สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน – นักวิจัยไทยพัฒนาตัวแสดงผลอักษรเบรลล์ด้วยแสงซินโครตรอน โดยจุดสัมผัสแสดงผลเคลื่อนที่ขึ้นลงตามแรงลมที่ควบคุมด้วยสัญญาณซึ่งแปลงผลจากคอมพิวเตอร์ ช่วยเพิ่มโอกาสผู้พิการทางสายตาเข้าถึงข้อมูลอินเทอร์เน็ตมากขึ้น
ดร.รุ่งเรือง พัฒนากุล นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง ของห้องปฏิบัติการแสงสยาม สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และคณะ ได้ร่วมกันวิจัยพัฒนาตัวอักษรเบรลล์ด้วยเทคโนโลยีซินโครตรอน โดยได้ทำการออกแบบและสร้างกลไกการเคลื่อนที่ของจุดแสดงผลอักษรเบรลล์ 1 เซล หรือจำนวน 6 จุดสัมผัส ให้สามารถเคลื่อนที่ขึ้น-ลง ตามแรงดันลมที่ควบคุมด้วยสัญญาณที่ถูกแปลมาจากอักษรปกติในโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ทีมวิจัยได้ใช้ประโยชน์จากสถานีลำเลียงแสงที่ 6a (BL6a - Deep X-ray Lithography: DXL) ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานีทดลอง ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา และเป็นสถานีที่ให้แสงซินโครตรอนย่านรังสีเอกซ์พลังงานต่ำในการสร้างชิ้นส่วนจิ๋วที่มีความเที่ยงตรงและละเอียดสูงระดับไมโครเมตร
สำหรับจุดสัมผัสและหน้าจออักษรเบรลล์ถูกสร้างด้วยกระบวนการเอกซ์เรย์ลิโธกราฟี โดยใช้แสงซินโครตรอนที่ฉายลงบนพอลิเมอร์ไวแสงผ่านหน้ากากดูดซับรังสีเอกซ์ จากผลการทดลองโครงสร้างที่ได้จะมีผนังตั้งตรงสูงถึง 800 ไมโครเมตรและมีระยะเคลื่อนที่ขึ้น 500 ไมโครเมตร มีช่องว่างเพียง 30 ไมโครเมตรระหว่างผนังจุดสัมผัสกับหน้าจอแสดงผล ช่วยรักษาระดับแรงดันลมข้างใน และเพิ่มความมั่นคงในขณะที่จุดสัมผัสกับปลายนิ้วได้เป็นอย่างดี
จุดสัมผัสทั้ง 6 จะถูกยึดด้วยกลไกสปริงจิ๋วที่ด้านล่างเพื่อดึงให้จุดเคลื่อนที่ลงมาพร้อมรับการแสดงผลอักษรเบรลล์ในตัวถัดไป โครงสร้างทั้งหมดถูกประกอบรวมกันเป็นเซลอักษรเบรลล์ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเหรียญ 1 บาทและนำไปติดตั้งร่วมกับระบบแสดงผลอักษรเบรลล์
“จุดเด่นอีกประการของการออกแบบใช้ระบบแรงดันลมก็คือ มีความปลอดภัยสูงระหว่างการใช้งาน จากเดิมที่ใช้ระบบไฟฟ้าสถิตซึ่งเสี่ยงต่อการถูกไฟดูด และระบบแกนเหล็กซึ่งมีต้นทุนสูง ในอนาคตตัวแสดงผลอักษรเบรลล์จะถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีซินโครตรอนให้ได้จำนวนเซลแสดงผลมาเชื่อมต่อกันมากขึ้น พร้อมกับระบบแสดงผลที่มีขนาดเล็กลงสามารถพกพาได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยสนับสนุนเทคโนโลยีสำหรับผู้พิการของไทยให้สามารถเข้าถึงได้ในอนาคต”ดร.รุ่งเรืองกล่าว
ส่วนเหตุผลที่ทีมวิจัยพัฒนาตัวแสดงผลอักษรเบรลล์ขึ้นมานั้น เพื่อเพิ่มโอกาสแก่ผู้พิการทางสายตาให้เข้าถึงข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น เนื่องจากปกติเราต้องนำเข้าอุปกรณ์ประเภทนี้จากต่างประเทศ ซึ่งมีค่อนข้างมีราคาแพง ทำให้มีคนกลุ่มน้อยที่เข้าถึงการใช้งานตัวแสดงผลอักษรเบรลล์