ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ปิดฉาก “ค่ายวิทย์ซินโครตรอนอาเซียน” ครั้งแรก ระบุ ประสบผลสำเร็จในการขยายฐาน และตอกย้ำความเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียนของไทย เผยนักศึกษาไทย และประเทศต่างๆ เข้าร่วมเกินเป้าหมาย คาดความรู้ที่ได้รับจากการเข้าสัมผัสเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนแห่งใหญ่สุดในอาเซียนถูกเผยแพร่อย่างกว้างขว้าง พร้อมเตรียมจัดค่ายวิทย์ซินโครตรอนอาเซียนต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่อาคารสิรินธรวิชโชทัย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา ดร.วิบูลย์ แช่มชื่น ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินทางมาตรวจเยี่ยมห้องปฏิบัติการแสงสยาม และเป็นประธานพิธีปิดค่ายวิทยาศาสตร์ซินโครตรอนอาเซียนครั้งที่ 1 (The 1st Asean Synchrotron Science Camp) และโครงการครูฟิสิกส์ไทยครั้งที่ 3
พร้อมมอบใบประกาศนียบัตรให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี ถึงปริญญาเอกของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้จำนวน 81 คน และครูฟิสิกส์ไทยอีก 17 คน รวม 98 คน โดยทีมนักศึกษาจากประเทศกัมพูชาสามารถคว้ารางวัลกิจกรรมยอดเยี่ยมในกลุ่ม “Radio Frequency” ไปครอง ประเดิมเป็นทีมแรกในการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ซินโครตรอนอาเซียน ครั้งที่ 1
ดร.วิบูลย์ แช่มชื่น ผู้ช่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เป็นหนึ่งหน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีภารกิจหลักในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ศักยภาพของเครื่องกำเนิดแสงสยาม หรือเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนของไทย
ขณะนี้ ถือว่าไทยเราเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน และใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ด้วยขนาดของเครื่องสามารถผลิตแสงซินโครตรอนในย่านพลังงานที่ 1,200 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์ มีสถานีทดลองมากถึง 9 สถานีรองรับงานวิจัยหลายด้านได้พร้อมในเวลาเดียวกัน และยังสามารถขยายเพิ่มขึ้นได้อีก เพื่อรองรับงานวิจัยในหลากหลายสาขาวิชาที่ครอบคลุมตั้งแต่วิทยาศาสตร์พื้นฐาน ถึงวิทยาศาสตร์ประยุกต์
สำหรับการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ซินโครตรอน ได้จัดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานร่วม 8 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาของไทยได้เข้ามาสัมผัส และทดลองใช้ประโยชน์จากแสงสยามแห่งนี้ และเพื่อเป็นการขยายฐานผู้ใช้บริการให้มากขึ้น
ในปีนี้ จึงถือเป็นครั้งแรกที่เปิดรับนักศึกษามหาวิทยาลัยในภูมิภาคอาเซียนเข้าร่วมกิจกรรม ในงาน “ค่ายวิทยาศาสตร์ซินโครตรอนอาเซียนครั้งที่ 1” โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากประเทศสมาชิก 6 ประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เวียดนาม ที่ส่งนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม
“นักศึกษาเหล่านี้ได้มีโอกาสเรียนรู้ และเข้าไปทดลองใช้ประโยชน์จากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน และจะนำความรู้เหล่านี้ไปเผยแพร่ในประเทศของตัวเอง ซึ่งเป็นการขยายฐานการใช้บริการออกไปได้อย่างกว้างขวาง และเป็นการตอกย้ำความเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียนของประเทศไทยด้วย จากนี้ไปทางสถาบันแสงซินโครตรอน จะมีการจัดโครงการเช่นนี้ขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป” ดร.วิบูลย์ กล่าว