xs
xsm
sm
md
lg

คสช.เตรียมชงเลิกใช้ “แร่ใยหิน” เข้าครม.พรุ่งนี้ รณรงค์ใช้สารทดแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คสช.เตรียมเสนอเรื่องมาตรการทำให้ไทยไร้แร่ใยหินเข้า ครม.พรุ่งนี้ นักวิชาการ ย้ำชัด ไทยมีสารทดแทนเแร่ใยหินใช้แล้ว  ชี้ ราคาเทียบเท่ากันจนไม่เป็นอุปสรรคต่อการนำไปใช้ เลิกตายผ่อนส่ง พร้อมเร่งรณรงค์เลิกใช้แร่ใยหินหันมาใช้สารทดแทน

วันนี้ (11 เม.ย.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดแถลงข่าว เรื่อง “สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ทางออกหรือทางตัน”  เพื่อรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 เรื่อง มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน  ก่อนเรื่องจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) พรุ่งนี้  

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า หลังจากที่สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 พ.ศ.2553 จำนวน 182 กลุ่มเครือข่าย  มีมติเห็นชอบ “มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” พร้อม “ยุทธศาสตร์การทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” โดยขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศควบคุมแร่ใยหินที่เป็นวัตถุดิบ (ไครโซไทล์) ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 อย่างเร่งด่วน ภายในปี 2554 ซึ่งมีผลให้ห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง  และให้เวลาหน่วยงานรัฐและภาคธุรกิจเอกชนปรับตัวประมาณ 2 ปี โดยมีเป้าหมายว่า ประเทศไทยจะสามารถยกเลิกการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบทุกชนิดได้ในปี  2555  ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบมติดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 25 ก.พ.2554  และจะเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.เพื่อขอความเห็นชอบในวันที่ 12 เมษายนนี้

นพ.อำพล กล่าวต่อว่า ความคืบหน้าในการดำเนินงานตามยุทธศาตร์ทั้ง 4 ข้อ พบว่า ขณะนี้มีภาครัฐ  ภาคประชาชน  รวมถึงภาคธุรกิจ  ร่วมใจกันช่วยให้สังคมไทยปลอดภัยไร้แร่ใยหิน เช่น บริษัทผลิตกระเบื้องหลายแห่งได้หยุดใช้แร่ใยหินและใช้สารทดแทนมาระยะหนึ่งแล้ว กระทรวงสาธารณสุขเองได้ใช้วัสดุไร้แร่ใยหินในการก่อสร้างอาคารที่ออกแบบโดยกองแบบแผนมาตั้งแต่ปี 2549 และเครือข่ายผู้บริโภคใน 27 จังหวัดก็ได้รณรงค์อันตรายของแร่ใยหินกันอย่างจริงจัง

 “ผมอยากบอกว่า การรณรงค์เลิกใช้แร่ใยหินนั้น ไทยไม่ได้ริเริ่มทำอยู่ประเทศเดียว แต่ในต่างประเทศเขามีการรณรงค์เลิกใช้แร่ใยหินทุกชนิดมานานกว่า 30 ปี ขณะที่ไทยเป็นประเทศที่นำเข้าแร่ใยหินมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และไม่ได้มีแร่ใยหินเป็นฐานทรัพยากรของตัวเอง เมื่อทราบว่าแร่ใยหินเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ควรจะเลิกใช้อย่างจริงจัง เพราะปัจจุบันก็มีสารทดแทนแร่ใยหินใช้อย่างแพร่หลาย ฉะนั้นผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่สามารถใช้สารทดแทนได้ ก็ควรมีกฎหมายห้ามผลิตโดยใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ และห้ามนำเข้าแร่ใยหินเข้ามาในประเทศอย่างเด็ดขาด เพื่อเป็นการปูทางให้สังคมบรรลุการเป็นประเทศที่ไร้แร่ใยหินโดยเร็ว ส่วนผลิตภัณฑ์ใดที่ยังไม่สามารถคิดค้นสารทดแทนมาใช้แทนได้ก็อนุโลมไว้ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบโดยกว้าง นอกจากนี้ หาก ครม.พิจารณาเห็นชอบในเรื่องดังกล่าว ก็จะเป็นการสร้างความชัดเจนให้แต่ละหน่วยงานว่าต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง เพราะเรื่องนี้ช้าไม่ได้ เนื่องจากในความเป็นจริงแม้จะควบคุมในเรื่องการนำเข้าและการผลิต แต่ภาคปฏิบัติการนำไปใช้อย่างปลอดภัยเป็นไปได้ยาก และมีความเสี่ยงสูงกับการตายผ่อนส่งด้วยแร่ใยหินที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค มะเร็งเยื่อหุ้มปอด” เลขาธิการ สช.ระบุ

 ด้าน รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เล่าถึงความคืบหน้าในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินว่า ทั้ง 4 ยุทธศาสตร์  ที่ทำตามข้อได้แก่   ยุทธศาสตร์การส่งเสริม สนับสนุนการใช้สารทดแทนที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ  รวมทั้งการบริหารจัดการเพื่อควบคุม ลดและเลิกใช้แร่ใยหินนั้น

