ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จับมือ 2 สถาบันการศึกษาชื่อดัง เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการระดับทวิภาคี ด้านนาโนวิทยา และนาโนเทคโนโลยี ที่โคราช สร้างความเชื่อมโยงและขยายผลความร่วมมือการศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านนาโนศาสตร์ระหว่างนักวิจัยไทยและเยอรมัน อย่างยั่งยืน ร่วมฉลอง 150 ปี ความสัมพันธ์ไทย-เยอรมนี
วันนี้ (15 ก.ย.) ที่ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายเชิดชู รักตะบุตร อัครราชทูตไทยประจำกรุงเบอร์ลิน และ นายมานูเอล ฟัทแวงเกอร์ ผู้ช่วยทูตด้านวิทยาศาสตร์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ร่วมเป็นประธาน เปิดการประชุมวิชาการระดับทวิภาคี ด้านนาโนวิทยา และนาโนเทคโนโลยี เยอรมัน-ไทย 2554 (German-Thai Symposium on Nanoscience and Nanotechnology 2011) โดยมี รศ.ดร.ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ให้การต้อนรับ ซึ่งได้รับความสนใจจาก นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา จากสถาบันอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ และภาคอุตสาหกรรมไทยเข้าร่วมประชุมกว่า 150 คน
ทั้งนี้ เพื่อติดตามและขยายผลความร่วมมือทางการศึกษาวิจัย และพัฒนาด้านนาโนวิทยาและนาโนเทคโนโลยีระหว่างนักวิจัยของทั้งสองประเทศ และเพื่อเป็นการเริ่มต้นฉลองครบรอบ 150 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เยอรมนี ที่จะมีขึ้นในปี 2555 นี้
นายเชิดชู รักตะบุตร อัครราชทูตไทย ประจำกรุงเบอร์ลิน เปิดเผยว่า โครงการประชุมด้านนาโนวิทยาและนาโนเทคโนโลยีระหว่างภาควิชาการ ภาคอุตสาหกรรมของไทยและเยอรมนี ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2549 ภายใต้การสนับสนุนและติดตามผลอย่างใกล้ชิดจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และ ในปี 2554 นี้ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมขึ้นที่ จ.นครราชสีมา เพื่อการดำเนินงานที่ต่อเนื่องของโครงการ และเพื่อประสานความร่วมมืออย่างยั่งยืนในศาสตร์ดังกล่าวระหว่างนักวิจัยของทั้งสองประเทศ
สิ่งสำคัญที่สุดที่ประเทศไทยจะได้จากการประชุมครั้งนี้ คือ ความก้าวหน้าทางวิทยาการ ซึ่งประเทศไทยนั้นการทำงานด้านการวิจัยต่างๆ ยังมีไม่มากนัก แต่ประเทศทางด้านตะวันตก หรือแม้แต่ในเอเชีย อย่างประเทศญี่ปุ่น จีน งานวิจัยต่างๆ เขาให้ความสำคัญมาก แต่ระยะหลังประเทศไทยให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น เพราะถ้าเราไม่มีงานวิชาการ หรืองานวิจัยของตัวเองเราไปไม่ได้ไกลนอกจากเป็นฐานการผลิตของประเทศอื่นๆ ฉะนั้น เราต้องมีวิชาการเป็นของตัวเอง สิ่งเหล่านี้อาจารย์ นักศึกษาของไทยเราความจริงแล้วความสามารถไม่ได้ด้อยกว่าใครในโลกนี้ และคิดว่า ภาควิชาการหรือรัฐบาลอยากให้การสนับสนุนในเรื่องนี้อยู่แล้ว
“การจัดการประชุมครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งกิจกรรมในการฉลองความสัมพันธ์ 150 ปีไทย-เยอรมนี ในปีหน้า ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานและต่อเนื่อง ไม่เคยมีข้อขัดข้องหรืออุปสรรคใดๆ ต่อกัน และขณะนี้ความสัมพันธ์ยังคงแน่นแฟ้น ที่สำคัญคือ ความร่วมมือทางวิชาการที่เกิดขึ้นในวันนี้ด้วย” นายเชิดชู กล่าว
ด้าน นายมานูเอล ฟัทแวงเกอร์ ผู้ช่วยทูตด้านวิทยาศาสตร์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลเยอรมนีให้การสนับสนุนความร่วมมือด้านนาโนฯ อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะสาขาด้านการวิจัยระหว่างกัน และประเทศเยอรมนีมีความเป็นเลิศด้านนี้อยู่แล้ว ยินดีที่จะถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักวิจัยไทย และในโอกาสการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ครบ 150 ปีไทย-เยอรมัน ทางรัฐบาลเยอรมนีจะมีการจัดกิจกรรมทางด้านวิชาการและกิจกรรมอื่นๆ ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2555
สำหรับการจัดประชุมวิชาการระดับทวิภาคี ด้านนาโนวิทยาและนาโนเทคโนโลยี ระหว่างไทยและเยอรมนี ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา ดังกล่าว มีกิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย การบรรยายพิเศษถ่ายทอดประสบการณ์ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงทั้งไทยและเยอรมัน กว่า 12 ท่าน, การจัดเวิร์กชอป 4 สาขาย่อย ที่กำลังเติบโตด้านนาโนศาสตร์ เช่น นาโนวัสดุศาสตร์, นาโนเทคโนโลยีสำหรับพลังงานหมุนเวียน, ไบโอนาโนเทคโนโลยี, นาโนเซนเซอร์ และการตรวจคุณลักษณะทางนาโน การนำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบการนำเสนอต่อที่ประชุมและโปสเตอร์ โดยเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง