xs
xsm
sm
md
lg

เผย “มะเร็ง” สาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทย 10 ปีซ้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เผยมะเร็งคุกคามชีวิตคนทั่วโลกรุนแรง ตายปีละเกือบ 8 ล้านคน ในไทยพบเป็นเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทยติดต่อกันกว่า 10 ปี ล่าสุดปี 2553 ทั่วประเทศ มีรายงานเสียชีวิต 58,076 คน มากสุดจากมะเร็งตับ และป่วยเข้าโรงพยาบาลกว่า 2 แสนคนมากสุดมะเร็งลำไส้ใหญ่ แนวโน้มจำนวนเพิ่มขึ้น สั่งทุกจังหวัดเร่งป้องกัน ค้นหาผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว รณรงค์ “5 ทำ 5 ไม่” ห่างไกลมะเร็ง ระบุในปี 2554 ใช้งบรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ประมาณ 5,700 ล้านบาท
นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์
วันนี้ (3 ก.พ.) ที่ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยพญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดงาน “4 กุมภาพันธ์ วันมะเร็งโลก” จัดโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสมาคมมะเร็งแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อรณรงค์ให้รู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับมะเร็ง

นพ.สุรวิทย์กล่าวว่า ขณะนี้โรคมะเร็งกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่รุนแรงระดับโลก เป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิตประชาชนที่อยู่ในวัยแรงงาน และผู้สูงอายุมากที่สุด โดยมีรายงานพบผู้ป่วยโรคมะเร็งทั่วโลกปีละ 13.7 ล้านคน เสียชีวิตปีละ 7.6 ล้านคน แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกประเทศ องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าในอีก 18 ปีข้างหน้า คือ ในปี 2573 จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ทั่วโลกประมาณ 17 ล้านคน ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก องค์การอนามัยโลกได้เรียกร้องให้ทุกประเทศ เร่งป้องกัน ลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งให้เร็วที่สุด และกำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ทุกปีเป็นวันมะเร็งโลก (World Cancer Day) เพื่อกระตุ้นให้ทุกประเทศรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนเพื่อป้องกันการป่วย ภายใต้หัวข้อ “รวมกันย่อมเป็นไปได้” หรือ Together it is possible โดยกำหนดให้ทุกประเทศลดอัตราการตายโรคมะเร็งให้ได้ร้อยละ 25 ภายในปี 2568

นพ.สุรวิทย์กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทย พบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายสูงอันดับ 1 ของคนไทยต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี 2543 ประมาณร้อยละ 20 ของผู้เสียชีวิตทุกสาเหตุ ขณะนี้โครงการ 30 บาทฯ ได้จัดสิทธิประโยชน์รักษาโรคมะเร็งทุกชนิดฟรี ในปี 2554 ใช้เงินรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งประมาณ 5,700 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ร้อยละ 30-40 ของโรคมะเร็งสามารถป้องกันได้ ในปี 2555 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการรณรงค์ป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งพบมากเป็นอันดับต้นๆ ในผู้หญิงไทย และเป็นมะเร็งที่ตรวจพบได้ด้วยเครื่องมือง่ายๆ โดยจะตรวจคัดกรองให้ผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไปที่มีประมาณ 15 ล้านคนฟรี ใช้งบประมาณจากโครงการ 30 บาทฯ ประมาณ 500 ล้านบาท หากพบจะให้การรักษาฟรี โรคนี้หากรักษาตั้งแต่โรคยังไม่ลุกลาม จะมีโอกาสหายได้ และไม่เสียชีวิต และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รณรงค์ 5 ทำ 5 ไม่ เพื่อให้ห่างไกลมะเร็ง โดยให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นแกนหลักดำเนินการร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข

ด้าน พญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในปี 2553 ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิดเข้ารักษาในโรงพยาบาล 269,204 คน มากที่สุดมะเร็งลำไส้ใหญ่ 49,409 คน รองลงมามะเร็งท่อน้ำดี 40,373 คน มะเร็งเต้านม 35,654 คน มะเร็งปากมดลูก 22,115 คน และมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์หญิง 15,713 คน มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งทุกชนิด 58,076 คน เป็นชาย 33,659 คน หญิง 24,417 คน โดยเป็นมะเร็งตับ-ท่อน้ำดีมากที่สุด 14,008 คน รองลงมาได้แก่ มะเร็งหลอดคอ-หลอดลมใหญ่และปอด 9,310 คน มะเร็งเต้านม 2,515 คน มะเร็งปากมดลูก 1,746 คน คาดอีก 3 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 133,767 คน และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็ง 84,662 คน อัตราส่วนชาย-หญิงใกล้เคียงกัน

ทั้งนี้ การก่อตัวของโรคมะเร็งจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่รู้ตัว ขอแนะนำผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพค้นหาความผิดปกติอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากตรวจพบเร็วโอกาสรักษาหายจะมีสูง สัญญาณผิดปกติที่สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งมี 7 ประการ ได้แก่ 1. มีเลือดออกหรือมีสิ่งขับออกจากร่างกายผิดปกติ เช่นตกขาวมากเกินไป 2. มีก้อนเนื้อหรือตุ่มเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งของร่างกายและก้อนนั้นโตเร็ว 3. มีแผลเรื้อรังรักษาหายยาก 4. ถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะผิดปกติ หรือเปลี่ยนไปจากเดิม 5. เสียงแหบหรือไอเรื้อรัง 6. กลืนอาหารลำบากหรือทานอาหารแล้วไม่ย่อย และ 7. มีการเปลี่ยนแปลงของหูดหรือไฝ หากมีอาการเหล่านี้ขอไปให้พบแพทย์โดยเร็ว

วิธีการปฏิบัติตัวที่จะทำให้โรคมะเร็งไม่มาใกล้ตัวเรา มีกิจกรรมที่ควรทำ 5 ประการ คือ ออกกำลังกายเป็นนิจ ทำจิตแจ่มใส กินผักผลไม้ อาหารหลากหลาย ตรวจร่างกายเป็นประจำ และสิ่งที่ไม่ควรทำเลยมี 5 ประการ คือ ไม่สูบบุหรี่ ไม่มีเซ็กซ์มั่ว ไม่มัวเมาสุรา ไม่ตากแดดจ้า และไม่กินปลาน้ำจืดดิบ แพทย์หญิงวิลาวัณย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น