"ขณะนี้มีผู้ประกอบการหลายรายให้ความร่วมมือในการลดและเลิกใช้แร่ใยหินในการผลิต  เช่น SCG และกลุ่มมหพันธ์ เลิกใช้แร่ใยหินในการผลิตกระเบื้องมุงหลังคา บริษัทสร้างบ้านจัดสรรก็ยกเลิกเช่นกัน เช่น การเคหะแห่งชาติ ศุภาลัย นอกจากนี้ ในส่วนของผลิตภัณฑ์ผ้าเบรกรถยนต์ก็ตื่นตัวในเรื่องนี้ โดยปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัทผลิตผ้าเบรกที่ไม่ใช้แร่ใยหินร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประสงค์เปลี่ยนผ้าเบรกไร้แร่ใยหินให้ฟรีกับรถขนส่งมวลชนในเมืองพัทยา จ.ชลบุรี เพื่อให้พัทยาเป็นเมืองปลอดแร่ใยหิน นอกจากนี้ ยังขอเปลี่ยนให้ TAXI  ใน กทม.หลักหมื่นคันด้วย"

ยุทธศาสตร์การเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนรับรู้ถึงภัยอันตรายจากแร่ใยหิน  ขณะนี้  คคส.กับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค  (สคบ.) ได้ลงพื้นที่โรงเรียน หมู่บ้าน ชุมชน เพื่อให้ประชาชนรับรู้ถึงภัยอันตรายจากแร่ใยหินผ่านกิจกรรมต่างๆ  และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบเฝ้าระวังและติดตามกลุ่มเสี่ยงทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการวินิจฉัยโรค ทางกรมการแพทย์ก็จัดทำระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับการเฝ้าระวังและวินิจฉัยโรคที่เกิดจากแร่ใยหิน ด้วยการประกาศให้ปีนี้เป็นปีแห่งการค้นหาผู้ป่วยที่เคยสัมผัสหรือใช้แร่ใยหิน
 
“ส่วนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับการยกเลิกการใช้และป้องกันอันตรายโดยมาตรการทางกฎหมาย  อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตราการโดยเร็ว เพราะหากล่าช้าเกินไปอาจเกิดการกักตุนสินค้าเพื่อผลิตไว้ขายได้ในอนาคต และส่งผลให้เกิดปัญหาลุกลาม เช่น จำนวนผู้ป่วยจากแร่ใยหินเพิ่มมากขึ้น ทำให้ระบบประกันสุขภาพต้องรับภาระมากขึ้น เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลอยู่หลักแสนบาทต่อคน และขณะนี้ทราบด้วยว่า มีอุตสาหกรรมผลิตท่อแร่ใยหินขนาดเล็กในต่างจังหวัดจำนวนมาก ยังไม่ตระหนักถึงอันตรายของแร่ใยหินและมีการโฆษณาชวนเชื่อว่าผลิตภัณฑ์มีความทนทาน พร้อมกับออกโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต"  รศ.ดร.วิทยากล่าว พร้อมให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ไร้แร่ใยหิน ว่า หากเทียบกับความปลอดภัยเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแล้วถือว่าคุ้ม เพราะจำนวนเงินที่จ่ายมากขึ้นคิดเป็นร้อยละ 10 เท่านั้น และหากต้องการให้ราคาลดลงเทียบเท่ากับสินค้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ต้องรณรงค์ให้คนไทยใช้ผลิตภัณฑ์ไร้แร่ใยหินมากขึ้นซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด

ขณะที่นายศักดิ์ชัย ยวงตระกูล อุปนายกคนที่ 1 สภาสถาปนิก กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตสารทดแทนแร่ใยหินมีการพัฒนาไปมาก และมีการผลิตสารทดแทนแร่ใยหินที่ปลอดภัยกว่าและมีประสิทธิภาพทัดเทียมกันมาใช้หลายชนิด โดยสารทดแทนแต่ละชนิดจะเหมาะกับชนิดผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน โดยประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วนำไปใช้มานานกว่า 30 ปี  ประเทศไทยเองก็มีการผลิตวัสดุก่อสร้างที่ปราศจากแร่ใยหินมาไม่น้อยกว่า 10 ปีเช่นกันในกลุ่มไม้สังเคราะห์  สำหรับกระเบื้องไฟเบอร์ซีเมนต์มุงหลังคามีการผลิตโดยไม่ใช้แร่ใยหินนานกว่า 3 ปีแล้ว  ซึ่งคุณสมบัติและความแข็งแรงเป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม จึงเป็นการดีหากสังคมจะหันมาใช้ และสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ปลอดแร่ใยหิน  จากข้อมูลการวิจัยยังพบด้วยว่า ผู้บริโภคกว่า 80% พร้อมจ่ายเงินเพิ่มในการซื้อวัสดุสร้างบ้านที่ปลอดแร่ใยหิน หากทราบว่าผลิตภัณฑ์ผสมแร่ใยหินนั้นๆ  เป็นสารก่อมะเร็งอันตรายต่อสุขภาพ

