xs
xsm
sm
md
lg

ฝึกปั้น "นาโนซิลเวอร์เคลย์" เปลี่ยนเงินเป็นเครื่องประดับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลงานของผู้เข้าอบรมโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี  การทำเครื่องประดับเงินจากนาโนซิลเวอร์เคลย์
หลายคนอาจมองว่าการทำเครื่องประดับเงินเป็นเรื่องยาก มีขั้นตอนที่ซับซ้อน แต่ด้วยนาโนเทคโนโลยีทำให้เราเปลี่ยนเงินซึ่งอยู่ในรูป “นาโนซิลเวอร์เคลย์” เป็นเครื่องประดับด้วยวิธีง่ายๆ เหมือนปั้นดินน้ำมัน และเป็นผลงานเฉพาะตัวที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก

สำหรับการฝึกทำเครื่องประดับเงินนั้น เป็นโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี "การทำเครื่องประดับเงินจากนาโนซิลเวอร์เคลย์" จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ ห้องประชุมศูนย์การเรียนรู้ทางการวิจัย และได้ทีมวิจัยของหน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาอธิบายขั้นตอนการทำเครื่องประดับเงินด้วยตัวเอง

นายเทวารักษ์ ปานกลาง หนึ่งในทีมวิจัยของหน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้ จุฬาฯ อธิบายว่า "นาโนซิลเวอร์เคลย์" นั้นทำมาจากผงโลหะเงินที่มีอนุภาคระดับนาโนเมตร เมื่อนำผงโลหะเงินมาผสมกับตัวประสานอินทรีย์ นวดจนเนื้อเงินกับตัวประสานเข้ากันเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว จะมีลักษณะคล้ายดินเหนียวสามารถนำไปขึ้นรูปเครื่องประดับเงินได้ ด้วยวิธีปั้น พิมพ์ลาย หรือลอกลาย จากนั้นรอจนแห้ง ก่อนนำนาโนซิลเวอร์เคลย์ที่ขึ้นรูปแล้วไปเผาที่อุณหภูมิต่ำประมาณ 600 - 800 องศาเซลเซียส เพื่อให้อนุภาคเงินระดับนาโนเมตรเกิดการเผาผนึกและเชื่อมต่อกันจนเป็นโลหะเงินในที่สุด

