xs
xsm
sm
md
lg

“มะเร็งปากมดลูก” รู้ทัน ป้องกันได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
ขึ้นชื่อว่ามะเร็ง ใครๆ ก็ไม่อยากเป็น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า อันตรายของมะเร็งทุกชนิดคือ การทำให้สูญเสียการทำงานของอวัยวะที่เกิดโรคหรือโรคแพร่กระจายไป ดังนั้น อันตรายของโรคมะเร็ง จึงขึ้นอยู่กับอวัยวะที่เกิดมะเร็งและอวัยวะที่แพร่กระจาย ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม

สำหรับมะเร็งปากมดลูกนั้น แม้ว่ามดลูกจะไม่ใช่อวัยวะสำคัญในการดำรงชีวิต แต่ก้อนมะเร็งเฉพาะที่สามารถทำให้เกิดการเสียเลือดทั้งเรื้อรัง และรุนแรงที่อาจเกิดอันตรายถึงชีวิต และยังทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมาน ไปจนถึงการกดเบียดท่อไต ทำให้ไตวายได้ และอันตรายนอกจากนี้ก็คือ การล้มเหลวของอวัยวะที่โรคกระจายไป มะเร็งปากมดลูกจึงเป็นมะเร็งร้ายที่คร่าชีวิตหญิงไทยมากถึงประมาณ 5,200 คน ต่อปี หรือคิดเฉลี่ยแล้ว หญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก ถึงวันละ 14 คนทีเดียว

รศ.พญ.เยาวลักษณ์ ชาญศิลป์ ภาควิชารังสีรักษา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า สาเหตุของมะเร็งปากมดลูกมีความเกี่ยวเนื่องกับเพศสัมพันธ์ ผู้มีอัตราเสี่ยงต่อโรคนี้ คือ ผู้ที่มีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี โดยเฉพาะในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย ผู้มีบุตรมาก ผู้มีเพศสัมพันธ์กับชายหลายคน ผู้มีเพศสัมพันธ์กับชายที่มีคู่นอนหลายคน อย่างไรก็ตามผู้หญิงที่มีครอบครัวและมีสามีเดียวก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน เพราะโรคมะเร็งปากมดลูกสัมพันธ์กับการบาดเจ็บ หรือการระคายเคืองเรื้อรัง โดยเฉพาะถ้ามีบุตรมาก หรือสามีมีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี หรือสามีมีคู่นอนหลายคน นอกจากนี้ยังพบว่าผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อไวรัส HIV จะมีอัตราเสี่ยงสูงกว่าคนปกติ 5-6 เท่า ส่วนในประเทศที่ผู้ชายได้รับการขลิบปลายอวัยวะเพศ จะมีอุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกลดลง

สำหรับอาการผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกนั้น ในระยะแรกจะไม่มีอาการ แต่ตรวจพบจากการตรวจภายใน ซึ่งนับเป็นโชคดีอย่างหนึ่งของผู้หญิงที่มะเร็งปากมดลูกสามารถตรวจได้ง่าย จึงตรวจพบได้ตั้งแต่ก่อนแสดงอาการ และยังสามารถตรวจพบภาวะผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกได้ตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนไปเป็นเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ตาม หากเริ่มมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณร้ายของมะเร็งปากมดลูก

-การมีเลือดออกทางช่องคลอด ทั้งเพียงเล็กน้อยหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือการมีเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน การมีเลือดประจำเดือนมากหรือนานกว่าปกติ

-การมีของเหลวออกทางช่องคลอดหรือตกขาว ทั้งที่เป็นน้ำและข้น เป็นมูก เป็นหนอง มีเลือดปน มีเศษเนื้อปน แม้มีกลิ่นหรือไม่มีกลิ่นก็ตาม

-ในรายที่โรคมีขนาดใหญ่ อาจทำให้เกิดการปวดถ่วงบริเวณท้องน้อย ปัสสาวะขัดหรือถ่ายอุจจาระลำบาก หรือกดเบียดท่อไตทำให้ไตทำงานผิดปกติ จนอาจถึงไตวายได้
ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
-ในระยะแพร่กระจาย อาจกระจายตามระบบน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง เกิดอาการปวดหลัง ปวดจุกลิ้นปี่ หรือแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่ไหปลาร้า โดยเฉพาะข้างซ้าย และยังอาจกระจายตามกระแสเลือดไปยังปอด ตับ กระดูก และสมองด้วย

ดังนั้น ผู้หญิงทุกคนจะต้องเอาใจใส่ต่อสุขภาพ ตรวจคัดกรองเป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่ง รศ.พญ.เยาวลักษณ์ ชาญศิลป์ กล่าวแนะนำเพิ่มเติมว่า การป้องกันโรคมะเร็ง ชนิดใดๆ ก็คือ การหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งของโรคนั้นๆ ซึ่งสำหรับในมะเร็งปากมดลูก ก็คือ เชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ช่วยลดอัตราเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกลงกว่า 70% จึงน่าจะมีผลในการลดอุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกได้ในอนาคต และเพื่อช่วยให้การป้องกันมีประสิทธิภาพสูงสุด การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ควรทำร่วมกับการตรวจคัดกรองเป็นประจำ โดยควรจะเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่มีเพศสัมพันธ์ เพราะในการเกิดมะเร็งปากมดลูก จะผ่านขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่เริ่มมีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีเรื้อรัง และเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ภาวะอักเสบเรื้อรังที่นำไปสู่มะเร็ง การตรวจคัดกรองจะทำให้สามารถรักษาภาวะผิดปกติต่างๆ ก่อนที่จะเกิดเป็นมะเร็ง หรือตรวจพบมะเร็งระยะแรกเริ่ม ที่รักษาให้หายขาดได้ เพื่อป้องกันการเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามหรือแพร่กระจาย

นอกเหนือจากการฉีดวัคซีนแล้ว ควรมีชีวิตครอบครัวที่ถูกต้องและจะต้องเอาใจใส่ต่อสุขภาพ ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ แม้จะมีอายุมากแล้วและไม่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ คือไม่มีประจำเดือนและไม่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็ยังต้องตรวจคัดกรองตามระยะเวลาที่เหมาะสม ตามคำแนะนำของแพทย์ ก็จะช่วยให้หญิงไทยห่างไกลมะเร็งปากมดลูก เพราะสามารถตรวจได้ง่าย จึงตรวจพบได้ตั้งแต่ก่อนแสดงอาการ และยังสามารถตรวจพบภาวะผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกได้ตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนไปเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะสามารถรักษาได้ผลดีในระยะเริ่มต้น โดยการรักษามะเร็งปากมดลูก จะเป็นการรักษาเฉพาะที่ เนื่องจากมะเร็งปากมดลูก มีธรรมชาติของโรคเป็นการลุกลามเฉพาะที่มากกว่าการแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด ซึ่งอาจเป็นการผ่าตัด การฉายรังสี หรือการใช้เคมีบำบัด หรือใช้หลายวิธีร่วมกัน ขึ้นอยู่กับระยะที่เป็น หรือการแพร่กระจายของโรค ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัย
กำลังโหลดความคิดเห็น