ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดเทศกาลวิทยาศาสตร์ต้อนรับเด็กเอเปคกว่า 500 คน จาก 16 เขตเศรษฐกิจร่วมงาน พร้อมวิทยากรพิเศษ นักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐฯ ถ่ายทอดความรู้ดึงไอเดียจากธรรมชาติเปลี่ยนเป็นนวัตกรรม นักฟิสิกส์จากเนเธอร์แลนด์ถ่ายทอดความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยี และฟังประสบการณ์ “ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์” เสาหลักแห่งวงการวิทยาศาสตร์ไทย รวมถึงนักบินอวกาศญี่ปุ่นมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์นอกโลก
ระหว่างวันที่ 20-26 ส.ค.54 ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัด เทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปค ครั้งที่ 4 หรือ (APEC Youth Science Festival-AYSE) ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย พร้อมกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการต่างประเทศ
นายสมชาย เทียมประเสริฐ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี กล่าวระหว่างข่าวการจัดงานเมื่อวันที่ 18 ส.ค.54 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2554 ว่า ไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดเทศกาลดังกล่าวในครั้งที่ 4 โดย 3 ครั้งก่อนหน้านี้จัดขึ้นที่เกาหลีใต้ สิงคโปร์และจีน
งานดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “จากธรรมชาติ สู่เทคโนโลยี” (From Nature To Technology) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ สร้างโอกาสแลกเปลี่ยนและเรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลาย รวมถึงการประชุมหารือเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะการขยายความร่วมมือด้านเยาวชนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมเอเปค โดยนายสมชายได้ให้ข้อมูลระหว่างการแถลงข่าวที่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์เข้าร่วมด้วยว่า ภายในงานเทศกาลจะมีเยาวชนจากเอเปคและเจ้าหน้าที่ด้านวิทยาศาสตร์ ประมาณ 660 คน จาก 16 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วม ในจำนวนนั้นเป็นนักเรียน 520 คนและครู 146 คน
“งานนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักให้เยาวชนเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งผลกระทบที่ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเยาวชนคือผู้ที่ต้องตระหนักรู้และเป็นกำลังสำคัญในอนาคต และคาดหวังในการก่อให้เกิดกลุ่มเครือข่ายที่มีความพร้อมและไม่แตกแยกในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพื่อรวมตัวกันช่วยแก้ไขและป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องไปในอนาคต” นายสมชายกล่าว
นอกจากนี้การจัดงานเทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอแปค ครั้งที่ 4 นี้ ยังได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรมในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ให้โครงการนี้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ อีกด้วย
ด้าน ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า รูปแบบของงานในครั้งแตกต่างจากที่เคยจัดมาก่อนหน้านี้ โดยที่ผ่านมาการจัดงานเป็นเพียงการนำเสนอผลงานและสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ แต่ในปีนี้ประเทศไทยได้เพิ่มเติมกิจกรรมเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลายมากขึ้น นั่นคือการบรรยายพิเศษจาก 4 วิทยากร ได้แก่ ฮิลารี สเตเปิลส์ (Hilary Staples) จากสถาบันไบโอมิมิคซิตี (Biomimicity Intitute) สหรัฐฯ ซึ่งจะบรรยายถึงการนำแนวคิดจากธรรมชาติมาสร้างนวัตกรรมเพื่อมนุษย์, โซอิจิ โนงูจิ (Souichi Noguci) นักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นจากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) มาเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการเป็นนักบินอวกาศ และการเดินทางในอวกาศ
ศ.ดร.ฮันส์ ฮิลเกนแคมป์ (Prof. Dr. Hans Hilgenkamp) นักฟิสิกส์จากสถาบันนาโนเทคโนโลยีเมสา (MESA,and Institute for Nanotechnology) มหาวิทยาลัยทเวนท์ (University of Twente) เนเธอร์แลนด์ ซึ่งจะบรรยายพิเศษเรื่องนาโนเทคโนโลยี ซึ่งจะนำภาพ “แผนที่ประเทศไทยบนเส้นผม” ที่ใช้เทคนิคทางด้านนาโนเทคโนโลยีในการสร้างภาพ และ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ นักวิทยาศาสตร์ไทยที่มีผลงานโดดเด่นในระดับนานาชาติและเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะร่วมถ่ายถอดประสบการณ์ทำงานและเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานซักถามอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ดร.อ้อมใจยังแจกแจงด้วยว่าภายในเทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปคจะจัดฐานการเรียนรู้ 9 ฐาน เช่น ฐานหุ่นยนต์ปลา เพื่อเรียนรู้โครงสร้างทางกายภาพและกลไกการว่ายน้ำของปลา, ฐานนักสืบสิ่งมีชีวิตเปล่งแสง เพื่อเรียนรู้กลไกการเปล่งแสงของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ เป็นต้น รวมถึงการทัศนศึกษาสำหรับครูเพื่อเสริมทักษะด้านการสอนวิทยาศาสตร์ การนำเสนอผลงานและกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์
ส่วน นายธนากร พละชัย รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพในการจัดงาน มีความพร้อมในการบริหารจัดการและการเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้านทั้งสถานที่ การเดินทาง การรักษาความปลอดภัย และการปฐมพยาบาล ด้านการให้การต้อนรับและรองรับเยาวชน นักวิจัย นักค้นคว้าจากสมาชิกกลุ่มเอแปค รวมทั้งคุณครูทางด้านวิทยาศาสตร์