xs
xsm
sm
md
lg

“ศิริราช” โชว์ผ่าตัดมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีส่องกล้องครั้งแรกในเอเชียอาคเนย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงพยาบาลศิริราชแถลงข่าว ความสำเร็จของการรักษา มะเร็งปากมดลูกโดยวิธีการผ่าตัดส่องกล้องช่วยสตรีมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ เป็นครั้งแรกในเอเชียอาคเนย์ ณ.ห้องประชุมโรงพยาบาลศิริราช
“ศิริราช” โชว์ความสำเร็จ ผ่าตัดมะเร็งปากมดลูกด้วยการส่องกล้องสำเร็จครั้งแรกในเอเชียอาคเนย์ ขณะทั่วโลกสำเร็จแค่ 50 ราย ช่วยผู้ป่วยให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้โดยไม่ต้องตัดมดลูกทิ้ง แถมเจ็บแแผลน้อย



วันนี้ (12 ม.ค.) ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการแถลงข่าว เรื่อง “ศิริราชรักษามะเร็งปากมดลูก โดยวิธีผ่าตัดส่องกล้อง ช่วยสตรีมีโอกาสตั้งครรภ์ สำเร็จเป็นครั้งแรกในเอเชียอาคเนย์” ว่า ความสำเร็จครั้งนี้ถือเป็นมาตรฐานทางการแพทย์ของ ศิริราชที่น่าสนใจ และเป็นวิธีการรักษาที่มีคุณภาพ ซึ่งนับเป็นความภูมิใจอีกครั้งของศิริราชพยาบาล

ขณะที่ ศ.คลินิก นพ.ชาญชัย วันทนาศิริ หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา กล่าวว่า ในสตรีไทยพบอัตราการป่วยมะเร็งปากมดลูกมากเป็นอันดับ 2 ลองจากมะเร็งเต้านม พบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 6,000 รายต่อปี เฉพาะที่ รพ.ศิริราช มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่ศิริราชฯราว 500 รายต่อปี วิธีการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะแรก เดิมจะใช้การผ่าตัดเนื้อร้าย เส้นน้ำเหลืองโดยรอบ และต้องตัดมดลูกทิ้งทั้งหมด ทำให้ผู้ป่วยไม่มีประจำเดือนและหมดโอกาสในการมีบุตร แต่วิธีการผ่าตัดด้วยเทคนิคการส่องกล้องจะตัดเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อร้ายและเก็บรักษามดลูกไว้เช่นเดิม

ด้าน รศ.นพ.พีรพงศ์ อินทศร อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาและแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของสตรีไทย โดยทั่วไปผู้ที่เป็นมะเร็งปากมดลูกจะอยู่บริเวณปากมดลูก การรักษาในผู้ป่วยที่พบมะเร็งในระยะที่ 1 เดิมแพทย์จะต้องทำการผ่าตัดมดลูกทิ้งทั้งหมดและตัดเส้นเลือดและเนื้อเยื่อเป็นบริเวณกว้าง เพื่อให้มีอัตราหายสูง 90-95% แต่ผู้ป่วยจะต้องสูญเสียมดลูกทำให้ไม่มีประจำเดือนและสูญเสียโอกาสการตั้งครรภ์ ทำให้มีแนวคิดใหม่ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอายุน้อยและยังไม่มีบุตร โดยผ่าตัดเฉพาะส่วนที่พบเนื้อร้ายและเก็บมดลูกไว้ เรียกว่า การผ่าตัดด้วยเทคนิคการส่องกล้อง โดยวิธีการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องนั้น แพทย์จะใช้วิธีเจาะรูหน้าท้องของผู้ป่วยประมาณ 5 รู ขนาดความกว้างของรูประมาณ ละ 5 มม.แล้วเป่าลมผ่านท่อเพื่อเปิดช่องท้องให้โป่งพอง ให้ง่ายต่อการผ่าตัด จากนั้นแพทย์จะทำการผ่าตัด ด้วยการตัดต่อมน้ำเหลืองเพื่อสกัดการกระจายของมะเร็งไปในส่วนต่างๆ และตัดตัวปากมดลูกคล่อมเกินมาบริเวณช่องคลอดบางส่วน และเนื้อเยื่อช่องคลอดทิ้ง แล้วเย็บส่วนปลายมดลูกต่อเข้ากับช่องคลอดส่วนที่ไม่พบเนื้อร้ายและไม่ได้ตัดทิ้ง หลังการผ่าตัดส่วนที่เป็นมดลูก ช่องคลอดและรังไข่ยังมีเหมือนคนปกติ โดยใช้เวลาประมาณ 5 ชม.ซึ่งรวมถึงการจัดเก็บเส้นเลือดรอบมดลูกอย่างละเอียด ขณะที่การผ่าตัดแบบเดิมจะกินเวลาประมาณ 4 ชม.โดยใช้ทีทแพทย์รวมกันประมาณ 6 ท่าน

“สำหรับประโยชน์ของการผ่าตัดด้วยเทคนิคนส่องกล้อง คือ ช่วยขยายภาพอวัยวะภายในช่องท้องให้ใหญ่ขึ้น ทำให้มองเห็นเส้นเลือดเส้นเล็กๆ แพทย์จึงสามารถเลือกตัดเส้นเลือดเส้นที่ไปเลี้ยงบริเวณที่เป็นมะเร็งและเก็บเส้นเลือดเส้นที่เลี้ยงมดลูกไว้ ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกได้เช่นเดิม ผู้ป่วยจึงมีประจำเดือน เมื่อมีการตั้งครรภ์เส้นเลือดก็จะช่วยเลี้ยงทารกในครรภ์ได้จนคลอด อีกทั้งประโยชน์เมื่อเทียบกับการผ่าตัดด้วยการเปิดช่องท้องแบบเดิม การส่องกล้องจะมีแผลเล็กกว่า เจ็บแผลน้อยกว่า ทำให้เกิดผังผืดในช่องท้องน้อยกว่าและสามารถเก็บรายละเอียดต่างๆ ได้มากกว่า โดยภายหลังการติดตามการผ่าตัดในผู้ป่วยคนแรกนั้น พบว่า การผ่าตัดเรียบร้อยดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง มีประจำเดือนปกติสำหรับโอกาสที่จะกลับมามีบุตรได้ก็สามารถทำได้หลังการผ่าตัดไปแล้ว 1-2 ปี แต่หากจะทำคลอดกรณีนี้ต้องใช้วิธีผ่าตัดเท่านั้น" รศ.นพ.พีรพงศ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีการใช้เทคนิคนี้มีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง รศ.นพ. พีรพงศ์ กล่าวว่า เทคนิคนี้ใช้ได้ในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1 และต้องไม่ป่วยเบาหวาน หรือโรคเรื้อรังที่เป็นอุปสรรคต่อการควบคุมเส้นเลือด อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของไทยและเอเชียตะวัoออกเฉียงใต้ ในขณะที่ทั่วโลกมีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาวิธีนี้สำเร็จประมาณ 50 ราย และในเอเชียมีประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน ซึ่งผู้ป่วยรายแรกที่ ศิริราชผ่าตัด นั้นมีอายุประมาณ 30 ปี โดยผู้ป่วยยอมรับว่า ยังคงต้องการมีบุตร จึงลองตัดสินใจใช้ทางเลือกการผ่าตัดตามคำแนะนำของแพทย์ โดยภายหลังการผ่าตัด ยืนยันว่า เจ็บแผลเล็กน้อย แต่เคลื่อนไหวและรับประทานอาหารได้ปกติ

ศ.คลีนิก นพ.อุดม คชินทร  คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น