xs
xsm
sm
md
lg

ผนึกกำลังครั้งใหญ่หนุนวิจัย “ไทย-เซิร์น”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์
ผนึกกำลัง 13 หน่วยงานวิทยาศาสตร์ ดึงศักยภาพร่วมหนุนงานวิจัย “ไทย-เซิร์น” หลังไทยมีความร่วมมือกับองค์กรวิจัยยุโรป เพื่อกระตุ้นไปสู่เป้าหมายเพื่อการสร้างบุคคลงานวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคมากขึ้น ร่วมถึงผลพลอยได้จากการเข้าถึงเครื่องมือทดลองขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

“ที่เราใช้ www. ก็เป็นผลจากเซิร์น ที่เราใช้มัลติทัชสกรีนบนไอแพดก็เป็นจากเซิร์น หลายเทคโนโลยีที่เราใช้ในปัจจุบันล้วนเป็นผลพลอยได้จากงานวิจัย” ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการความร่วมมือด้านวิชาการและวิจัยกับเซิร์น (CERN) หรือ องค์กรเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป กล่าวระหว่างแถลงข่าวการลงนามความร่วมมือทางวิชาการโครงการความร่วมมือไทยกับเซิร์น เมื่อ 18 ม.ค.55 ณ โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการโครงการความร่วมมือไทยกับเซิร์นเมื่อวันที่ 14 ก.ค.54 กับอีก 12 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยมหิดล,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร, สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานพัฒนาวิจัยการเกษตร

ศ.ดร.ไพรัช กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนว่า เชิญหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้มาคุยเพื่อให้เป้าหมายงานวิจัยร่วมกับเซิร์นมีความชัดเจนขึ้น ซึ่งแต่ละหน่วยงานล้วนมีศักยภาพในการทำงานวิจัยร่วมกับเซิร์นตามความถนัดและความพร้อม ส่วนเซิร์นก็จะได้ประโยชน์จากเราในแง่เครือข่ายที่ใหญ่ขึ้นและได้นักวิจัยไปช่วยทำงาน ทั้งนี้ เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (LHC) ของเซิร์นถือเป็นเครื่องมือวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นไปไม่ได้ที่องค์กรหนึ่งองค์ใดจะสร้างขึ้นมาใช้เอง จะต้องอาศัยความร่วมมือระดับนานาชาติเท่านั้น

สำหรับความร่วมมือระหว่างไทยและเซิร์นนี้ ศ.ดร.ไพรัช กล่าวว่าเกิดได้ด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนเซิร์นถึง 4 ครั้ง และเมื่อวันที่ 16 มี.ค.52 เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนเซิร์นอีกครั้งนั้นมีการลงนามในเอกสารแสดงเจตจำนงที่จะมีความร่วมมือกัน (Express of Interest) ระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และเซิร์น เพื่อแสวงหาความร่วมมือทางวิชาการและวิจัย

ทั้งนี้ ไทยมีความร่วมมือกับเซิร์น 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการคัดเลือกนักศึกษาและครูสอนฟิสิกส์ เพื่อเข้าร่วมโปรแกรมภาคฤดูร้อนเซิร์น สำหรับปี 2555 นี้ มีผู้ผ่านคัดเลือกเข้าร่วมโครงการครูฟิสิกส์ภาคฤดูร้อนเซิร์น คือ นายสุรศักดิ์ ศรีสุวงศ์ โรงเรียนน้ำโสมพิทยาคม จ.อุดรธานี และ น.ส.ชิลีณี พาหุรัตน์ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ และผู้ผ่านคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนเซิร์น คือ นายนวเดช ชาญขุนทด ปริญญาตรีปี 4 สาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ นายรัฐกร แก้วอ่วม ปริญญาตรีปี 4 สาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

2.โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคำนวณโดยการเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์กริด โดยความร่วมมือของ 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร 3.โครงการส่งเสริมการจัดกิจกรรมวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเซิร์น อาทิ โครงการเซิร์นสคูลไทยแลนด์ (CERN School Thailand) เป็นต้น และ 4.โครงการส่งเสริมนักศึกษาปริญญาโท-เอก นักวิจัยไปทำงานวิจัย ณ เซิร์น และพัฒนาให้เกิดการทำวิจัยร่วมกับเซิร์น
ตัวแทยนจาก 13 หน่วยงานวิทยาศาสตร์
ครูและนักศึกษาซึ่งจะเดินทางไปเซิร์น (ซ้ายไปขวา) น.ส.ชิลีณี พาหุรัตน์ (1), นายสุรศักดิ์ ศรีสุวงศ์ (2) นายรัฐกร แก้วอ่วม (4) และ นายนวเดช ชาญขุนทด  (5)  ถ่ายรูปร่วมกับ (กลาง) รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กำลังโหลดความคิดเห็น