โดย...จารยา บุญมาก
ท่ามกลางความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ที่หลายคนยินดีปรีดา กับประสิทธิภาพของเครื่องมือนานาชนิด ที่ช่วยต่อเวลาหายใจให้ยาวนานยิ่งขึ้น เช่น เครื่องปั๊มหัวใจ เครื่องให้ออกซิเจน แต่บางครั้งเครื่องมือเหล่านี้กลายเป็นเพียงเครื่องฉุดร่างอันไร้วิญญาณ ซึ่งพร้อมจะลาโลกแล้วให้อยู่ต่อไปได้ โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ที่แสดงถึงการมีชีวิตอยู่ เช่น นอนแน่นิ่งในโรงพยาบาลไป 2-3 เดือน แล้วรับอาหารทางท่อ และใช้เครื่องช่วยหายใจ เหล่านี้อาจเกิดขึ้นทั้งจากความประสงค์ของผู้ป่วยและญาติที่ต้องการจะยื้อชีวิตไว้
ทว่า หากผู้ป่วยไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ ปัจจุบันมีทางเลือกที่สามารถชี้เป็นชี้ตายวาระสุดท้ายของชีวิตได้แล้ว เมื่อ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบประกาศสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่ เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ.2553 โดย ประกาศดังกล่าวเป็นกฎกระทรวงเพิ่มเติมจากมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ซึ่งได้มีผลประกาศใช้ไปตั้งแต่ 20 พ.ค.2554 โดยความประสงค์ในหนังสือดังกล่าว จะเป็นไปตามเจตนาของผู้ป่วยทั้งสิ้น
ในเวที สช.เจาะประเด็น ครั้งที่ 4 เรื่อง “บั้นปลายชีวิต ลิขิตได้” เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสช. ย้ำชัดว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการปฏิเสธการรักษาในยามป่วยหนักในวาระสุดท้ายได้ โดยการแสดงออกทางวาจา ทางอักษร เพื่อยุติการรักษาสาธารณสุข
ทั้งนี้ สช.ได้มีการออกแนวทางการปฏิบัติในรูปของหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขขึ้นซึ่งเป็นรูปแบบที่ชัดเจน โดยทำเป็นคู่มือให้แก่ผู้ให้บริการสาธารณสุข และอยู่ระหว่างกระจายคู่มือดังกล่าวไปยังสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จ 1-2 สัปดาห์
“ยืนยันว่า แพทย์จะยังคงทำหน้าที่รักษาพยาบาลได้ต่อไป กระทั่งวินิจฉัยพบว่าผู้ป่วยมีอาการป่วยระยะสุดท้าย ก็จะต้องเร่งหารือกับญาติและครอบครัว เพื่อสร้างความเข้าใจก่อนยุติการรักษา ซึ่งปัจจุบัน รพ.ของรัฐ มีการดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่กรณี รพ.เอกชนที่อาจมีแรงจูงใจทางการเงิน ตรงนี้ต้องอยู่ที่ญาติในการซักถามอาการผู้ป่วยว่า มีโอกาสรอดชีวิตมากน้อยเพียงใด” เลขาธิการ สช.กล่าว
ขณะที่นพ.สุรชัย โชคครรชิตไชย รองผู้อำนวยการด้านคุณภาพและพัฒนาบุคลาการ รพ.พระนครศรีอยุธยา ย้ำข้อดีเรื่องนี้ ว่า หากวินิจฉัยแล้วพบว่า เจ็บป่วยในระยะสุดท้าย แพทย์จะยังให้การรักษาตามมาตรฐานในแบบประคับประคอง ที่เป็นไปตามเจตนาของผู้ป่วยจนกว่าจะถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เพียงแต่จะดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาที่ระบุบริการสาธารณสุขที่ไม่ต้อง การจะรับ ซึ่งการทำหนังสือฯ ผู้ป่วย สามารถทำไว้ล่วงหน้ากรณีมีโรคเจ็บป่วยเรื้อรัง หรือแม้แต่คนปกติก็สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขคือ มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนสมบูรณ์ และต้องมีอายุตั้งแต่18 ปีขึ้นไป หากอายุไม่ถึงต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง
กรณีนี้เมื่อมองแบบผิวเผินก็อาจเป็นเรื่องที่สามารถยอมรับได้ หากแต่มุมมองของ นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ ผู้อำนวยการ รพ.รามาธิบดี แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ ว่า ความจำเป็นของการดำเนินการตามข้อเสนอของ สช.นั้น เป็นการตัดสินใจที่เร็วเกินไป เนื่องจากสิทธิการตาย และการยุติการรักษา เป็นเรื่องอ่อนไหว ทั้งกับแพทย์และญาติของผู้ป่วย ซึ่งตนยอมรับว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมานั้นเป็นการยากที่แพทย์จะไปเจรจากับญาติ เพราะเกรงว่าประชาชนจะมองแพทย์ในทางลบมากขึ้น จึงเสนอแนะว่า ให้ สช.มีการหารืออย่างรอบคอบ โดยอาจเรียกประชุมกลุ่มกับแพทย์ตามโรงพยาบาล-โรงเรียนแพทย์ โดยเฉพาะประเด็นการเลือกแพทย์เพื่อเจรจากับญาติผู้ป่วยเกี่ยวกับสิทธินี้ ควรมีการกำหนดคุณสมบัติของแพทย์ให้ชัดเจนด้วย ไม่ใช่แพทย์ทุกคนจะเข้าเจรจาได้ ที่สำคัญ ควรสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจตรงกันมากกว่านี้ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่อาจตามมา