xs
xsm
sm
md
lg

“รมว.วิทย์” ลั่นดันผุดเครื่องกำเนิดแสง “ซินโครตรอน” ใหม่ 8 พันล.-มุ่งสนองพัฒนาภาคธุรกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปลอดประสพ  สุรัสวดี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะ  เดินทางมาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารและนักวิจัย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) อ.เมือง จ.นครราชสีมา วันนี้ ( 3 มิ.ย.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - รมว.วิทย์ฯ รุดตรวจเยี่ยมห้องปฏิบัติการ “แสงซินโครตรอน” ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่โคราช ชี้เป็นเทคโนโลยีเทคนิควิทยาศาสตร์ทางฟิสิกส์ขั้นสูง ชูให้เป็น “แล็บกลาง” วิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานของไทย เพื่อขับเคลื่อนสร้างองค์ความรู้แข่งขันกับนานาชาติได้ ระบุ ผลักดันผุด “เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน” ใหม่ ประสิทธิภาพสูง ใช้งบฯ 8 พันล้าน พร้อมยกระดับเป็นศูนย์กลางวิจัยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน ด้านการแพทย์-เกษตร-อุตสาหกรรม มุ่งตอบสนองพัฒนาภาคธุรกิจ และการแข่งขันทางการค้าของประเทศ

วันนี้ (3 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคารสิรินธรวิชโชทัย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายแก่ผู้บริหารและนักวิจัยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน โดยมี ศาสตราจารย์นาวาอากาศโทด็อกเตอร์ (ศ.น.ท.ดร.) สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) นำคณะผู้บริหารและนักวิจัย ให้การต้อนรับ พร้อมนำเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงสยามแห่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ถือเป็นครั้งแรกที่ได้เดินทางมาเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงสยาม ซึ่งวิชาการด้านแสงซินโครตรอนถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ในอาเซียนมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเฉพาะที่ประเทศไทย และสิงคโปร์ โดยประเทศไทยเป็นที่ตั้งเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งใหญ่และโดดเด่นที่สุดในภูมิภาคนี้

สำหรับแสงซินโครตรอนเป็นแสงชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในงานวิจัยได้หลายด้านทั้งเรื่องการวัดรูปร่าง โครงสร้าง และคุณลักษณะ รวมถึงส่วนประกอบต่างๆ ซึ่งการวัดในทางวิทยาศาสตร์มีความสำคัญมาก จะช่วยในการแยกแยะความแตกต่าง และประสิทธิภาพชิ้นงาน แสงชนิดนี้เป็นแสงที่เล็ก และคมมาก มีอานุภาพในการทะลุทะลวงสูง จึงนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ด้วย

นายปลอดประสพ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน และมองว่าเป็นเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ชั้นสูงทางฟิสิกส์ มีประโยชน์ในการสร้างวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และสามารถสร้างวิทยาศาสตร์ขั้นก้าวไกลในหลายสาขา เช่น สาขาการแพทย์ การเกษตร และสาขาด้านวัสดุศาสตร์ สถาบันแห่งนี้ถือเป็น “แล็บกลาง” ของไทย หรือเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งประเทศไทยไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ประเทศไทยไม่เจริญเพราะว่าไม่สามารถขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ได้ ซึ่งเรื่องนี้ คนไทยต้องเข้าใจ เมื่อมีสิ่งเหล่านี้แล้ว ประเทศไทยก็จะมีองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวหน้าแข่งขันกับประเทศอื่น หรือนานาชาติได้

นายปลอดประสพ กล่าวอีกว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะผลักดันให้มีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งใหม่ที่ใหญ่ และมีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการศึกษารายละเอียดต่างๆ ประมาณ 1 เดือน เพื่อสรุปแผนดำเนินการและนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ คาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยใช้สถานที่ก่อสร้างที่ จ.นครราชสีมาในบริเวณเดียวกันกับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องเดิม

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ได้เน้นย้ำให้แก่สถาบันฯ ขยายฐานบริการกับกลุ่มผู้ใช้บริการมากขึ้น เพื่อให้มีผู้เข้ามาใช้บริการเทคโนโลยีด้านนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา เช่น ในด้านสาธารณสุข การแพทย์ อาจจะต้องผลักดันให้มีการตั้งห้องปฏิบัติการตรวจโรคมะเร็ง หรือโรคอื่นๆ โดยใช้แสงซินโครตรอนขึ้น หรือเป็นคลินิกตรวจโรคด้วยแสงซินโครตรอน เป็นต้น โดยมีโรงพยาบาลทั่วประเทศเป็นเครือข่าย หรืออาจผลักดันให้มีห้องปฏิบัติการวิจัยยางพาราด้วยแสงซินโครตรอนโดยเฉพาะ เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์นับวันยิ่งต้องใช้ยางพารามากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะการทำยางรถยนต์เท่านั้น อนาคตอาจพัฒนาไปเป็นตัวถังรถยนต์ที่มีความยืดหยุ่นสูงและนำกลับมารีไซเคิลได้ ฉะนั้น ได้ให้การบ้านแก่ผู้บริหารสถาบันฯ ว่าจะทำอย่างไรให้เทคโนโลยีซินโครตรอนเข้ามาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาภาคธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนของไทยถือเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ที่ผ่านมาประเทศอื่นๆ มาใช้บริการห้องปฏิบัติการแสงสยามของไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราจะไม่เป็นเฉพาะศูนย์กลางของอาเซียนเท่านั้น แต่เราจะเป็นเอกคือ หนึ่งเดียวของอาเซียน เพื่อเป็นแชมเปี้ยนในการแข่งขันด้านนี้ สิ่งสำคัญคือ เราจะต้องใช้แสงซินโครตรอนช่วยในการแข่งขันทางการค้าให้ได้มากที่สุด” นายปลอดประสพ กล่าว

นายปลอดประสพ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ทางสถาบันฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาสถานีทดลองให้มีมากขึ้น จากเดิมที่มีอยู่ 9 สถานี เพื่อให้สามารถรองรับงานวิจัยได้หลากหลาย และเน้นย้ำให้เพิ่มความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาให้มากขึ้น โดยรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอก มาใช้ Topic ของที่นี่ให้มากขึ้น และสถาบันฯ ต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Science Park หรือ นิคมธุรกิจวิทยาศาสตร์ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะนี้ตั้งอยู่ที่ จ.ขอนแก่น ซึ่ง ครม. อนุมัติงบประมาณไปเรียบร้อยแล้วประมาณ 8,500 ล้านบาท เพื่อให้มี Science Park ทั่วประเทศ ซึ่ง Science Park ที่ว่านี้ จะเป็นพาหนะนำพาวิทยาศาสตร์ไปสู่ภาคธุรกิจอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ได้ให้ทางซินโครตรอนไปดูว่าจะเข้ามาร่วมกับก้าวใหม่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ในเรื่องนี้อย่างไร







กำลังโหลดความคิดเห็น