xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.ชิต เหล่าวัฒนา” ปันความฝันรักหุ่นยนต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา
จากความคลั่งไคล้ในหุ่นยนต์ตั้งแต่วัยเด็ก จนปัจจุบันอายุกว่า 50 ปี “ดร.ชิต เหล่าวัฒนา” ผู้อำนวยการสถาบันหุ่นยนต์ที่มีผลงานในการพัฒนาหุ่นยนต์กว่า 60 ตัว ได้แบ่งปันความฝันที่หวังจะเป็นแรงบันดาลใจแก่เด็กๆ รุ่นใหม่ ได้พบเส้นทางที่ “ใช่” ในวันข้างหน้า

อะไรคือหุ่นยนต์? คำถามที่น่าจะตอบได้ไม่ยากจาก รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งถามเยาวชนวัย 10-13 ปีร่วม 100 คนจากทั่วประเทศที่มารวมกันภายในค่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 4-6 ก.ย.55

หากแต่ไม่ใช่แค่มีแขน ขา และหน้าตาเหมือนคนจึงจะถือว่าเป็นหุ่นยนต์ เพราะองค์ประกอบหุ่นยนต์ที่สำคัญมี 3 อย่าง คือ 1.มีความสามารถในการตรวจสอบสถานะได้ จึงทำให้หุ่นยนต์ต้องมีเซนเซอร์ 2.มีความสามารถในการตีความ และ 3.มีความสามารถในการเคลื่อนไหวได้ เช่น ที่เปิดกระป๋องไฟฟ้า หากมีความสามารถในตีความได้ว่า ต้องเปิดปลากระป๋องด้วยความเร็วเท่าไร เปิดผลไม้กระป๋องด้วยความแรงแค่ไหน ซึ่งความสามารถในการปรับเปลี่ยนการทำงานไปตามตัวแปรนี้ถือเป็นคุณสมบัติของหุ่นยนต์ ซึ่งเราจะต้องใส่คอมพิวเตอร์ให้จึงจะได้ความสามารถดังกล่าว เป็นต้น

ขณะที่ญี่ปุ่นพัฒนา อาซิโม (ASIMO) หุ่นยนต์ของค่ายรถยนต์ดังจนสามารถวิ่งได้เหมือนคนแล้วด้วยงบพัฒนากว่า 300 ล้านบาท ทาง รศ.ดร.ชิต และคณะ ได้พัฒนาหุ่นยนต์ที่มีความสามารถในการเดินย่องด้วยเงิน 9 ล้านบาท ซึ่งความสามารถที่ด้อยกว่านี้เป็นเพราะงบประมาณที่น้อยกว่าและเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ถึงอย่างไรก็ตาม การพัฒนาหุ่นยนต์แบบเอามันดังกล่าวก็กลายเป็นพื้นฐานให้เขาพัฒนา “ขาเทียม” ที่สามารถใช้งานได้เหมือนขาจริง

“เราใช้องค์ความรู้จากการสร้างหุ่นยนต์ 9 ล้านบาท ที่ทำขึ้นด้วยความมัน เป็นพื้นฐานในการทำขาเทียม ตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกว่าทำไปทำไม อาจารย์อยากนักเรียนทำอะไรด้วยความมัน ทำไปเลยเต็มที่ เรียนก็เรียนให้เต็มที่ เมื่อถึงเวลาเราก็จะจับทางได้เองว่าจะเอาความรู้ไปใช้ทำอะไรได้บ้าง” รศ.ดร.ชิต กล่าว

นอกจากฟังบรรยายจาก รศ.ดร.ชิต แล้วเยาวชน 100 คน ในค่ายที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ยังมีกิจกรรมฟังบรรยายพิเศษจากวิทยากรอื่นๆ รวมถึงการเข้าฐานกิจกรรมเพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ซึ่งมีการเรียนรู้เพื่อรับมือระหว่างเกิดวิกฤต อาทิ การทดลองทำน้ำดื่ม การจำกัดมูลของเสีย และการปฐมพยาบาล เป็นต้น พร้อมทั้งเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการต่างๆ ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ค่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี






กำลังโหลดความคิดเห็น