xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.อทิตยา ศิริภิญญานนท์” นักเคมีผู้อยู่เบื้องหลังข้อมูลวิทย์ที่ถูกต้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.อทิตยา ศิริภิญญานนท์ นักเคมีวิเคราะห์ผู้รักในการสนับสนุนข้อมูลที่ถูกต้องแก่นักวิทยาศาสตร์คนอื่น
สำหรับนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ อาจให้ความสำคัญกับการค้นพบสิ่งใหม่ สร้างนวัตกรรมชั้นเลิศ แต่สำหรับ “ดร.อทิตยา ศิริภิญญานนท์” แล้วการได้ทำหน้าที่ “นักเคมีวิเคราะห์” ที่สนับสนุนข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องแก่นักวิจัยคนอื่นๆ คือสิ่งที่สำคัญยิ่ง และดียิ่งขึ้นไปอีกเมื่อผลงานพื้นฐานของเธอสามารถต่อยอดร่วมกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่นได้

ผศ.ดร.อทิตยา ศิริภิญญานนท์ เป็นอาจารย์และนักเคมีวิเคราะห์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยความสนใจหลักๆ ของเธอคือเรื่องเทคโนโลยีการวิเคราะห์และการประยุกต์ใช้ และเนื่องจากกระแสนาโนเทคโนโลยีที่มาแรงในช่วงหลังๆ งานของเธอจึงเน้นไปที่การวิเคราะห์และหาขนาดอนุภาคในระดับนาโนเมตร รวมถึงศึกษาเรื่องการกระจายตัวของอนุภาคนาโน

ขอบข่ายงานในวิเคราะห์ทางเคมีที่ ผศ.ดร.อทิตยาสนใจคือ งานทางด้านสิ่งแวดล้อมและอาหาร โดยในประเด็นสิ่งแวดล้อมนั้นเธอบอกแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ปัจจุบันอนุภาคเงินนาโนหรือนาโนซิลเวอร์ (nano silver) นั้นถูกนำมาใช้ค่อนข้างเยอะ เธอจึงตั้งคำถามว่าอนุภาคเหล่านั้นจะมีผลอะไรต่อสิ่งแวดล้อมบ้างหรือไม่ และนำเทคนิคการวัดขนาดและเทคนิคหาการกระจายตัวของอนุภาคนาโนในน้ำมาตอบคำถามดังกล่าว

ผศ.ดร.อทิตยาทำการทดลองเพื่อหาคำตอบว่าอนุภาคนาโนซิลเวอร์จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร โดยนำน้ำจากแหล่งธรรมชาติคือ น้ำทะเล น้ำแม่น้ำ และน้ำประปา มาศึกษาในห้องปฏิบัติการ โดยผสมอนุภาคนาโนซิลเวอร์ลงไปเพื่อดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงขนาดหรือไม่ หากมีการเปลี่ยนแปลงแสดงว่าอนุภาคดังกล่าวมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการศึกษาเรื่องนี้ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ยังไม่พบระดับไม่ปลอดภัยของอนุภาคนาโนในสิ่งแวดล้อม แต่เธอก็ให้ความเห็นว่าอาจเป็นเพราะเทคนิคในการวิเคราะห์ของเธออาจยังไม่สมบูรณ์

อย่างไรก็ดี อาจารย์นักเคมีผู้นี้กล่าวว่า ไม่สามารถฟันธงลงไปได้ว่าอนุภาคนาโนซิลเวอร์ที่มีคนนิยมใช้มากนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่ทราบคือขนาดของอนุภาคมีผลต่อคุณสมบัติทางเคมี หากอนุภาคมีขนาดใหญ่นั้นมักจะตกตะกอน แต่หากมีขนาดเล็กจะไหลไปในสิ่งแวดล้อมได้ไกล อีกทั้งขนาดยังมีผลต่อความเป็นพิษและการดูดซึม ซึ่งสิ่งมีชีวิตสามารถดูดซึมอนุภาคขนาดต่างๆ ได้แตกต่างกันด้วย

“แต่ในบทบาทของตัวเองแล้วไม่สามารถอธิบายรายละเอียดลงลึกถึงเรื่องนี้ หากจะให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ต้องศึกษาร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ด้านอื่น” ผศ.ดร.อทิตยากล่าว

อีกด้านที่เธอสนใจประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านเคมีวิเคราะห์คืองานทางด้านอาหาร ซึ่งเธอได้บอกเราว่าเมื่ออนุภาคนาโนแขวนลอยในอาหารจะส่งผลต่อรสสัมผัส ทั้งนี้ เธอสนใจในการเตรียมอนุภาคโปรตีนให้มีขนาดต่างกันด้วยการเติมเกลือบางชนิดลงไป ซึ่งนอกจากเทคนิคการวิเคราะห์แล้วเธอพร้อมทีมวิจัยยังได้พัฒนาเครื่องที่ใช้แยกอนุภาคโปรตีนด้วยสนามของการไหลและสนามของการหมุนเหวี่ยงด้วย

