xs
xsm
sm
md
lg

“ซินโครตรอน” จับมือ “มข.” ผุดสถานีทดลองใหม่ 66 ล้านรองรับงานวิจัยเทคนิคขั้นสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.นวลวรรณ สงวนศักดิ์ รักษาการ ผอ.สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และ รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี มข.ลงนาม MOU “โครงการพัฒนาสถานีวิจัย มข.-สซ.” 66 ล้านบาท
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนจับมือ มข.ทุ่มงบ 66 ล้านบาทสร้างระบบลำเลียงแสงและสถานีทดลองแห่งใหม่ 2 สถานี โดยใช้แสงซินโครตรอนย่านรังสีเอ็กซ์ และย่านอินฟราเรด เพื่อรองรับงานวิจัยด้านการแพทย์ วัสดุศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม หวังให้นักวิจัยเข้าถึงเทคนิคขั้นสูง สร้างงานวิจัยไทยให้เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.นวลวรรณ สงวนศักดิ์ รักษาการผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) หรือ สซ.และ รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนาสถานีวิจัย มข.-สซ.” ในการพัฒนาระบบลำเลียงแสงและสถานีทดลอง 2 สถานี ประกอบด้วย ระบบลำเลียงแสงและสถานีทดลอง 1.1 (BL1.1) ใช้แสงซินโครตรอนย่านรังสีเอ็กซ์ และระบบลำเลียงแสงและสถานีทดลอง 4.1b (BL4.1b) ใช้แสงซินโครตรอนย่านอินฟราเรด ซึ่งจะทำการจัดสร้างและติดตั้งภายในห้องปฏิบัติการแสงสยาม จังหวัดนครราชสีมา

สำหรับสถานีทดลองทั้ง 2 สถานีนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง 2 สถาบัน โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นสนับสนุนด้านงบประมาณครึ่งหนึ่งจำนวน 33 ล้านบาท ในการจัดซื้ออุปกรณ์หลักสร้างสถานีทดลองทั้งสองระบบนี้ และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนสนับสนุนงบประมาณอีกครึ่งหนึ่งในการจัดหาอุปกรณ์เสริมระหว่างการติดตั้ง รวมถึงกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ และพัฒนาระบบลำเลียงแสง รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้เทคนิคการวิเคราะห์แก่คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ส่วนในการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ของแสงซินโครตรอน จะแบ่งกันคนละครึ่งของจำนวนเวลาที่จะเปิดให้บริการ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ปลายปี 2556

รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า จากการประสานงานอย่างต่อเนื่องระหว่างศูนย์วิจัยและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน และศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีบูรณาการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับทีมนักวิจัยของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และมหาวิทยาลัยส่งเสริมสนับสนุนให้อาจารย์ นักศึกษา และนักวิจัย ได้สร้างผลงานวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่สู่สังคมมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความร่วมมือครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการและเปิดโอกาสให้นักวิจัยของมหาวิทยาลัยได้เข้าถึงเทคนิควิเคราะห์ขั้นสูงโดยใช้แสงซินโครตรอนอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นการสร้างมาตรฐานผลงานวิจัยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติต่อไป

สำหรับสถานีทดลองทั้ง 2 สถานีนี้จะรองรับงานวิจัยที่มีอย่างหลากหลาย และผลงานที่นักวิชาการของมหาวิทยาลัยฯ มีความชำนาญ เช่น งานทางด้านวัสดุศาสตร์ งานด้านสิ่งแวดล้อม และการแพทย์ ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยฯ จะได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานโครงการฯ เพื่อประสานร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ในส่วนสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นจะเป็นผลงานร่วมกันระหว่างทั้งสองสถาบัน

ด้าน ดร.นวลวรรณ สงวนศักดิ์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาสถานีวิจัย มข. และ สซ. ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในระดับทวิภาคี โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐอีกแห่งหนึ่งที่มีผลงานวิจัยที่โดดเด่นระดับแนวหน้าของไทย ส่วนสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนฯ เป็นหน่วยงานวิจัยกลางที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของประเทศ โดยให้บริการแสงซินโครตรอนและแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก

“การที่สถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นแหล่งรวมนักวิชาการทุกสาขา ได้ให้ความสำคัญและเล็งเห็นถึงการพัฒนางานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์จากแสงซินโครตรอน ถือเป็นการร่วมสร้างจุดแข็งของการพัฒนากำลังคนและงานวิจัยของไทยสู่สากลยิ่งขึ้น” ดร.นวลวรรณกล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น