xs
xsm
sm
md
lg

เลิกสินค้าแร่ใยหิน เกมสกัดคู่แข่งขัน! จับตามติ ครม. โหนกระแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จับตาเกมใต้ดินบี้คู่แข่ง!! ลุ้นมติครม.ยกเลิกสินค้าแร่ใยหิน หันใช้เส้นใยทดแทน อาจทำให้ไทยเสียดุลการค้าหลายพันล้านบาท ผู้บริโภคได้รับผลกระทบกว่า 50% ผู้บริหารกระเบื้องโอฬาร แจงคุณภาพสินค้าที่ผลิตจากเยื้อกระดาษเสียหายง่าย ความทดทานน้อยกว่า แถมหากมีการสูดดูดแร่ที่ไม่มีใยหิน การใช้เวลาย่อยสลายมากถึง 1,000 วัน ต่างกับแร่ใยหินไครโซไทล์ 14 วัน พร้อมยอมรับสภาพ หากครม.เห็นชอบ จ่อเลิกกิจการ เลิกจ้างพนักงานกว่าพันคน

จากการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.)เมื่อเดือนก.พ.54 ที่ผ่านมา และมติที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ควบคุมแร่ใยหินที่เป็นวัตถุดิบ (ไครโซไทล์) ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 อย่างเร่งด่วนภายในปี 54 ซึ่งจะห้ามให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง รวมทั้งกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับสินค้าที่ใช้สารทดแทนแร่ใยหิน และจะมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 12 เมษายน 54 นั้น

นายอุฬาร เกรียวสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กระเบื้องโอฬาร จำกัด กล่าวว่า หากรัฐบาล สั่งให้ยกเลิกการนำเข้าและผลิตสินค้าที่ทำจากแร่ใยหิน ประเทศไทยจะต้องเสียดุลทางการค้าในการสั่งเยื่อกระดาษ,ใยสังเคราะห์ และสารเคมี เพื่อมาทดแทนแร่ใยหินเพิ่มถึง 3,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งราคาของเยื่อกระดาษจะผันผวนตามเศรษฐกิจโลก ประชาชนต้องเจอกับสินค้าคุณภาพต่ำ และจะก่อให้เกิดความเสียหายและได้รับอันตรายได้อย่างแท้จริง โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตสินค้าจากเยื่อกระดาษรายใหญ่อยู่คือ กลุ่มเอสซีจี และล่าสุดบริษัท โอลิมปิคกระเบื้องไทย จำกัด หรือกลุ่มหพันธ์ ผู้ผลิตกระเบื้องห้าห่วง ก็ได้ยกเลิกการใช้สินค้าจากแร่ใยหิน มาเป็นการผลิตจากเยื่อกระดาษแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 54 ที่ผ่านมา

“หากมีการบังคับให้ใช้เส้นใยทดแทน จะมีผลกระทบอย่างหนักกับผู้บริโภคกว่า 50% ของตลาดผู้ใช้กระเบื้องหลังคาทั้งหมดจำนวน 63,605,715 ตารางเมตร/ปี เนื่องจากสารทดแทนไม่สามารถผลิตกระเบื้องมุงหลังคาได้บางกว่า 5.5 มิลลิเมตรได้ แต่แร่ใยหินสามารถผลิตกระเบื้องลอนคู่และลอนเล็ก หนา 4 มิลลิเมตรได้ และมีราคาถูกกว่า 2 เท่า โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการเพียง 2 รายที่ยังนำเข้าและผลิตสินค้าที่ทำจากแร่ใยหินคือกลุ่มของกระเบื้องโอฬาร และ บริษัท กระเบื้องหลังคาตราเพชร จำกัด(มหาชน) และเราเชื่อว่าการที่ภาครัฐสั่งให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน เพราะมีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ในขณะที่ผู้ประกอบการไม่มีกฎหมายและอำนาจอยู่ในมือ ซึ่งเราจะพยายามต่อสู้เพื่อผู้บริโภคให้เห็นความจริงอย่างถึงที่สุด”

