ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ผู้ป่วยโรคไขข้อเสื่อมคนไทยเฮ! นักวิจัย มข.เจ๋ง แยกสเต็มเซลล์กระดูกอ่อนด้วยแสงซินโครตรอนประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกของไทย ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาลงได้กว่าครึ่ง เผยใช้ระบบลำเลียงแสงอินฟราเรดที่ห้องปฏิบัติการแสงสยามโคราช หนึ่งเดียวของไทยใหญ่ที่สุดในอาเซียน ไม่ต้องไปไกลถึงต่างประเทศ ระบุเป็นเทคนิคใหม่ในการจำแนกเซลล์ต้นกำเนิด แทนการใช้สารติดตามหรือฉีดสีที่ยุ่งยาก ใช้เวลานาน ค่าใช้จ่ายสูงต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศราคาแพง
วันนี้ (26 พ.ค.) ที่ห้องปฏิบัติการแสงสยาม สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งมีอยู่แห่งเดียวในประเทศไทยและใหญ่ที่สุดในอาเซียน รศ.ดร.พัชรี เจียรนัยกุล ผู้ใช้บริการแสงซินโครตรอน จากคณะเทคนิคการแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประสบผลสำเร็จในการใช้เทคนิควิเคราะห์ทางจุลทรรศน์ และสเปกโตรสโกปีของรังสีอินฟราเรด เพื่อการตรวจจำแนกเซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซลล์) ที่มีการพัฒนาไปเป็นเซลล์กระดูกอ่อน ซึ่งเป็นเทคนิควิเคราะห์ที่ช่วยตรวจจำแนกการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดได้เด่นชัดในระยะเวลาสั้น ทำให้ลดขั้นตอนและต้นทุนในการตรวจ สามารถนำไปใช้ได้จริงในห้องปฏิบัติการสำหรับการเพาะเลี้ยงและเหนี่ยวนำเซลล์ต้นกำเนิดไปเป็นเซลล์เป้าหมายชนิดอื่นๆ
รศ.ดร.พัชรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของข้อต่อ ที่มักพบในผู้ป่วยวัยกลางคน และวัยสูงอายุ เช่น โรคข้อกระดูกเสื่อมนั้น สามารถรักษาได้ด้วยเทคโนโลยีเซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซลล์) โดยใช้การปลูกถ่ายกระดูกอ่อนใหม่ ที่เจริญจากเซลล์ต้นกำเนิด เพื่อแทนที่เซลล์กระดูกอ่อนเก่าที่เสื่อมสภาพไป
ขั้นตอนที่สำคัญสำหรับการรักษาโรคด้วยเทคโนโลยีเซลล์ต้นกำเนิด คือ จะต้องทราบว่า เซลล์ต้นกำเนิดมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์เป้าหมายได้จริง (ในที่นี้คือเซลล์กระดูกอ่อน) ในปัจจุบันวิธีที่ใช้ในการตรวจจำแนกเซลล์ต้นกำเนิดที่ใช้โดยทั่วไปทางห้องปฏิบัติการนั้นค่อนข้างยุ่งยาก และเสียค่าใช้จ่ายสูง คือ การใช้เทคโนโลยีดีเอ็นเอ ในการตรวจหาการแสดงออกของยีนที่พบเฉพาะเซลล์กระดูกอ่อน วิธีดังกล่าวต้องการใช้ “สารติดตาม” (marker) หรือการฉีดสี สำหรับตรวจสอบยีนชนิดนั้นๆ โดยที่สารติดตามสำหรับยีนแต่ละชนิดมีราคาค่อนข้างสูงมาก และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ส่วนเทคนิคสเปกโตรสโกปีของอินฟราเรดเป็นเทคนิคใหม่ที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เพื่อการวิเคราะห์ชนิดของสารจากหลักการการดูดกลืนแสงอินฟราเรดที่แตกต่างกันของสารแต่ละชนิด สารต่างชนิดกันจะมีรูปแบบการดูดกลืนแสงที่แตกต่างกัน การศึกษารูปแบบการดูดกลืนแสงอินฟราเรดนี้ จึงเปรียบเสมือนการเปรียบเทียบลักษณะลายนิ้วมือของคน ซึ่งที่ผ่านมานักวิจัยไทยมักจะไปใช้ห้องปฏิบัติการด้านนี้ในต่างประเทศ แต่ปัจจุบันห้องปฏิบัติการแสงสยามที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) สามารถให้บริการในด้านนี้ได้แล้ว
รศ.ดร.พัชรี กล่าวอีกว่า คณะผู้ทำวิจัยได้พัฒนาเทคนิคการเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดชนิดมีเซนไคมอล (เป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่แยกได้จากเซลล์หลายๆ ชนิดในร่างกาย ได้แก่ ไขกระดูก เม็ดเลือด และฟัน เป็นต้น) และทำการเหนี่ยวนำให้เกิดเซลล์เป้าหมายตามที่ต้องการ รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคนิคทางจุลทรรศน์ และสเปกโตรสโกปีของรังสีอินฟราเรด จากแสงซินโครตรอน เพื่อการตรวจจำแนกการเหนี่ยวนำให้เซลล์ต้นกำเนิดกลายเป็นเซลล์กระดูกอ่อน
ข้อดีจากการใช้แสงซินโครตรอนร่วมกับเทคนิคนี้ คือ แสงซินโครตรอนเป็นแสงที่มีขนาดลำแสงที่เล็กและคม สามารถใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์ได้ เป็นผลให้การวัดการดูดกลืน มีความแม่นยำกว่าการใช้แสงจากแหล่งกำเนิดโดยทั่วไป ซึ่งผลการทดลองที่ได้แสดงว่าเทคนิคดังกล่าวสามารถใช้ในการจำแนกเซลล์ต้นกำเนิด ที่ไม่มีการเหนี่ยวนำออกจากเซลล์ต้นกำเนิดที่ถูกเหนี่ยวนำให้กลายเป็นเซลล์กระดูกอ่อนในระยะต่างๆ
รศ.ดร.พัชรี กล่าวว่า ความสำเร็จครั้งนี้ จะส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคไขข้อเสื่อม เพราะทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาลงได้อีกกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้จะเสียค่าใช้จ่ายสูงในการรักษา และขณะนี้ทางคณะแพทย์ของ รพ.รามาธิบดี และคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรจน์ (มศว) อยู่ระหว่างการนำสเต็มเซลล์ที่ปลูกถ่ายเป็นกระดูกอ่อนได้ใหม่นี้ฉีดกลับเข้าไปในข้อเข่าของผู้ป่วยที่เป็นอาสาสมัคร 10 คน ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการทดลองได้ 9 เดือนแล้ว เพื่อดูผลของการรักษาว่า ถ้าผู้ป่วยได้รับการฉีดสเต็มเซลล์ฯ เข้าไปแล้วมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร หรือต้องมีการฉีดซ้ำ หรือไม่ใน 1 ปี คาดว่า จะนำมาใช้กับผู้ป่วยได้ทั่วไปในเร็วๆ นี้แน่