“เชื่อไหมว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยยังใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนผสมจำนวนมาก อย่างท่อน้ำประปาก็ยังใช้อยู่ด้วยเหตุผลว่าราคาถูกที่สุด แต่ไม่มีใครรู้ว่าพอถึงระยะเวลาเสื่อมสภาพแร่ใยหินก็จะหลุดลอกออกมา อย่างหลังคาอยู่ได้ราว 5 ปี ท่อน้ำประปาอยู่ได้แค่ 10 ปี แล้วประชาชนก็ได้รับความเสี่ยงตรงนี้ ไม่นับรวมถึงภาคการผลิต และการนำผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใบหินไปใช้ในการก่อสร้าง ที่ไม่สามารถควบคุมความปลอดภัยของคนงานและสถานประกอบการได้ ผมจึงสนับสนุนไทยเป็นสังคมไร้แร่ใยหิน แม้ว่าการริเริ่มจะไม่เห็นผลชัดเจนในวันนี้ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้เริ่มอะไรเลย” อุปนายกคนที่ 1 สภาสถาปนิกแสดงความเห็น

  
นางสมศรี สุวรรณจรัส นักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญ สำนักควบคุมวัตถุอันตราย กรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวยืนยันว่า ทางกระทรวงไม่ได้นิ่งนอนใจต่อมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติฯ เพียงแต่อยู่ในขั้นตอนรวบรวมข้อมูลเพื่อหาจุดสมดุลในการลดและเลิกการใช้แร่ใยหินในภาคอุตสหกรรม  เพราะหากสั่งให้เลิกใช้แร่ใยหินในทันที อาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทั้งการเลิกจ้างงานและการปิดกิจการในธุรกิจขนาดเล็กกว่า 200 ราย  โดยปัจจุบันมีบริษัทนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์ทั้งสิ้น 300 กว่าราย ในจำนวนนี้นำเข้าเป็นแบบวัตถุดิบ 8 ราย และมีผู้ประกอบการใช้แร่ใยหินผลิตสินค้าจำนวน 254 ราย อย่างไรก็ตาม หลังจากปรึกษากับกระทรวงพาณิชย์ถึงแนวทางในการจัดการเรื่องนี้ ได้ทางออกด้วยการจัดการแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการสร้างแรงจูงใจว่า วันหนึ่งจะมีการประกาศห้ามไม่ให้นำเข้าแร่ใยหิน และกระตุ้นให้ภาคธรุกิจเร่งหาสารทดแทนโดยเร็ว เพื่อไปสู่เป้าหมายเลิกใช้มากกว่าจะให้เลิกใช้ในทันที  ทั้งนี้หากบริษัทใดทำได้เร็วก็จะเป็นคุณ เพราะในปี 2558 ประชาคมอาเซียนเกิด ทุกอย่างจะเป็นหนึ่งเดียวใช้กฎเดียวกัน และในหลายประเทศแถบอาเซียนก็เลิกใช้แร่ใยหินแล้ว

“อย่าลืมว่า หากควบคุมแร่ใยหินไครโซไทล์ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 นั่นหมายความว่าใครก็ครอบครองไม่ได้ ผลิตหรือนำเข้าส่งออกก็ไม่ได้ แต่ในสภาพความเป็นจริงแร่ใยหินและผลิตแร่ใยหินก็ยังมีค้างอยู่ในตลาด แล้วจะออกกฎให้มีข้อยกเว้นสำหรับกฎหมายแล้วทำได้ยาก  ถ้ายกเว้นได้จริงก็จะเกิดคำถามอีกมากมาย  ฉะนั้น  การให้เลิกใช้แร่ใยหินจำเป็นต้องอาศัยเวลา อย่างการเลิกใช้สาร CFC ในตู้เย็นที่ใช้ในครัวเรือนก็ใช้เวลาเกือบ 10 ปี ซึ่งในส่วนนี้รัฐต้องใช้เทคนิคต่างๆ เข้ามาช่วยผู้ประกอบการ จนคิดว่า ภาคอุตสาหกรรมทำได้ด้วยตัวเองจึงได้ประกาศยกเลิกใช้สารดังกล่าว  ซึ่งคิดว่าเรื่องสำคัญที่ควรทำเป็นอันดับแรกในรณรงค์ให้ประเทศไทยไร้แร่ใยหิน ก็คือ  การควบคุมและสร้างมาตรฐานที่ดีในโรงงานที่ใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบ จะช่วยเซฟสุขภาพของผู้ที่สัมผัสโดยตรงอย่างพนักงาน มากกว่ามาเริ่มที่ผู้บริโภค เพราะผลิตภัณฑ์ที่ใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ ถ้าไม่ทำให้แตกละเอียดเป็นผง โอกาสที่เส้นใยจะหลุดออกมามีน้อยมาก” นางสมศรี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น