เดือน ก.ค.นี้ ครูฟิสิกส์ไทย 2 คนจะเดินทางไปร่วมอบรมหลักสูตร “ฟิสิกส์อนุภาค” กับครูฟิสิกส์อีกหลายชาติที่มุ่งหน้าสู่ “เซิร์น” องค์กรที่ครอบครองเครื่องอนุภาคขนาดมหึมา ใต้พรมแดนสวิส-ฝรั่งเศส ซึ่งเดินหน้าค้นหาความลับของจักรวาล
คนหนึ่งคือ ดร.ลือชา ลดาชาติ ครูฟิสิกส์จากโรงเรียนสายบุรี “แจ้งประชาคาร” โรงเรียนประจำอำเภอสายบุรี จ.ปัตตานี อีกคนคือ นายอนุชา ประทุมมา ครูฟิสิกส์จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม โรงเรียนวิทยาศาสตร์ต้นแบบ ทั้ง 2 คนเป็นตัวแทนครูฟิสิกส์ไทยที่จะเดินทางไปอบรมหลักสูตร “ฟิสิกส์อนุภาค” ที่ “เซิร์น” (CERN) ณ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ในเดือน ก.ค.นี้ ภายใต้โครงการครูสอนฟิสิกส์ภาคฤดูร้อนเซิร์น รุ่นที่ 2
ครูแดนปลายด้ามขวานมุ่งมั่นสื่อความรู้ “ฟิสิกส์อนุภาค”
ครูลือชาบอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า สำหรับเขาแล้ว ฟิสิกส์อนุภาคเป็นเรื่องใหม่ที่เขาอยากเรียนรู้ และก่อนเดินทาง เขาได้หาความรู้และข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของเซิร์น ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว เขามีความถนัดทางด้านกลศาสตร์มากที่สุด ส่วนการได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนในครั้งนี้เขาคาดหวังว่าจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับศาสตร์ใหม่ รวมถึงได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับการวิจัยทางด้านนี้
เป้าหมายของครูจากดินแดนปลายด้ามขวาน ไม่ได้มุ่งหวังให้นักเรียนทุกคนจบออกมาเป็นนักฟิสิกส์ แต่อยากให้เด็กๆ มีความสามารถใน “การรู้วิทยาศาสตร์” (scientific literacy) ด้วยบริบทของต่างจังหวัดเขาอยากให้เด็กๆ มีความรู้วิทยาศาสตร์พอที่จะตัดสินใจในชีวิตได้ เช่น การตัดสินใจจะสร้างหรือไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และจะเลือกด้วยเหตุผลอะไร เป็นต้น
ความรุนแรงหาใช่อุปสรรคหลักของครูชายแดนใต้
การเป็นครูในพื้นที่ชายแดนใต้ซึ่งมีสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการสอนหนังสือ หากแต่คุณครูลือชากลับบอกเราว่า อุปสรรคสำคัญคือการปริมาณเนื้อหาที่เยอะ เพราะธรรมชาติของการเรียนรู้นั้นต้องใช้เวลา และวิทยาศาสตร์ยังเป็นเรื่องที่ซับซ้อน อีกทั้งพื้นความรู้ของนักเรียนแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ทำให้การสอนเป็นเรื่องยาก ซึ่งเขาพบปัญหานี้มากในเด็กต่างจังหวัด
“เด็กทุกคนมีแววที่เรียนฟิสิกส์ได้ แต่อยู่ที่ว่าเราจะส่งเสริมเขาอย่างไร จากประสบการณ์ที่ผมสอนมา เด็กๆ มีความสนใจในฟิสิกส์ มีความตั้งใจ แต่ผลสัมฤทธิ์ที่ออกมาไม่ได้สูงนัก” คุณครูลือชาให้ความเห็น
ปัญหาครูโรงเรียนดัง
ในขณะที่เพื่อนครูจากแดนใต้มีปัญหาเรื่องพื้นฐานความรู้วิทยาศาสตร์ที่ไม่มากพอ ทางด้านครูอนุชาจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์ที่มีความพร้อมระดับต้นๆ ของประเทศก็เผชิญปัญหาในเรื่องความเก่งของเด็กนักเรียน ซึ่งเขาบอกกับเราว่าเด็กที่สอบเขามหิดลวิทยานุสรณ์ได้ถือว่าเป็นเด็กเก่งทุกคน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่สนุกไปกับการเรียนฟิสิกส์ สิ่งที่เขาทำได้คือสอนในระดับกลางๆ ให้นักเรียนทุกคนรับได้
“ผมสอนเด็ก ม.4 ซึ่งจะพบปัญหาเรื่องการปรับตัวจากการเป็นนักเรียน ม.ต้น สู่นักเรียน ม.ปลาย มีปัญหาว่าเขาไม่รู้จักวิชาฟิสิกส์ และมีความกดดันจากการเป็นนักเรียนระดับหัวกะทิจากโรงเรียนเดิม ซึ่งมีความคาดหวังจากครอบครัว เราไม่รู้ว่าเด็กเก่งหรือไม่เก่งจนกว่าจะสอบ อีกทั้งเด็กแต่ละคนเก่งไปคนละด้าน มีความสนใจที่แตกต่างกัน บางคนได้เกรด 4 วิชาฟิสิกส์แต่ไม่ได้อินกับวิชานี้ ซึ่งการอธิบายให้เด็กที่อินกับเด็กที่ไม่อินในวิชาฟิสิกส์นั้นต่างกัน” ครูอนุชากล่าว
สำหรับความคาดหวังจากการเป็นตัวแทนครูฟิสิกส์ไทยไปร่วมอบรมที่เซิร์นนั้น ครูอนุชาอยากจะได้เทคนิคการสอนและความรู้จากองค์กรวิจัยระดับโลกลับมา และการได้รับคัดเลือกครั้งนี้ทางโรงเรียนไม่ได้ประกาศให้รับรู้อย่างเป็นทางการ ดังนั้น จึงมีเด็กนักเรียนไม่กี่คนที่รู้ว่าเขาได้รับคัดเลือก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียนที่สนใจฟิสิกส์อยู่แล้ว
“ทำอย่างไรให้ฟิสิกส์เป็นเรื่องง่าย?”
