xs
xsm
sm
md
lg

สร้าง “มหาวิทยาลัยเด็ก” ปูทางนักวิทยาศาสตร์แต่วัยเยาว์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โครงการมหาวิทยาลัยเด็กต้นแบบจากเยอรมนี เปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้าถึงการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย และเป็นการจุดปรกายให้เยาวชนรู้สึกรักวิทยาศาสตร์
นับเป็นเรื่องใหม่สำหรับวงการวิทยาศาสตร์ไทย ที่เปิด “มหาวิทยาลัยเด็ก” เพื่อปูทางสร้างนักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่วัยเยาว์ และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ใกล้ชิดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยและนักศึกษาในระดับชั้นต่างๆ เป็นพี่เลี้ยง รวมถึงการเรียนในบางวิชาที่เหมาะสมเพื่อเก็บคะแนนต่อยอดการศึกษาในอนาคต

“มหาวิทยาลัยเด็ก” ไม่ใช่สถาบันระดับอุดมศึกษาสำหรับเด็กโดยเฉพาะ แต่คือรูปแบบการศึกษาที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ร่วมทำกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย นักศึกษาในระดับปริญญาตรี-เอก ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและคอยให้คำแนะนำระหว่างทำกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งต้นแบบของรูปแบบการศึกษาดังกล่าวมาจากเยอรมนี และมีหลายประเทศรับรูปแบบดังกล่าวนี้ไปใช้

กระทั่งเมื่อปี 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ณ สถาบันวิทยาศาสตร์ชีวภาพเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับที่ดีจากนักเรียนในโครงการ จึงมีพระราชดำริในการจัดตั้งโครงการดังกล่าวขึ้นในประเทศไทย

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ทาง สวทช.ได้รับสนองพระราชดำริเพื่อจัดตั้งโครงการมหาวิทยาลัยเด็กในประเทศไทย และร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความพร้อมในการดำเนินโครงการดังกล่าว คือ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ที่มีสื่อการเรียนรู้ และมหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรและอาจารย์ที่มีความพร้อมด้านการทำวิจัย โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรความร่วมมือแลกเปลี่ยนทางวิชาการแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (DAAD)

โครงการนำร่องมหาวิทยาลัยเด็กของไทยเริ่มขึ้นในปี 2554 เพื่อวางรากฐานให้นักเรียนไทยได้ฝึกกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ผ่านการทดลองโดยมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ และเพื่อเตรียมความพร้อมให้นักเรียนเติบโตไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร หรือเป็นผู้มีจิตวิทยาศาสตร์และมีความรู้วิทยาศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมต่อไป ซึ่งสิ่งที่ท้าทายการดำเนินโครงการนี้คือการลบภาพว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยากและน่ากลัว และทำให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น

ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่า DAAD ได้สนับสนุนให้นักวิชาการไทย ทั้งจาก สสวท.และ สวทช.เดินทางไปดูการดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยเด็กของห้องปฏิบัติการเคมีทอยโทแล็บ (Teutolab Chemistry) ของมหาวิทยาลัยบีเลเฟล (Bielefeld) เยอรมนี ซึ่งนักเรียนได้ร่วมกิจกรรมโดยมีนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยง

นอกจากการได้ร่วมกิจกรรมวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย โดยมีอาจารย์และนักศึกษาเป็นพี่เลี้ยงเพื่อให้เยาวชนได้รู้จักกระบวนการวิทยาศาสตร์แล้ว ดร.ทวีศักดิ์ ยังได้กล่าวถึงการนำดำเนินงานของโครงการมหาวิทยาลัยเด็กที่อาจนำไปสู่การเปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความพร้อม และสนใจศึกษาต่อทางด้านวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมลงเรียนและเก็บคะแนนในบางรายวิชาที่เหมาะสม ซึ่งเมื่อนักเรียนเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาก็ไม่ต้องเรียนซ้ำในวิชาเหล่านั้น และช่วยร่นระยะเวลาเรียนในมหาวิทยาลัยเหลือเพียงไม่กี่ปี

ทางด้าน นางดวงสมร คล่องสารา รองผู้อำนวยการ สสวท.กล่าวถึงปัญหาการเรียนวิทยาศาสตร์ของไทยว่า นักเรียนไทยยังไม่ได้รับการฝึกให้คิด และถูกสอนให้ทำตามคำบอกของครู ซึ่งต่างจากนักเรียนเยอรมันที่มีโอกาสได้ทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์ด้วยการลงมือทำด้วยตัวเองแบบแฮนด์ส-ออน (Hands-on) ซึ่งเด็กสามารถทดลองเล่นอุปกรณ์ที่อยู่ตรงหน้าได้ โดยที่ครูไม่ต้องบอกว่าต้องทำอะไร

ทั้งนี้ สวทช.ได้นำร่องนำกิจกรรมจากโครงการมหาวิทยาลัยเด็กของเยอรมนีไปทดลองใช้ในการจัดค่ายวิทยาศาสตร์และอบรมครูวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมในกิจกรรมค่ายทั้งหมดกว่า 400 คน ขณะที่ สสวท.จะนำกิจกรรมไปใช้กับศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพประจำภูมิภาคซึ่งมีอยู่ 12 แห่งทั่วประเทศ พร้อมเชิญมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วมโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเด็ก ซึ่งมีหลายมหาวิทยาลัยที่แสดงความต้องการร่วมจัดตั้งโครงการดังกล่าว

ในเบื้องต้น สสวท.ได้คัดเลือกนักเรียนประถมในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพของสถาบันจำนวน 60 คน เข้าร่วมกิจกรรมตามแบบโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิริธร อุทานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 29-31 ต.ค.55 เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้เห็นความสำคัญและประโยชน์ของโครงการดังกล่าว และจัดกิจกรรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้วิทยาศาสตร์แก่เด็กนักเรียนต่อไป

นางดวงสมร คล่องสารา
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล






กำลังโหลดความคิดเห็น