พบพฤติกรรมการกินเสี่ยงก่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทวารหนักเพิ่มขึ้น หลังพบผู้ป่วยรายใหม่พุ่ง 1 หมื่นรายต่อปี สถาบันมะเร็งฯ จ่อเดินหน้าแผนตรวจคัดกรองระดับชาติ
นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวถึงภัยคุกคามสุขภาพเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ว่า ขณะนี้ประชากรโลกเริ่มมีการใช้ชีวิตที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะมีการกินอาหารที่ไม่พิถีพิถัน จึงก่อเกิดโรคอันตราย โดยเฉพาะโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร อย่างมะเร็งลำไส้ใหญ่ และ มะเร็งทวารหนัก ซึ่งกลุ่มประเทศในเอเชีย พบอุบัติการณ์โรคนี้มากที่สุด เนื่องจากการนิยมบริโภคอาหารที่ปิ้ง ย่าง และบริโภคอาหารหมักดอง ซึ่งผ่านกระบวนการถนอมอาหารที่ก่อเกิดสารอันตรายที่เป็นปัจจัยการเกิดมะเร็งดังกล่าว เช่น สารกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAH : Polycyclic aromatic hydrocarbon ) โดยในประเทศไทยนั้น ในเพศชาย พบอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่/มะเร็งทวารหนักเป็นลำดับที่ 3 รองจากมะเร็งตับ และมะเร็งปอด ขณะที่เพศหญิงพบเป็นอันดับ 5 รองจากมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ มะเร็งปอด โดยพบผู้ป่วยใหม่เฉลี่ยในภาพรวมประมาณ 1 หมื่นรายต่อปี และอัตราการตายเฉลี่ย 50% ของผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนมากพบในอายุ 50 ปี ขึ้นไป ซึ่งไม่ได้หมายความว่า คนอายุน้อยจะไม่มีโอกาสเป็น เพราะมะเร็งดังกล่าวใช้เวลาในการก่อตัวเพื่อแสดงอาการอย่างชัดเจน ก็ใช้เวลานาน จึงมักตรวจพบในผู้ที่มีอายุมาก แต่หากมีการตรวจก่อนก็อาจพบก้อนเนื้อร้ายที่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง เรียกว่า ระยะก่อนมะเร็ง โดยแพทย์จะตรวจจากเลือดแฝงในอุจจาระ ซึ่งต้องใช้ชุดทดสอบตรวจความเสี่ยงในอุจจาระ
นพ.ธีรวุฒิ กล่าวอีกว่า จากการคาดการณ์ของหลายๆ หน่วยงาน พบว่า สถานการณ์มะเร็งระบบทางเดินอาหารนั้นเริ่มรุนแรงขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เป็นวาระการรณรงค์เพื่อตรวจคัดกรองผู้เข้าข่าย เสี่ยงเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ระดับชาติ ให้เหมือนกับการรณรงค์ตรวจมะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ และมะเร็งเต้านม ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว โดยมีประเทศที่เจริญแล้วเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังในการรณรงค์ตรวจคัดกรอง หามะเร็งดังกล่าวในระดับชาติ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และ ญี่ปุ่น ซึ่งไทยได้เคยนำร่องการดำเนินการดังกล่าวไปแล้วในพื้นที่ จ.ลำปาง โดยดำเนินการตรวจอุจจาระไปประมาณ 5 หมื่นราย พบป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ 6 ราย และพบก้อนเนื้อเสี่ยงมะเร็ง 10 ราย คาดว่า ในการทดสอบนโยบายตรวจคัดกรองครั้งต่อไปน่าจะเริ่มตรวจในประชากรราว 1 .5 แสนราย เพื่อศึกษาสถานการณ์ ก่อนจะพัฒนาเป็นนโยบายระดับชาติ เนื่องจาก ประชากรโลกในปัจจุบันเสี่ยงเกิดภัยคุกคามจากการบริโภคอาหารมากขึ้น
“เนื่องจากคนไทยยังติดปัญหาเรื่องการอายที่จะส่งอุจจาระมาให้แพทย์ตรวจ ขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างญี่ปุ่น ถึงขั้นส่งตรวจทางไปรษณีย์แล้วนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องค่อยๆ ดำเนินการ ดังนั้น หากพบว่าการตรวจคัดกรองสามารถลดผู้ป่วยรายใหม่ได้ดี ในอนาคตอาจอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อประสานงานกับอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน หรือ อสม.ในการเชิญชวนประชาชนเข้าตรวจคัดกรอง เพื่อจะได้รักษาได้ทัน คาดว่า อาจเริ่มนำร่องเพิ่มเติมในปี 2555-2556” นพ.ธีรวุฒิ กล่าว
ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งฯ กล่าวด้วยว่า สำหรับอาการที่เข้าข่ายการป่วยเนื้องอกก่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งทวารหนักนั้น อาจเริ่มที่การปวดท้อง อุจจาระเป็นเลือด ขับถ่ายลำบาก ซึ่งบางคนเข้าใจว่าเป็นอาการของริดสีดวง แต่แท้จริงแล้วอาจกำลังอยู่ในภาวะเกิดเนื้อร้ายก็เป็นได้ ซึ่งการตรวจเลือดแฝงในอุจจาระจะสามารถวิเคราะห์ได้ แต่ต้องส่องกล้องดูเลือดในห้องปฏิบัติการ เนื่องจากเลือดแฝงจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า โดยหากพบเนื้อร้ายก็จะตัดออกทันที เพื่อตัดภาวะเกิดมะเร็ง และหากจะวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง หรือไม่ต้องผ่านการวิเคราะห์ก้อนเนื้อก่อน