นอกจากความสนใจด้านอาหารและสิ่งแวดล้อมแล้ว นักเคมีวัย 38 ปีผู้นี้ยังสนใจงานด้านการวิเคราะห์ปริมาณแร่ธาตุเพื่อระบุแหล่งที่มาของตัวอย่าง เช่น การวิเคราะห์ที่มาของอัญมณีและข้าว เป็นต้น ซึ่งเธอได้ยกตัวอย่างว่า หากเก็บเมล็ดข้าวจากภาคต่างๆ ของไทยมาวิเคราะห์จะพบว่ามีปริมาณแร่ธาตุที่แตกต่างกัน หรือ อัญมณีจากเอเชียและแอฟริกาอาจมีสีสันเหมือนกัน แต่เมื่อวิเคราะห์ลงไปจะพบว่ามีแร่ธาตุที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค

ผศ.ดร.อทิตยากล่าวว่า งานของเธอจะมีประโยชน์เมื่อมีการต่อยอดและร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์สามารถอื่นๆ ทั้งนี้บทบาทที่สำคัญของนักเคมีวิเคราะห์คือ การระบุให้ได้ว่าสารเคมีที่สนใจนั้นคืออะไร มีองค์ประกอบอะไรและมีปริมาณเท่าไร ซึ่งหลายคนอาจทำการวิเคราะห์เคมีได้ แต่ถ้าไม่สามารถสร้างข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ก็จะทำให้การตีความข้อมูลในการศึกษาขั้นต่อไปผิดพลาดได้

สำหรับจุดที่ทำให้ ผศ.ดร.อทิตยารักงานวิจัยเกิดขึ้นเมื่อเธอมีโอกาสได้ทำการวิจัยเล็กๆ ระหว่างการทำวิจัยปริญญานิพนธ์ (Senior Project) ขณะศึกษาในระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทำให้เธอได้เห็นความท้าทายของการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีผลสรุปตายตัวเหมือนการทดลองในระดับชั้นเรียนที่ต่ำกว่า

“ตอนปี 4 ได้ทำโปรเจกต์เล็กๆ ของตัวเอง เราต้องศึกษาและทดลองด้วยตัวเอง ไม่มีการกำหนดว่าต้องทำอะไรเหมือนการทำแล็บในชั้นปีอื่นๆ เมื่อได้ลงมือทำเองแล้วรู้สึกชอบ รู้สึกท้าทายที่ทำอะไรลงแล้วไม่ได้ผลเลยตั้งแต่แรก แต่ต้องไปค้นหา ค้นคว้าเพื่อตอบคำถาม ทำให้งานวิจัยเป็นสิ่งที่น่าค้นหาและรักงานวิจัยมากขึ้น” ผศ.ดร.อทิตยากล่าว

ส่วนเหตุผลที่ชอบวิชาเคมีนั้น ผศ.ดร.อทิตยาให้เหตุผลว่า เนื่องจากเคมีเป็นสิ่งที่มีอยู่รอบตัวเรา และยังมีอะไรให้ทำได้อีกมาก แต่สนใจศาสตร์ทางด้านเคมีวิเคราะห์เป็นพิเศษเพราะสิ่งที่ตอบคำถามได้ว่าสารเคมีที่สนใจนั้นคืออะไร มีองคืประกอบใดบ้างและมีปริมาณเท่าไร แต่ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ อาจจะสนใจสร้างผลงานใหม่ๆ แต่สำหรับเธอแล้วให้ความสำคัญในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากเมื่อมีการต่อยอดร่วมกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ

“สำหรับตัวเองเป็นคนโชคดีที่มีองค์ประกอบรอบข้างดี อยู่ในสภาพแวดล้อมดี มีอาจารย์ที่ดี มีโอกาสได้ทุนวิจัยและมีกำลังสำคัญคือลูกศิษย์ ทั้งนี้ อยากจะฝากแง่คิดแก่ทุกคนว่าอยากให้ทำในสิ่งที่ตัวเองทำแล้วมีความสุข” นักเคมีวิเคราะห์ฝากทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ผศ.ดร.อทิตยาเพิ่งได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ สาขาเคมี (TWAS Prize for Young Scientists in Thailand) รางวัลอันทรงเกียรติจากสภาวิทยาศาสตร์สำหรับประเทศกำลังพัฒนา (Academy of Sciences for the Developing World) หรือชื่อเดิมคือสภาวิทยาศาสตร์แห่งโลก (Third World Academy of Sciences) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มอบราวัลนี้มาตั้งแต่ปี 2529 และหมุนเวียนรางวัลแต่ละปีใน 4 สาขา คือ ชีววิทยา เคมี คณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ตามลำดับ โดยปีนี้ 2554 เป็นรอบสำหรับรางวัลในสาขาเคมี และเมื่อปี 2550 เธอยังได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

กำลังโหลดความคิดเห็น