xs
xsm
sm
md
lg

“นพ.อำพล จินดาวัฒนะ” คุยผลงาน 10 ปี สมัชชาสุขภาพฯ/คอลัมน์ ส่องคนคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ สช.
“นพ.อำพล จินดาวัฒนะ”
คุยผลงาน10 ปีสมัชชาสุขภาพฯ
จารยา บุญมาก ouiboonmark@yahoo.com

ที่ผ่านมา การเมืองไทยขาดส่วนที่เติมเต็มที่สำคัญ นั่นคือ ความคิดภาคประชาชน แม้จะมีสิทธิในการเลือกตั้งแต่ไม่เคยมีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายด้วยมือและด้วยเจตนารมณ์ของตัวเองสักเท่าไหร่ เมื่อสมัชชาสุขภาพเข้ามามีส่วนร่วมในสังคม จึงกลับกลายเป็นส่วนที่ขาดหายไปของประเทศไทยที่ทำให้คนไทยมีนโยบายด้านสุขภาพเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะใน 4 มิติ คือ กาย ใจ สังคม และปัญญา ซึ่งนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของพลังในการขับเคลื่อนการบริหารแบบประชาธิปไตยอย่างจริงจัง นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ(สช.) อธิบายถึง บทบาทของสมัชชาสุขภาพในรอบ 10 ปี

นพ.อำพล เล่าย้อนกลับไปว่า สมัชชาสุขภาพเกิดขึ้นมาพร้อมกับความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยมีกรอบแนวคิดแบบองค์รวมที่ดึงเอาภูมิปัญญาของทุกภาคส่วนมาขับเคลื่อนนโยบายเกี่ยวกับสุขภาพ โดยมุ่งใช้เสียงส่วนใหญ่มากำหนดแผนการดำเนินงานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะของคนไทย เช่น การร่วมดีเบตนโยบายเรื่องแร่ใยหินส่งผลอย่างไรบ้างต่อสุขภาพประชาชน หรือการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศให้กลายเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือเมดิคัล ฮับ (Medical Hub) นั้นกระทบต่อวงการสาธารณสุขออย่างไร เป็นต้น เหล่านี้ในอดีตภาคประชาชนแทบจะไม่มีบทบาทใดๆ เลย หรือมีก็แค่วงเล็กๆ แต่การเกิดขึ้นของคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้น กลายเป็นพื้นที่ในการเจรจาของทุกภาคส่วน นำไปสู่การคิด ทบทวนนโยบายสุขภาพในวงกว้าง ซึ่งไม่ผูกขาดในอำนาจเบ็ดเสร็จของพรรคการเมืองทีมีแต่ความขัดแย้งกันเสมอมา
หมออำพลร่วมทำงานกับสมัชชาชาวบ้านในพื้นที่
หลายคนสงสัยว่า แล้วผลงานที่ปรากฏชัดเจนที่สุดในการดำเนินงานภายใต้กอรบและแนวคิดของสมัชชาสุขภาพคืออะไร นพ.อำพล อธิบายว่า ตัวอย่างการจัดการระบบสุขภาพที่เริ่มก่อตัวเป็นรูปร่างแล้วมีหลายพื้นที่ ตัวอย่างเช่น จ.พิจิตร มีการจัดเวทีประชุมสมัชชาในพื้นที่ในประเด็นปัญหาสุขภาพประชาชนและปัญหาทางสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากการใช้สารเคมีในภาคการเกษตร ซึ่งจากการตรวจสุขภาพของประชาชนพบการปนเปื้อนของสารเคมี และน้ำดิน มีภาวะเป็นพิษ ทำให้ผลผลิตบางอย่างย่ำแย่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจที่ดิ่งลงเรื่อยๆ เมื่อชุมชนเห็นชัดถึงผลกระทบก็มีการณรงค์ให้เลิกใช้ ซึ่งปัญหาและทางออกเกิดเพราะมีการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเพื่อเปิดใจคุยกัน แล้วเมื่อทุกคนมองเห็นผลกระทบก็เห็นชอบในนโยบายยกเลิกใช้สารเคมีด้วยความสมัครใจ เป็นต้น

นอกจากประเด็นของการเคลื่อนไหวในส่วนของสมัชชาเฉพาะพื้นที่แล้ว หากมองในระดับชาติ นโยบายที่ถือว่าสำเร็จมากสุด คือ เรื่องการเข้าถึงยาของประชากรไทย การมีส่วนร่วมในนโยบายการค้าเสรี และการจัดการกับปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ในตอนท้าย เลขาธิการ สช.กล่าวถึงก้าวต่อไปของ สมัชชาสุขภาพว่า ทศวรรษที่ 2 ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการทั้งเรื่องใหม่และการสานต่อเรื่องเก่า อาทิ ยุทธศาสตร์ความปลอดภัยของนาโนเทคโนโลยี การรณรงค์ให้สังคมไทยปลอดแร่ใยหิน ฯลฯ และทุกนโยบายต้องผลักดันให้ภาครัฐบาลมีการสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยกระจายอำนาจการปฏิบัติและพัฒนาระบบสุขภาพสู่ท้องถิ่นให้มากที่สุด และต้องฟังเสียงประชาชนทุกครั้งหากจะมีการลงทุนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสุขภาพ เพราะนักการเมืองไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดในการสร้างเสริมสุขภาวะกาย ใจ สังคม และปัญญาของประชาชนเพียงฝ่ายเดียว เพราะแต่ละคนมีสิทธิกำหนดบทบาทในด้านสุขภาพเพื่อชีวิตที่ดีกว่าได้ด้วยตนเอง

ทั้งนี้ ในวันที่ 7-8 ก.ค.จะมีการจัดงานประชุมวิชาการ 1 ทศวรรษสมัชชาสุขภาพ ที่ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จ.เชียงใหม่ ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะมีการนำเสนอแลกเปลี่ยนความรู้ในรอบ 10 ปีของสมัชชาฯ ก่อนจะสรุปแนวทางสำหรับการดำเนินการในทศวรรษต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น