xs
xsm
sm
md
lg

พบไทยป่วยมะเร็งตับ เป็นอันดับ 6 ของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
พบมะเร็งไทยป่วยมะเร็งตับ เป็นอันดับ 6 ของโลก ชี้ คร่าชีวิตผู้ป่วยชายมากเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งชนิดอื่น ส่วนหญิงเป็นอันดับ 3 สถาบันมะเร็งฯเร่งเดินหน้าโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยนวัตกรรมใหม่

วันนี้ (1 ธ.ค.)นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ  ประธานมูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวแถลงข่าวในงานครบรอบ 2 ปี “โครงการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งตับตามแนวทางการรักษาด้วยนวัตกรรม ใหม่ว่า โรคมะเร็งตับ หรือ เฮ็บปาโตม่า (HCC ) ว่า มะเร็งตับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆในทั้งชายและหญิง    โดยสถานการณ์โรคมะเร็งตับทั่วโลกในพบว่า ประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุด คือ มองโกเลีย ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 6 แต่สำหรับการสำรวจในเอเชีย พบว่า อัตราการเสียชีวิตของคนไทยอยู่อันดับที่ 5   และหากแบ่งเป็นเพศพบว่า เพศชายมีอัตราการตายจากมะเร็งตับเป็นอันดับที่ 1 รองลงมาคือมะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งปอด สำหรับในเพศหญิงอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก

“ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุวัยทำงาน  ซึ่งเป็นกำลังหลักของชาติ โดยผู้ป่วยที่เป็นส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัว เนื่องจากจะไม่ค่อยปรากฏอาการ และผู้ป่วยไม่สังเกตเห็นจนกระทั่งเมื่อเข้าสู่ระยะลุกลามมากแล้ว ซึ่งสัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าเป็นมะเร็งตับ คือ อาการปวดท้องโดยไม่มีสาเหตุ น้ำหนักตัวลดลง อาการบวมบริเวณขาท่อนล่างและช่องท้อง  ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือที่เรียกว่า ดีซ่าน มีปัญหาด้านความจำ และมีแผลในกระเพราะอาหาร ขณะนี้ในสถาบันมีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการ จำนวน 170 ราย” นพ.ธีรวุฒิ กล่าว

ประธานมูลนิธิสถาบันมะเร็ง กล่าวด้วยว่า อาการของมะเร็งตับแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1.ระยะเริ่มแรกและตับที่เหลือยังมีสภาพที่สมบูรณ์อยู่ รักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนตับเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด 2.ระยะลุกลาม รักษาโดยการฉีดสารยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง  3.ระยะปลาย รักษาได้ตามอาการเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีการรักษาอีก 3 ช่องทาง คือ การรักษาด้วยรังสี เป็นการปล่อยคลื่นความถี่สูงเพื่อฆ่าเชื้อมะเร็ง แต่จะส่งผลกระทบต่อเซลล์ข้างเคียงที่ไม่ใช่เซลล์มะเร็งด้วย เพราะการฉายรังสีแบบไม่จำเพาะต่อเป้าหมาย  วิธีเคมีบำบัด รักษาโดยการใช้ยาเคมีบำบัดฉีดเข้าไปในร่างกาย การให้เคมีบำบัดอาจทำโดยส่งยาเคมีไปยังบริเวณที่มีเซลล์มะเร็งตับโดยตรง เพื่อทำให้เส้นเลือดแดงที่ผ่านไปยังเซลล์มะเร็งดังกล่าวอุดตันทำให้ก้อน เนื้อมะเร็งขาดเลือดไปเลี้ยงและตายในที่สุดแต่ในการศึกษาพบว่าวิธีนี้ไม่ ช่วยยืดอายุให้กับผู้ป่วยปัจจุบันจึงยกเลิกการใช้ยาเคมีบำบัด และการฉีดสารแอลกอฮอล์เข้าก้อนมะเร็ง เป็นวิธีการรักษาโดยใช้เข็มฉีดยาขนาดเล็กฉีดสารเอทานอลลงไปโดยตรงที่ก้อนมะเร็งเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง

รศ.นพ.นรินทร์  วรวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การรักษาด้วยนวัตกรรมใหม่ด้วยยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์เป้าหมาย หรือ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Sorafenib  นับว่าเป็นความสำเร็จอย่างสูงในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งตับระยะลุกลาม ที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดและฉีดเคมีบำบัดเฉพาะที่ ให้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของทั้งผุ้ป่วยและญาติให้ดียิ่งขึ้นและเป็นการแบ่ง เบาภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโครงการนี้จึงเป็นอีกทางที่เพิ่มโอกาสให้ ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น

“ในประเทศไทยใช้ยาตัวนี้มา 3 ปีแล้ว และพบว่า ผู้ที่เข้าร่วมโครงการมีอายุยืดขึ้น 14 เดือน ถือว่ามากที่สุดในบรรดาประเทศอื่นที่ใช้ยาตัวนี้เช่นกัน เพราะส่วนใหญ่จะอยู่ได้มากที่สุด 10 เดือน อัตราในการรับประทานยา คือ วันละ 4 เม็ด แต่ผู้ป่วยของไทยสามารถทานยาได้ 3 เม็ดต่อวัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องพิจารณาจากระยะของโรคความรุนแรงของโรคและสภาพร่างกาย ของผู้ป่วยด้วย” รศ.นพ.นรินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับผู้ป่วยที่สนใจเข้าโครงการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งตับตามแนวทางการรักษาด้านนวัตกรรมใหม่ ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับจากโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ  ที่มีแพทย์เฉพาะทางให้การรักษา สามารถเข้าร่วมโครงการ ได้โดยต้องมีคุณสมบัติต่างๆ ดังนี้ ผู้ป่วยต้องมีสัญชาติไทย หรือมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย,ผู้ป่วยต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้ เชี่ยวชาญว่าเป็นมะเร็งไต หรือมะเร็งตับ ตามข้อบ่งชี้ที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา (อย.), ผู้ป่วยต้องมีรายได้ไม่เกินปีละ 2,000,000 บาท/ปี(ใช้เอกสารใบรับรองการเสียภาษีประจำปี และ/หรือ สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน และ/หรือ สำเนาใบเสร็ํจรับเงินค่าไฟฟ้า),ผู้ป่วยต้องไม่ได้รับสิทธิในการเบิกค่ายาดัง กล่าวจากสังกัดใดๆ และไม่ได้รับการสนับสนุนจากที่ใดทั้งสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น