xs
xsm
sm
md
lg

นาโนเทค-สมอ.นำร่องกำหนดมาตรฐานนาโนในสิ่งทอ-สี-สุขภัณฑ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การลงนามความร่วมมือเพื่อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านนาโนเทคโนโลยี ระหว่างศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
นับวันสินค้านาโนเริ่มขยายตัวสูงขึ้น แต่ผู้บริโภคต่างไม่เคยรับรู้ว่าสินค้าที่เสียเงินจ่ายไปนั้นได้มาตรฐานนาโนตามที่กล่าวอ้างสรรพคุณไว้หรือไม่ นาโนเทคจึงกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านนาโนเทคโนโลยี โดยเริ่มจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ สี และสุขภัณฑ์ เพื่อทำให้มีมาตรฐานเดียวกันและลดการแอบอ้างของสินค้าปลอมด้วย

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค)  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า นาโนเทคโนโลยีเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เพราะสินค้าต่างๆ เพิ่งเข้ามาขยายตลาดเพียง 5 ปี เท่านั้น

ทั้งนี้จากการสำรวจเมื่อ 2-3 ปี ที่ผ่านมา สินค้าด้านนาโนเทคโนโลยีได้ขยายตลาดเพิ่มจากเดิมถึง 10 เท่า และยังคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2558 มูลค่าของตลาดสินค้านาโนเทคโนโลยีทั่วโลกจะสูงถึง 40 ล้านล้านบาท ดังนั้น การกำหนดมาตรฐานของสินค้านาโนเทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพื่อรองรับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทางด้านนี้ ทั้งยังเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมของประเทศให้มีการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป

ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้ทางนาโนเทคจึงได้ลงนามความร่วมมือ เพื่อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านนาโนเทคโนโลยี กับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)   กระทรวงอุตสาหกรรม  เพื่อให้ทันความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล พร้อมกับยกระดับผลิตภัณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรม จนเกิดการประยุกต์ใช้และการพัฒนาระบบงานต่างๆ ในสถานประกอบการให้ถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคด้วย

“สำหรับการกำหนดมาตรฐานนั้นจะจัดทำบัญญัติศัพท์ของนาโนเทคโนโลยี อาทิ อะไรเรียกว่านาโนเทคโนโลยี นาโนเทคโนโลยีต้องมีขนาดเท่าไร เป็นต้น  เพื่อให้เป็นรูปธรรมต่อไป โดยเริ่มจากผลิตภัณฑ์สี ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์สุขภัณฑ์  ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี หลังจากนั้นจะร่วมพิจารณากับ สมอ. เพื่อประกาศใช้ต่อไป ” ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว

ความยากง่ายของการกำหนดมาตรฐานนาโนเทคโนโลยีนั้น นายชัยยง กฤตผลชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม บอกว่า ต้องอาศัยผลการวิจัยเข้ามาช่วยทำมาตรฐานพื้นฐาน ถ้าไม่มีงานวิจัยมารองรับก็จะไม่สามารถกำหนดมาตรฐานได้ เพราะเทคโนโลยีดังกล่าวต้องศึกษาตั้งแต่กระบวนการทดลอง ทดสอบ และการนำไปใช้

“การกำหนดมาตรฐานดังกล่าวนั้นจะทำให้เอกชนสามารถนำมาตรฐานนี้ไปอ้างอิงในการผลิต เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค เพราะสินค้าน่าเชื่อถือเทียบเท่ามาตรฐานสากล และเป็นการเปิดช่องทางการค้าได้อีกทาง ทั้งนี้ หากได้มาตรฐานที่เป็นรูปธรรมแล้วจะช่วยลดจำพวกผลิตภัณฑ์ที่แอบอ้างสรรพคุณว่าผ่านกระบวนการนาโนเทคโนโลยีอีกด้วย” นายชัยยง กล่าว

อย่างไรก็ดี ศ.นพ.สิริฤกษ์ ได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดทำฉลากนาโนคิว (Nano Q) ที่ดำเนินการโดยสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ว่า ในอีก 2-3 เดือนนี้ ฉลากนาโนคิวจะเริ่มนำมาใช้ กับผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยี 3 ประเภทคือ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์สีและสารเคลือบผิว ผลิตภัณฑ์สุขภัณฑ์และกระเบื้อง ซึ่งการกำหนดฉลากของสินค้าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค ในการทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสินค้า เพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับความไม่ปลอดภัยและถูกเอาเปรียบจากการใช้ผลิตภัณฑ์นาโนปลอมต่อไป
 
สำหรับการบันทึกความร่วมมือเพื่อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านนาโนเทคโนโลยี ระหว่างศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) นั้นได้จัดขึ้นณ อาคารสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 54 ที่ผ่านมา
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค)
นายชัยยง กฤตผลชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น