xs
xsm
sm
md
lg

คกก.กำลังคนหนุนขยายผลิตแพทย์เพื่อชนบทอีก 10 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มติที่ประชุม คกก.กำลังคน หนุน สธ.ขยายผลิตแพทย์เพื่อชนบทอีก 10 ปี  พร้อมเสนอปรับเงื่อนไขเรื่องพื้นที่  

    นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ กล่าว่า จากการประชุมคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2554 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาระบบการศึกษาสำหรับบุคลากรสาธารณ สุขในศตวรรษที่ 21 ทั้งด้านโยบายระดับชาติ และระดับภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ประสานงานของประเทศที่สนใจร่วมกัน ได้แก่ จีน อินเดีย เวียตนาม และบังคลาเทศ รวมถึงคณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบร่วมเป็นเจ้าภาพร่วมจัดประชุมระดับชาติประจำปีในหัวข้อ การพัฒนาระบบการศึกษาสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในศตวรรษที่ 21 ตลอดระยะ 3 ปีของการดำเนินงานด้วย  ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เสนอคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา ข้อเสนอการขยายการดำเนินงานตามโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท (Collabarative Project to Increase Production of Rural Doctor : CPIRD) ซึ่งกำลังจะหมดโครงการภายในปี 2556 ออกไปอีก 10 ปี ทั้งนี้เนื่องจาก เห็นพ้องกันว่า การแก้ไขปัญหาแพทย์ขาดแคลนและไม่กระจายตัว ควรใช้การสนับสนุนระบบการผลิตแพทย์จากคนในพื้นที่บ้านเกิด ซึ่งปัจจุบันมีทั้งโครงการ CPIRD และโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน (ODOD)

    “ทั้งนี้ เราได้ลงความเห็นว่า หากมีการขยายโครงการดังกล่าวออกไปอีก   กระทรวงสาธารณสุข ควรที่จะปรับเงื่อนไขการกระจายบุคลากรที่จบด้านแพทย์ศาสตร์ จากโครงการฯ ไปประจำยังพื้นที่ต่างๆด้วย  โดยแต่เดิมนั้น กระทรวงฯ กำหนดว่า  ให้แพทย์จบใหม่กลับไปประจำภูมิลำเนาของตนเอง แต่ที่ประชุมเห็นว่า ควรที่จะปรับเป็นการกระจายแพทย์ไปประจำในพื้นที่ ที่ขาดแคลนจริงๆ โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขว่า จะเป็นอำเภอใด พื้นที่ใด เช่น  มีนักศึกษาจาก อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ได้ทุนเรียนในโครงการ ODOD เพราะ จ.อุบลฯ ขาดแคลนแพทย์ ทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบรักษาพยาบาลได้ลำบาก แต่ระหว่างเรียนแพทย์นั้น เป็นไปได้ว่า   พื้นที่ดังกล่าวมีความเจริญ โรงพยาบาลมีการบริหารจัดการที่ดี ระบบส่งต่อเยี่ยม ทำให้มีศักยภาพในการบริการประชานอย่างดี ถ้ากรณีนี้ก็ควรจะจัดแพทย์ไปประจำที่อื่น แล้วปฏิบัติงานตามภาระหน้าที่ในลักษณะเดียวกัน แต่เน้นว่าต้องเข้าถึงพื้นที่ซึ่งประสบปัญหาด้านบุคลากรจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีบุคลากรน้อยกว่าภาคอื่นๆ  ” นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว

    นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่า  ทั้งนี้ หากมีการขยายโครงการและปรับเงื่อนไขของโครงการฯ  ได้จริงก็จะทำให้สามารถประเมินผลแบบเปรียบเทียบกันได้ว่า โครงการฯครั้งแรกเป็นกับครั้งที่สองมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างไรบ้าง  

    ดร.นงลักษณ์ พะไกยะ ผู้จัดการสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ  กล่าวว่า   สำหรับโครงการ CPIRD  นั้นมีแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจากโครงการฯ รุ่นที่ 1- 8 (ปี 2544-2551) จำนวน 1,401 คน ซึ่งจบการศึกษาจาก 7 สถาบันหลักและ ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก จำนวน 15 แห่ง  สำเร็จการศึกษาระหว่างปี 2544-2551 จำนวน 1,402 คน ยังปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 471 คน (34%) กำลังศึกษาต่อโดยทุนกระทรวงสาธารณสุข 414 คน (30%) ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป 89 คน (6%) ลาออก 428 คน (31%) จึงมีแพทย์ในโครงการ CPIRD คงเหลือในระบบบริการกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 974 คน  ซึ่งเก็บตัวเลขหลังสิ้นสุดการใช้ทุน 3 ปี  แพทย์กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ตามลำดับดังนี้ ภาคเหนือ จำนวน 353 คน (36%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 310 คน (32%)  ภาคกลาง จำนวน 200 คน (21%)  ภาคใต้ จำนวน 111 คน (11%)

    ดร.นงลักษณ์ กล่าวต่อว่า   ส่วนแพทย์โครงการ ODOD  นั้นเริ่มรับเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยจำนวน 41 คน ในปี 2548 และสำเร็จการศึกษา 36 คน ในปี 2554 และปัจจุบันนี้อยู่ระหว่างการเพิ่มพูนทักษะ โดยแพทย์ ODOD นี้มีข้อแตกต่างจากแพทย์กลุ่มอื่น คือ ได้รับเงินเดือนระหว่างศึกษา และมีสัญญาชดใช้ทุน 12 ปี หากไม่ชดใช้ทุนปรับ 2 ล้านบาท

อนึ่ง ผลการประเมินโครงการดังกล่าว ที่ พญ.ลลิตา กองคำ และคณะ ได้ศึกษาแพทย์ CPIRD ที่สำเร็จการศึกษา และเริ่มรับราชการที่กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี 2544-2550 จำนวน 1,088 คน และแพทย์ในระบบปกติสำเร็จการศึกษาและเริ่มรับราชการที่กระทรวงสาธารณ สุขระหว่างปี 2544-2550 จำนวน 5,578 คน เพื่อศึกษาการคงอยู่ในราชการของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า แพทย์ระบบปกติมีโอกาสลาออกจากราชการ 1.7 เท่าเมื่อเทียบกับแพทย์ CPIRD และแพทย์ CPIRD มีแนวโน้มปฏิบัติตามเงื่อนไขของกระทรวงสาธารณสุขในประเด็นใช้ทุนครบ 3 ปีสูงกว่า ซึ่งเป็นการกระจายแพทย์ไปยังชนบทได้ดีขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ ควรติดตามประเมินผลในลักษณะเดียวกันกับแพทย์จากโครงการกระจายแพทย์หนึ่ง อำเภอหนึ่งทุน (ODOD) ซึ่งจบหลักสูตรรุ่นแรกในปี  2554  ในอนาคตสามารถผลิตแพทย์ในโครงการทั้งสองได้ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนแพทย์ ทั้งหมดที่ผลิตในแต่ละปี จะน่าจะสามารถลดปัญหาการขาดแคลนและไม่กระจายตัวของแพทย์ในชนบทได้ นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอว่า ควรมีการพิจารณามาตรการเพิ่มโอกาสและความพร้อมในการรับเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาในโครงการตั้งแต่ระดับมัธยมปลาย เพื่อให้เด็กที่เข้าสู่ระบบ CPRID และ ODOD มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาสูงขึ้นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น