สำหรับบางคนฟิสิกส์เป็นเรื่องสนุกสนานและเป็นวิชาที่น่าค้นหา แต่สำหรับบางคนฟิสิกส์เป็นยิ่งกว่ายาขม แล้วจะทำอย่างไรให้ฟิสิกส์เป็นเรื่องง่ายสำหรับคนกลุ่มนี้? ในมุมมองของครูอนุชาฟันธงไปว่า “ทำไม่ได้” แต่สิ่งที่ทำให้ฟิสิกส์เป็นเรื่องง่ายคือต้องมีใจรัก ส่วนครูลือชาบอกว่าฟิสิกส์ก็ยากเหมือนวิชาอื่นๆ และถึงแม้จะยากแต่ก็ต้องเรียนรู้
ในกรณีของนักเรียนไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ พวกเขาก็ต้องเรียนฟิสิกส์ แต่จะทำให้คนทั่วไปที่ร้างลาห้องเรียนมานานแทบจะจดจำไม่ได้แล้วว่าเคยเรียนอะไรมาบ้างนั้นสนใจฟิสิกส์ได้อย่างไร? สำหรับครูอนุชาเขาบอกว่าจำเป็นต้องมีระดับการสอน การจะเข้าใจในแบบนักวิจัยเลยนั้นเป็นเรื่องยาก สิ่งที่ทำได้คือทำให้คนทั่วไปเห็นความของวิทยาศาสตร์กายภาพ โดยทำให้เห็นถึงผลกระทบ เช่น หากไม่มีความรู้ทางด้านฟิสิกส์ เราก็ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีไฟฟ้าให้ใช้ เป็นต้น
สมการฟิสิกส์สำคัญแค่ไหน
“สมการยากๆ นั้นเป็นเรื่องระดับสูง เป็นวิธีที่จะพิสูจน์ไปให้ถึงองค์ความรู้ ซึ่งคนทั่วไปไม่จำเป็นต้องรู้ ผมเองก็จำสูตรไม่ได้แต่ผมรู้ว่ามันสำคัญอย่างไร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคอนเซปต์ (ความคิดรวบยอด) และเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าสมการ เช่น แสงซินโครตรอนเกิดจากการเคลื่อนที่ของประจุแบบมีความเร่งเข้าสู่ศูนย์กลาง แล้วปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแสง ส่วนสมการจะอธิบายความความเร่งเป็นเท่าไรจะได้พลังงานออกมาเท่าไร เป็นต้น สิ่งที่ควรรู้คือแสงเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วเอาไปใช้อะไรได้บ้าง เราต้องสอนให็เด็กเข้าใจตรงนี้ ส่วนสมการมีไว้สำหรับคนที่สนใจจริงๆ” ครูลือชาและคุณครูอนุชาให้ความเห็นที่สอดคล้องกัน
นอกจากครูหนุ่มทั้ง 2 คนที่จะเดินทางไปอบรมความรู้ด้านฟิสิกส์อนุภาคเป็นเวลา 3 สัปดาห์แล้ว ยังมีนักศึกษาไทยอีก 2 คน ที่จะเดินทางไปทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยที่เซิร์นภายใต้โครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อน รุ่นที่ 2 นั่นคือ น.ส.นันทา โสภณรัตน์ ซึ่งกำลังศึกษาปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ นายสุโข ก่องตาวงษ์ ซึ่งกำลังศึกษาปริญญาโท สาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ครูและนักเรียนทั้ง 4 คนจะได้รับการติวเข้มเกี่ยวกับเครื่องเร่งอนุภาค ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ก่อนเดินทางไปเซิร์นในช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้ และหวังว่าจะนำประสบการณ์จากองค์กรวิจัยระดับโลก มาพัฒนาการเรียนการสอน และการรู้วิทยาศาสตร์ไม่มากก็น้อย.