ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผู้ป่วยมะเร็งตับเฮ ทึ่ง! นักวิจัยไทยของ “มทส.-สถาบันแสงซินโครตรอน” วิจัยพัฒนา “เซลล์ตับ” จากสเต็มเซลล์ด้วยแสงซินโครตรอนได้สำเร็จ เผย ทดลองกับหนูได้ผลดีเยี่ยม เตรียมพัฒนาใช้กับมนุษย์ เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ ที่มักมีอาการข้างเคียงหลังเปลี่ยนตับใหม่ แต่สเต็มเซลล์ตับที่พัฒนานี้ไม่พบปัญหาดังกล่าว คาดใช้เวลาอีก 10 ปี ใช้กับคนได้สมบูรณ์
วันนี้ (1 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) อ.เมือง จ.นครราชสีมา รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พร้อมด้วย ดร.กาญจนา ธรรมนู นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และ รศ.ดร.ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้ร่วมกันแถลงผลสำเร็จในการวิจัยพัฒนาสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนหนูเพื่อเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ตับของมนุษย์ ได้สำเร็จ
รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มทส. เปิดเผยว่า อัตราการเสียชีวิตของคนไทยในปัจจุบันจากโรคมะเร็ง พบว่า โรคมะเร็งตับ พบมากเป็นอันดับหนึ่ง การรักษาผู้ป่วยโรคตับที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยา สามารถทำได้โดยการปลูกถ่ายอวัยวะ อย่างไรก็ตาม ยังมีรายงานถึงผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนถ่ายตับ เช่น ภาวะร่างกายต่อต้านอวัยวะที่ปลูกถ่าย (Rejection) นอกจากนั้น ยังพบปัญหาการขาดแคลนอวัยวะ ซึ่งมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสเต็มเซลล์เพื่อการรักษาโรคตับจึงเป็นอีกหนึ่งความหวังที่สำคัญ เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งลดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต
ล่าสุด มทส.ร่วมกับ นักวิจัยของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) พัฒนาสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนของหนูเพื่อเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ตับ และได้ทำการติดตามกระบวนการเปลี่ยนแปลงเซลล์ในระดับชีวโมเลกุล พร้อมทั้งทดสอบเทคโนโลยีการแยกเซลล์อย่างรวดเร็ว โดยใช้เทคนิคกล้องจุลทรรศน์อินฟราเรด (FTIR micro spectroscopy) ที่ห้องปฏิบัติการแสงสยาม สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา
สำหรับงานวิจัยครั้งนี้ เราให้ความสนใจที่การพัฒนาไปสู่เซลล์ตับ โดยเริ่มต้นพัฒนาเซลล์ต้นแบบจาก สเต็มเซลล์ตัวอ่อนของหนูทดลอง ซึ่งเป็นเซลล์ที่ได้จากการปฏิสนธิ และมีศักยภาพสูงที่จะเติบโตเป็นอวัยวะต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์เพื่อกระตุ้นให้พัฒนาเป็นเซลล์ตับนั้น จำเป็นต้องทราบการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์เดี่ยว (Single cell) เพื่อให้รู้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารชีวโมเลกุลอย่างไรบ้าง การติดตามการเปลี่ยนแปลงของเซลล์นี้ อาจทำให้เราทราบได้ถึงโอกาสที่จะเกิดความผิดปกติอื่นใดที่สามารถเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการพัฒนาเซลล์ และที่สำคัญ เมื่อเซลล์ถูกการกระตุ้นให้เป็นเซลล์ตับในระยะสุดท้ายแล้วนั้น เซลล์ตับสามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งเทคนิคการวิเคราะห์จากกล้องจุลทรรศน์อินฟราเรดโดยใช้แสงซินโครตรอน สามารถแสดงผลการพัฒนาไปสู่เซลล์ตับได้อย่างชัดเจนเป็นที่น่าพอใจมาก
“จากนี้ไปจะทดลองในสเต็มเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ (Embryonic Stem Cell) หรือ ด้วยสเต็มเซลล์ร่างกาย (Adult Stem Cell) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไปในอนาคต และคาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปีจะสามารถพัฒนาไปสู่การสร้างเซลล์ตับใหม่ให้กับมนุษย์ได้” รศ.ดร.รังสรรค์ กล่าว
ด้าน ดร.กาญจนา ธรรมนู นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ผลการติดตามกระบวนการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในงานวิจัยครั้งนี้ พบว่า เทคนิค FTIR micro spectroscopy สามารถใช้ในการคัดแยกเซลล์แต่ละประเภทออกจากกันได้อย่างดี โดยชุดข้อมูลจากเซลล์ตับในระยะสุดท้ายสามารถแยกออกจากชุดข้อมูลของเซลล์ในระยะอื่นๆ ที่ระดับความถูกต้อง 96%
นอกจากนี้ ยังพบว่า เซลล์ตับระยะเริ่มต้นมีการเปลี่ยนแปลงระดับของไขมันเพิ่มสูงขึ้น และเซลล์ตับระยะสุดท้ายพบการเปลี่ยนแปลงระดับของโปรตีนที่มีโครงสร้างทุติยภูมิ ชนิดอัลฟาเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสอดคล้องกับการผลิตโปรตีนอัลบูมินที่สูงขึ้นในเซลล์ตับปกติ เพื่อพร้อมในการทำหน้าที่ของเซลล์ตับที่สมบูรณ์ และการติดตามการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ระยะต่างๆ โดยใช้ เทคนิค FTIR micro spectroscopy ยังสามารถนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในการสร้างฐานข้อมูลในการตรวจ หรือจัดจำแนกเซลล์ตับที่ถูกต้อง และสมบูรณ์จากเซลล์ตั้งต้นได้รวดเร็วขึ้นกว่าวิธีปกติทั่วไป และช่วยลดข้อจำกัดในของการวิเคราะห์ทางชีวโมเลกุลซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งเทคนิคนี้ใช้เวลาในการตรวจวิเคราะห์สั้นกว่า และมีขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างที่ไม่ยุ่งยาก ตัวอย่างไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการการใช้สารเคมีใดๆ ซึ่งจะช่วยให้การทำงานของนักวิจัยรวดเร็ว และแม่นยำยิ่งขึ้น
สำหรับ งานวิจัยครั้งนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นงานวิจัยในระดับแนวหน้าของไทย