xs
xsm
sm
md
lg

เร่งรณรงค์งดสูบบุหรี่หลังพบสิงห์อมควันป่วยมะเร็งปอดถึง90%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
มะเร็งวิทยาสมาคม เร่งรณรงค์งดสูบบุหรี่ เลี่ยงมะเร็งปอดหลังพบ สิงห์อมควันป่วยเป็นมะเร็งปอดสูงถึง 90 % โดยในปี 2553 พบคนไทยป่วยเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นปีละ 15,000 ราย และพบในชายมากกว่าหญิง 3-5 เท่า

วันนี้ (12 พ.ค.) ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี แพทยสมาคม นท.นพ.ฉัตรชัย คูวัธนไพศาล กรรมการมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย แถลงข่าวมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย เรื่อง “มะเร็งวิทยาสมาคมฯ เปิดเผยตัวเลขสถิติผู้ป่วยมะเร็งปอดปี 2553” ว่า เพื่อเป็นการรณรงค์ในวันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี ทางมะเร็งวิทยาสมาคมอยากกระตุ้นให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบ และเพื่อเป็นการ ป้องกันการเกิดขึ้นของนักสูบหน้าใหม่ ที่เป็นกลุ่มเป็นวัยรุ่น จึงอยากให้เห็นถึงอันตรายจากการสูบบุหรี่ โดยปัจจุบันพบว่า บุหรี่เป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการก่อมะเร็งปอดสูงถึงร้อยละ 90 โดยผู้สูบบุหรี่มีโอกาสป่วยเป็นมะเร็งสูงกว่าผู้ไม่สูบถึง 10 เท่า ขณะที่ผู้รับควันบุหรี่มือสอง มีโอกาสป่วยเป็นมะเร็งเช่นกัน เพราะมีสารก่อมะเร็งกว่า 4,000 ชนิด ส่วนที่เหลืออีกราวร้อยละ 10 มาจากสาเหตุอื่น เช่น การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งมีส่วนผสมของแร่ใยหิน เช่น โรงงานผลิต ผ้าเบรก คลัช เหมืองแร่ และปัญหาควันจากไอเสียจากรถยนต์ และควันธูป ทั้งนี้สำหรับอุบัติการณ์ของการป่วยมะเร็งปอดพบว่า ในประเทศไทยมีอัตราการป่วยเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งทั้งหมด โดยในเพศชายพบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งตับและทางเดินท่อน้ำดี ส่วนเพศหญิงพบมากเป็นอันดับ 3 รองจากเต้านมและปากมดลูก โดยปี 2553 พบว่าคนไทยป่วยเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 15,000 ราย พบในชายมากกว่าหญิง 3-5 เท่า โดยความเสี่ยงขึ้นอยู่กับความเข้มข้นและปริมาณของการสูบมากเสี่ยงมาก สำหรับอัตราการตายของผู้ป่วยในโรคมะเร็งปอดในปี 2551 พบ 8,565 ต่อแสนประชากร จัดอยู่ในอันดับ 2 รองจากมะเร็งตับและทางเดินท่อน้ำดี คือมีจำนวน 14,084 ต่อแสนประชากร เนื่องมาจากสาเหตุการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นท.นพ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า สำหรับอาการที่พบเริ่มจากไอแห้งๆ เจ็บหน้าอก น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เสียงแหบ อาการบวมที่หน้า กลืนอาหารลำบาก ปวดกระดูก หรือเจ็บชายโครงปอด ตลอดเวลา หากเชื้อมะเร็งกระจายไปถึงสมองอาจอัมพาต โดยการรักษานั้นแพทย์ จะพิจารณาจากอายุ ภาวะความแข็งแรงของร่างกาย การดำเนินของโรค ประกอบด้วย การผ่าตัด ซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยในระยะแรกๆ ต่อมาก็จะใช้วิธีการฉายรังสี การฉีดยาเคมีบำบัด และการรักษาด้วยยา แต่มีค่าใช้จ่ายสูง หลายแสนบาท แม้ปัจจุบันจะมีสิทธิรักษาฟรี สำหรับผู้ป่วยแล้วก็ตาม ทางที่ดี คือ การป้องกันโดยการงดสูบบุหรี่หลีกเลี่ยงการรับมลพิษในสิ่งแวดล้อม กินอาหารมีประโยชน์

“สำหรับเคล็ดลับการเลิกบุหรี่มี 6 ประการสำคัญ คือ 1.ทิ้งอุปกรณ์การสูบให้หมด เช่น บุหรี่ ที่เขี่ยบุหรี่ ไฟแช็ก 2. ตั้งสติให้มั่น 3. ตัดความเคยชิน หรือกิจกรรมที่ทำร่วมกับการสูบบุหรี่ เช่น การดื่มเหล้า 4.คุมอาหารให้ได้ โดยเน้นการกินอาหารที่มีประโยชน์ 5. จดจำเหตุผลที่ตัดสินใจในการเลิกบุหรี่ให้ได้ เพื่อเป็นกำลังใจในการใช้ชีวิตและไม่กลับไปสูบอีกครั้ง 6. ถ้าไม่มั่นใจหรือปฏิบัติไม่ได้ตาม 5 ข้อที่กล่าวมา ให้ ไปปรึกษาแพทย์ ”นท.นพ.ฉัตรชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น