ปัจจุบันในวงการรับเหมาก่อสร้างเริ่มมีการรับรู้ถึงความแตกต่างของสินค้าทั้ง 2 ประเภทแล้ว รวมไปถึงบริษัทได้มีการสำรวจจากตัวแทนจำหน่าย(ดีลเลอร์)พบว่า จากการที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่องและล่าสุดอุทกภัยทางภาคใต้ ผู้ที่ใช้สินค้าผลิตจากเยื่อกระดาษจะมีการเปื่อยยุ่ยและต้องซ่อมแซมมากขึ้น เพราะอายุการใช้งานเพียง 3 ปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับสินค้าที่ผลิตจากแร่ใยหิน จะมีอายุการใช้งานถึง 70 ปี ส่งผลให้ยอดขายสินค้ากระเบื้องหลังคาที่ผลิตจากแร่ใยหินเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ การใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ในการผลิตกระเบื้องโอฬาร มีส่วนผสมเพียง 8% ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้ อีกทั้งในปัจจุบัน ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ทดแทนได้ดีเท่าแร่ใยหินไครโซไทล์ เนื่องด้วยคุณสมบัติพิเศษของไครโซไทล์มีดังนี้ แร่ใยหินมีความแข็งแรงของเส้นใย มีถึง 320 กิโลกรัม/ตารางมิลลิเมตร และได้รับมาตรฐานมอก. 79-2529 อยู่ที่ 4,250 นิวตัน/เมตร ซึ่งมากกว่ากระเบื้องที่ไม่มีใยหิน ถึงเกือบ 3 เท่า อีกทั้งการย่อยสลายในปอดของแร่ใยหินไครโซไทล์อยู่ที่ 14 วัน ขณะที่แร่ที่ไม่มีใยหิน ประเภท กระดาษ ทรายบด และ โพลีวายนิลแอลกอฮอล์ จะใช้เวลามากถึง 1,000 วันในการย่อยสลายในปอด เมื่อผู้ใช้สูดเข้าไป เนื่องจากเส้นใยในกระเบื้องไม่มีใยหินเป็นเส้นใยสังเคราะห์

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ทางบริษัทฯ ได้ส่งเอกสารชี้แจง ซึ่งเป็นบทความที่เขียนโดยศ.ดร.นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ และศ.นพ.สมชัย บวรกิตติ์ ว่าแร่ใยหินไม่ส่งผลให้เกิดมะเร็งเยื่อหุ้มปอด ไปยังกระทรวงสาธารณสุข แต่ทาง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)ไม่อนุญาต โดยให้เหตุผลว่าขัดกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาล

อีกทั้งขณะนี้ตนอยู่ในระหว่างการจัดทำสารคดี ความยาวประมาณ 20 นาที เพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริง เห็นถึงความแตกต่าง ว่าสินค้าที่ผลิตโดยแร่ใยหินไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพแต่อย่างใด คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 2 เดือนนี้

***ตั้งเป้าขายปี54 เติบโตขึ้น 10 %
นายอุฬาร กล่าวถึงผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 53 ที่ผ่านมานั้นมียอดขายเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.17 พันล้านบาท เมื่อเทียบจากปี 2552 ที่มียอดขาย 2.07 พันล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 8% เนื่องจากในปีที่ผ่านมามีปัญหาภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะอุทกภัยที่ภาคอีสาน ส่งผลให้ประชาชนและผู้ประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม มีความต้องการใช้กระเบื้องมุงหลังคามากขึ้น เพื่อใช้ในการซ่อมแซมบ้านเรือนอาคาร และฟาร์มเลี้ยงสัตว์

ขณะที่ในปีนี้ จากเหตุอุทกภัยทางภาคใต้ และมีผู้ประกอบการบางรายหยุดผลิตสินค้าจากแร่ใยหิน ส่งผลให้กำลังผลิตของบริษัทเพิ่มมากขึ้นเป็น 2 แสนแผ่น/วัน จากเดิม 1.8 แสนแผ่น/วัน ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 2,400 ล้านบาท เติบโต 10% จากปีก่อน จากปัจจุบันที่ตลาดกระเบื้องหลังคามีมูลค่า 6,000-7,000 ล้านบาท โดยตลาดหลักอยู่ที่กระเบื้อง 4 มิลลิเมตร สัดส่วน 50-60% ซึ่งกระเบื้องลอนคู่และซีเมนต์ คิดเป็นสัดส่วน 70% ของตลาดทั้งหมด

“ หากรัฐบาลยืนยันที่จะให้ยกเลิกการนำเข้าและผลิตสินค้าจากแร่ใยหิน จริงๆ เราคงเลิกผลิตและเลิกกิจการไปเลย แต่ก็จะหันมาเน้นการผลิตสินค้าในตัวบ้านมากขึ้น และคงต้องใช้เม็ดเงินในการลงทุนอีกหลายพันล้านบาท รวมไปถึงอาจจะต้องมีการเลิกจ้างแรงงานถึงพันคน จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 1,500 คน”
กำลังโหลดความคิดเห็น