือทุกท่านที่อยากทราบ เรายินดีอยู่แล้ว หลังจากที่เราต้องมีข้อสรุปก่อน เพราะการที่เราแจ้งเร็วไป หากเราแจ้งแล้วไม่ถูกต้องก็จะเสียทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แน่นอนเราต้องประคองทั้ง 2 ส่วน แต่ไม่มีอะไรปิดบังแน่นอน
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่า วันนี้เรายังบอกไม่ได้ว่า จะได้ข้อสรุปเมื่อไร นายกฯ กล่าวว่า ก็กำลังเร่ง วันนี้ได้มอบหมายนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กับทางกระทรวงการต่างประเทศไปหารือในรายละเอียดว่า จะเร่งดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ มีข้อสรุปอย่างไร ซึ่งหลักการเราเห็นว่า เป็นประโยชน์ แต่ต้องดูเนื้อหารายละเอียดว่า จะสำรวจอย่างไร ที่ไหน ขั้นตอนวิธีการ และสถานที่ที่จะใช้ ซึ่งในส่วนของขั้นตอนกฤษฎีกาเราได้ส่งไปขอความเห็นกฤษฎีกาไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว ในเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศเราได้ให้ทำความเห็นของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกอย่างเราต้องขอความเห็นจากทุกหน่วยงานก่อน และไม่ยังทราบว่า จะเข้าครม.ได้ทันสัปดาห์หน้าหรือไม่ เพราะเดิมทีที่กระทรวงการต่างประเทศแจ้งมา เราก็อยากขอให้ทำความเห็นก่อน จึงต้องกลับไปทำความเห็นให้ครบก่อน ถ้าครบเมื่อไรก็คงจะเข้ามา
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังกล่าวถึงการสรรหาผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขตดอนเมือง แทนนายการุณ โหสกุล หากศาลวินิจฉัยตัดสิทธิเลือกตั้งตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติ ว่า คงต้องรอข้อสรุปผลการตัดสินก่อนดีกว่า ถ้ามีข้อสรุปอย่างไรทางพรรคก็จะมีการหารือกับคณะกรรมการบริหารพรรค ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า พรรคจะส่งนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.กับนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.ลงนั้น นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ทราบ เพิ่งรู้จากสื่อหนังสือพิมพ์เหมือนกัน