โดย จารยา บุญมาก
มาถึงยุคนี้ “มะเร็ง” อาจเป็นเรื่องที่แสนธรรมดาสำหรับบางคนกับการกล่าวถึงอันตรายของโรค กระนั้นความน่ากลัวก็ยังคงมีอยู่และไม่มีใครปรารถนาจะให้เกิดขึ้นกับตัวเองและคนใกล้ชิด เนื่องด้วยมูลค่าการรักษาแสนแพงแต่ยื้อชีวิตได้ไม่กี่ปี
นพ.ฉัตรชัย คูวัธนไพศาล อายุรแพทย์โรคมะเร็ง โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช และกรรมการกลางมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถิติการป่วยเป็นโรคมะเร็งทั่วประเทศ รายงานปี 2553 พบว่า มีผู้ป่วย 241,051 ราย โดยมะเร็งที่พบบ่อย ในเพศชาย อันดับ 1 มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี 2. มะเร็งปอด 3.มะเร็งลำไส้ใหญ่ 4.มะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนเพศหญิง อันดับ 1 มะเร็งเต้านม ซึ่งขยับจากอันดับ 2 มาเป็นอันดับ 1 2.มะเร็งปากมดลูก 3.มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี 4.มะเร็งปอด และ 5.มะเร็งลำไส้ใหญ่
โดยเสียค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 40,000 บาทต่อคน และวิธีที่แพทย์มักใช้รักษาเพื่อบรรเทาอาการของผู้ป่วยและยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง คือ การรักษาที่เรียกว่า เคมีบำบัด หรือ คีโม (Chemotherapy) ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้แม้จะเป็นที่นิยมแต่ก็ใช้ไม่ได้กับผู้ป่วยทุกคน
นพ.เจษฎา มณีชวขจร อายุรแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กรรมการมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย อธิบายเกี่ยวกับการทำเคมีบำบัดเพิ่มเติมว่า โดยปกติแพทย์จะให้ 4-6 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 3-4 สัปดาห์ โดยในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้และมะเร็งปอด จะเป็นการให้เพื่อการรักษาเสริม เพื่อเพิ่มโอกาสในการยื้อชีวิตผู้ป่วยไปต่อสัก 1-3 ปี โดยหวังผลตอบสนองจากการรักษาแค่ 30-40% ซึ่งไม่สามารถทำได้ในผู้ป่วยทุกราย ทั้งนี้การพิจารณาของแพทย์ว่าเห็นควรต้องทำเคมีบำบัดหรือไม่นั้น เบื้องต้น ผู้ป่วยต้องไม่มีอาการเหนื่อยง่าย เป็นโรคหอบ อ่อนเพลีย เนื่องจากการมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรงพอจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถต้านทานต่อยาได้
สำหรับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังจากการให้ยาเคมีบำบัดในแต่ละคนจะแตกต่างกัน โดยอาการที่พบ บ่อยได้แก่ อาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตามร่างกาย ท้องผูก ท้องเสีย ภาวะซีด เนื่องด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำ โดยอาการดังกล่าวเกิดจากการที่ยาที่ใช้ไม่เพียงแต่ต้านการแบ่งเซลล์ของมะเร็งเท่านั้น แต่ยังออกฤทธิ์ทำให้การทำงานของเซลล์ปกติได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งอาการทั้งหมดนี้จะหายได้อย่างเร็ว 3 วัน บางรายภูมิต้านทานต่ำมาก ปวดเมื่อยตามข้อมือ ปวดศีรษะ และปวดท้องจุก ปวดบริเวณใบหู มีไข้สูงอาการดังกล่าวสร้างความกังวลใจอย่างมากแก่ผู้ป่วย ดังนั้นหากมีอาการปวดร่างกายผิดปกติหลังให้ยาเคมีบำบัดควรรีบปรึกษาแพทย์ พึงระวัง ว่าห้ามซื้อยาแก้ปวด และยาลดไข้รับประทานเอง
นพ.เจษฎา แนะนำผู้ที่คลื่นไส้อาเจียนมากๆ ให้ทานอาหารแห้งๆ จำพวก ข้าวสวย ขนมปัง หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดมีกลิ่นฉุนด้วย หากทานอาหารเสร็จควรนั่งพักผ่อน อย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อให้อาหารย่อยเสียก่อนแล้วค่อยนอน
ในตอนท้าย นพ.เจษฎา กล่าวสภาพความจริงแล้ว การทำเคมีบำบัดอาจรักษาหายขาดได้ในมะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งตอมน้ำเหลือง มะเร็งลูกอัณฑะ แต่มะะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งปอดซึ่งมีสาเหตุหักจากการสูบบุหรี่นั้น การรักษาด้วยเคมีบำบัดไม้ที่มีประสิทธิภาพสูงถึงขั้นทำให้หายขาดได้ แต่ที่แพทย์แนะนำ เพราะสามารถควบคุมไม่ให้โรคลุกลาม โดยหวังผลแค่ยืดอายุผู้ป่วยให้นานกว่าเดิมเท่านั้น
แม้ว่าวิทยาการทางการแพทย์จะก้าวหน้าไปเพียงใด การป้องกันโรคมะเร็งด้วยการทานอาหารที่ดี หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ย่อมเป็นหนทางที่ทำได้ง่ายที่สุด อย่างน้อยไม่ต้องเสียเวลามานอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ไม่ต้องทรมานกับการรับยาเคมีบำบัด ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นหมื่นเป็นแสน เชื่อว่า รักษาสุขภาพให้ดี ผู้ป่วยมะเร็งจะลดลงได้ในไม่ช้า