ทั้งนี้ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ร่วมสังเกตการฝึกทำเครื่องประดับเงินจากนาโนซิลเวอร์เคลย์ในครั้งนี้ ตั้งแต่การออกแบบปั้นชิ้นงาน จนกระทั้งได้ชิ้นงานออกมาเป็นเครื่องประดับ ดังขั้นตอนต่อไปนี้
ตัวอย่างนาโนซิลเวอร์เคลย์เพื่อนำมาทำเครื่องประดับเงิน (ด้านหน้า) สำหรับขวดที่ตั้งอยู่ด้านหลังคือ โลหะเงิน, เกลือของโลหะเงิน,ตัวประสาน, นาโนซิลเวอร์เคลย์ (ด้านหลังเรียงจากซ้ายมาขวา)
ผู้เข้าอบรมนำฟิลม์ห่ออาหาร (wrap) มาห่อนาโนซิลเวอร์เคลย์ แล้วนวดไล่ฟองอากาศภายในเนื้อนาโนซิลเวอร์เคลย์
ผู้เข้าร่วมอบรมปั้นดินน้ำมันให้เป็นแท่งกลม จากนั้นต้องนำกระดาษเอสี่ที่ทาด้วยน้ำมันมะกอกมาพันรอบแท่งดินน้ำมัน  เพื่อใช้สำหรับการขึ้นรูปแหวนที่ประดิษฐ์จากนาโนซิลเวอร์เคลย์ เหตุที่ต้องใช้น้ำมันมะกอกนั้นเพื่อไม่ให้นาโนซิลเวอร์เคลย์ติดกับกระดาษ จนทำให้ชิ้นงานเสียรูปทรง
ผู้เข้าอบรมนำตราปั๊มรูปปลามาออกแบบให้เป็นจี้สร้อยคอ
จากภาพผู้เข้าร่วมอบรมได้ออกแบบหัวแหวนเป็นรูปหัวใจและดอกไม้ (บน) และนำนาโนซิลเวอร์เคลย์ มาออกแบบให้เป็นช้างเหมือนรูปในมือถือ (ล่าง)
ผลงานการออกแบบของผู้เข้าอบรม
ผลงานการออกแบบของผู้เข้าอบรม  จี้สร้อยคอ (บน) ต่างหู (ซ้ายล่าง)  แหวน (ขวาล่าง)
เมื่ออกแบบเสร็จเรียบร้อยต้องรอให้ชิ้นงานแห้ง สามารถทำได้หลายวิธี หากรอให้แห้งเองอาจต้องใช้เวลาประมาณ 1 วัน ขึ้นอยู่กับขนาดชิ้นงานด้วย แต่สำหรับการอบรมในครั้งนี้วิทยากรได้เตรียมเตาอบมาช่วยให้ชิ้นงานแห้งเร็วขึ้น
การอบให้ชิ้นงานแห้งไม่ควรใช้อุณหภูมิสูงเกิน 80 องศาเซลเซียส  หากใช้ความร้อนที่สูงเกินกว่านี้จะทำให้ชิ้นงานแตกร้าวได้  เมื่อชิ้นงานแห้งแล้ว ต้องมาตรวจเช็คดูว่าชิ้นงานที่ได้ออกแบบไว้อย่างเก๋ไก๋นั้นมีรอยแตกร้าว หรือว่าต้องปรับปรุงเพิ่มอีกไหม หากไม่ปรับปรุงเพิ่มก็สามารถนำเข้าเตาเผาได้เลย
ชิ้นงานที่รอเข้าเตาเผา
นำชิ้นงานเข้าเตาเผา โดยใช้อุณหภูมิ 600-800 องศาเซลเซียส ใช้เวลาราว 30 นาที เพื่อให้อนุภาคเงินระดับนาโนเมตรเกิดการเผาผนึกเชื่อมต่อกันจนเป็นโลหะเงินในที่สุด
เมื่อเผาจนอนุภาคเงินระดับนาโนเมตรเกิดการเผาผนึกเชื่อมต่อกันจนเป็นโลหะเงินแล้ว ชิ้นงานจะออกมาในรูปแบบนี้
เมื่อชิ้นงานผ่านกระบวนการเผาแล้ว จากนั้นนำมาขัดกับกระดาษทราย ตะไบ หรือว่าแปรงทองเหลืองก็ได้ เพื่อให้เครื่องประดับเงินแวววาว เกิดความสวยงาม
ตัวอย่างเครื่องประดับเงินที่ทำมาจากนาโนซิลเวอร์เคลย์ ด้วยเทคนิคการขึ้นรูปต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นโดยคณะนักวิจัย
เครื่องประดับเงินสุดเก๋ ที่ผู้เข้าอบรมออกแบบด้วยฝีมือของตัวเอง (มีชิ้นเดียวในโลก)
ผู้เข้าอบรมเข้ามาสอบถามวิทยากรเกี่ยวกับอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการทำเครื่องประดับเงินจากนาโนซิลเวอร์เคลย์
นางกาญจนา ปานข่อยงาม รองเลขาธิการ วช. (ซ้าย) นายเทวารักษ์ ปานกลาง หนึ่งในทีมวิจัยของหน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ขวา)
ทีมวิจัยจากหน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้กล่าวว่า นาโนซิลเลอร์เคลย์ที่ใช้ในการฝึกอบรมครั้งนี้เป็นนวัตกรรมที่ผลิตขึ้นโดยทีมนักวิจัยไทย จึงช่วยลดการนำเข้าผงโลหะและซิลเวอร์เคลย์จากต่างประเทศ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตต่ำ ทั้งนี้ยังใช้อุณภูมิเผาผนึกที่ต่ำกว่าซิลเวอร์เคลย์ที่จำหน่ายในเชิงพาณิชย์ด้วย นอกจากนั้นสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายรูปแบบ มีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน  และหากชิ้นงานไม่ได้คุณภาพสามารถนำกลับมาแก้ไขใหม่ได้อีกครั้ง

นางกาญจนา ปานข่อยงาม รองเลขาธิการ วช. บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า การวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตนาโนซิลเวอร์เคลย์เป็นผลงานของ รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ หัวหน้าทีมวิจัยจากหน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้ จุฬาฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อรองรับตลาดอุตสาหกรรมเครื่องประดับที่มีการแข่งขันสูงขึ้น และได้พัฒนาสูตรนาโนซิลเวอร์เคลย์ให้มีอุณภูมิของการเผาผนึกต่ำ ถือเป็นนวัตกรรมเครื่องประดับที่มีขั้นตอนการผลิตที่ไม่ยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายในการผลิตต่ำ แต่ได้เครื่องประดับที่มีมูลค่าสูง

สำหรับการฝึกอบรมครั้งนี้ ทาง วช.ได้จัดโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีทำเครื่องประดับเงินจากนาโนซิลเวอร์เคลย์เพื่อให้ผู้ประกอบการด้านอัญมณีและเครื่องประดับ นิสิตนักศึกษา หรือประชาชนที่สนใจ ได้ทราบกรรมวิธีทำเครื่องประดับเงินจากนาโนซิลเวอร์เคลย์ และเป็นช่องทางการสร้างอาชีพ ซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรมระหว่างการถ่ายทอดเทคโนโลยีเมื่อ 3-4 มิ.ย.54 ประมาณ 40 คน

ผู้สนใจการทำเครื่องประดับเงินนี้ สอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัท ธรรมสรณ์ นาโนโซลูชั่นส์ จำกัด เว็บไซต์ www.snanos.co.th  โทร 02-2611-0290 ต่อ 1527 อีเมล์ pornpimon@snanos.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น