ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนของไทยใหญ่สุดในอาเซียนรุกเปิด “ค่ายวิทยาศาสตร์ซินโครตรอนอาเซียน” เป็นครั้งแรก เผยครู-นักศึกษาปริญญาตรี-เอกสายวิทย์จากมหาวิทยาลัยดัง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนกว่า 100 คนเข้าร่วม ชี้เป็นการขยายฐานความร่วมมือสู่ประเทศสมาชิกอาเซียน และเพิ่มจำนวนนักวิทยาศาสตร์-นักวิจัยด้านเทคโนโลยีซินโครตรอนรองรับความเจริญของภูมิภาค
วันนี้ (14 พ.ค.) ที่ห้องปฏิบัติการแสงสยาม อาคารสิรินธรวิชโชทัย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ผศ.ดร.ศุภกร รักใหม่ ผู้อำนวยการฝ่ายสถานีวิจัย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้เป็นประธานเปิด “ค่ายวิทยาศาสตร์ ซินโครตรอนอาเซียนครั้งที่ 1 และโครงการอบรมครูฟิสิกส์ ครั้งที่ 3” ซึ่งกำหนดจัดขึ้นวันที่ 14-18 พฤษภาคมนี้ โดยมีครู นิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ และวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนเข้าร่วมกว่า 100 คน
ผศ.ดร.ศุภกร รักใหม่ ผู้อำนวยการฝ่ายสถานีวิจัย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ซึ่งเป็นที่ตั้งเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนหรือห้องปฏิบัติการแสงสยามแห่งเดียวของประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน จึงเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคที่เป็นที่ยอมรับและรู้จักในระดับนานาชาติ ซึ่งที่ผ่านมาทางสถาบันฯ ได้จัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์แสงสยามขึ้นเป็นประจำทุกปี และในปีนี้มีเป้าหมายขยายฐานการสร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนไปสู่ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน จึงได้กำหนดจัดโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ซินโครตรอนอาเซียน ครั้งที่ 1 (The 1st ASEAN Synchrotron Science Camp) ขึ้นระหว่างวันที่ 14-18 พฤษภาคม 2555 ณ ห้องปฏิบัติการแสงสยาม อาคารสิรินธรวิชโชทัย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) อ.เมือง จ.นครราชสีมา
โดยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ และวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ของประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้เข้าร่วมกิจกรรม โดยมีนิสิต นักศึกษาจากประเทศไทยเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ 67 คน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา และ เวียดนาม อีก 18 คน และมีครูฟิสิกส์เข้าร่วมกิจกรรมอีก 18 คน รวมทั้งหมด 103 คน
ผศ.ดร.ศุภกรกล่าวต่อว่า วัตถุประสงค์ของการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ซินโครตรอนอาเซียน เพื่อส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษา เข้าใจถึงบทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนต่อความเจริญก้าวหน้าของภูมิภาคอาเซียน และเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนในอนาคต ตลอดจนเพิ่มจำนวนนักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยทางด้านเทคโนโลยีซินโครตรอนในภูมิภาคอาเซียน และยังเป็นการสร้างเครือข่ายกับสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ผ่านความร่วมมือในการศึกษาวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษาด้วย
ทั้งนี้ กิจกรรมสำคัญในการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ซินโครตรอนอาเซียน ครั้งที่ 1 นี้ จะมีการบรรยายจากนักวิทยาศาสตร์ของไทยเกี่ยวกับเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน และการนำแสงซินโครตรอนไปใช้ประโยชน์ในงานสาขาต่างๆ และมีภาคปฏิบัติที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ลงมือทดลองจริง ที่สำคัญในวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 เวลา 14.30 น. นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเดินทางมาเป็นประธานพิธีมอบประกาศนียบัตรและรางวัลนำเสนอผลงานกิจกรรมยอดเยี่ยม รวมถึงปิดค่ายวิทยาศาสตร์ฯ ครั้งนี้ด้วย
“ห้องปฏิบัติการแสงสยามของไทย เป็นที่รู้จักของนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ ที่ผ่านมามีนักวิทยาศาสตร์จากประเทศต่างๆ ในอาเซียนและประเทศในภูมิภาคอื่นเข้ามาใช้ประโยชน์จากเครื่องกำเนิดแสงสยามเป็นประจำ แต่ละปีมีไม่น้อยกว่า 10 ราย และขณะนี้ได้มีการขยายสถานีทดลองเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายสถานี สามารถรองรับงานวิจัยหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน ฉะนั้น จึงอยากเชิญชวนนักวิทยาศาสตร์ทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาใช้บริการเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนได้” ผศ.ดร.ศุภกรกล่าว