ในขณะที่เราวิตกว่าอนาคตเราจะไม่มีน้ำมันให้ใช้ หรือการผลิตอาหารจะไม่เพียงพอแก่ประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับผู้บริหาร “ดูปองท์” ในไทย ซึ่งดูแลนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ที่ครอบคลุมตั้งแต่ อาหาร เกษตร พลังงาน เคมีภัณฑ์ และสิ่งทอ กลับมองว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่เป็นปัญหา เพราะเรามีวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยแก้โจทย์เหล่านั้น
น.สพ.สมชาย เลาห์วีระพานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดูปองท์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชน ว่า ดูปองท์ใช้งบประมาณ 5% ของรายได้ทั้งหมด หรือคิดเป็นเงิน 60,000 ล้านบาท เพื่อการวิจัยและพัฒนา โดยงบประมาณดังกล่าวกว่า 60% เป็นการวิจัยและพัฒนาเรื่องอาหารและการเพิ่มผลผลิต
ในปัจจุบันประชากรบนโลกมีประมาณ 7 พันล้านคน แต่คาดการณ์ว่า อีกไม่กี่ 10 ปีข้างหน้าจะมีประชากรเป็น 9 พันล้านคน ซึ่งประชากรที่ยิ่งมากขึ้นนี้ ยิ่งส่งผลให้มีความต้องการที่อยู่อาศัยมากขึ้น จึงทำให้พื้นที่สำหรับการเพาะปลูกน้อยลง ซึ่ง น.สพ.สมชาย ชี้ว่า ความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้ประชากรโลกมีข้าวกิน มีอาหารกิน โดยอาศัยพื้นที่เพาะปลูกน้อยลง
“ผมไม่เชื่อว่าอาหารจะขาดแคลน ถ้าเราสร้างนักวิทยาศาสตร์ขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้การเพาะปลูกเรามีประสิทธิภาพดีขึ้น จริงๆ แล้ววันนี้ผลผลิตข้าวต่อไร่ของเราแพงกว่าชาวบ้านเขา เราแพ้เวียดนาม แพ้ฟิลิปปินส์ แพ้อินโดฯ เราเป็นอันดับ 6 ของอาเซียนซึ่งมีอยู่ 8 ประเทศ และเราสูญเสียความเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลกไปเรียบร้อย เราแพ้เวียดนาม ผลผลิตของข้าวต่อไร่ของเราแค่กว่า 400 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่เวียดนามผลิตได้มากกว่าเรา 2 เท่า” น.สพ.สมชาย กล่าว
ทั้งนี้ เขาบอกอีกว่าประเทศอื่นในอาเซียนก็ผลิตได้มากกว่าไทย ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย ส่วนพม่าที่เพิ่งเปิดประเทศก็ประกาศว่าจะทวงความเป็นที่ 1 ในการส่งออกข้าวคืน เพราะพม่าเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกมาก่อนไทย โดยมีพื้นที่พอๆ กับไทย แต่พื้นที่ว่างเปล่ารวมถึงที่นาเยอะกว่าไทย แต่วิทยาศาสตร์เท่านั้น รวมไปถึงเทคโนโลยี เทคนิคการปลูก การทำนา การให้น้ำ จะช่วยเพิ่มผลผลิตการปลูกข้าวได้
“ส่วนเรื่องพลังงานนั้นตอนนี้น้ำมันกำลังจะไม่พอ แต่สิ่งที่อยากจะบอก คือ ผมไม่เชื่อว่าน้ำมันจะเป็นปัญหาของเราในอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะแหล่งพลังงานของโลกจะเปลี่ยน วันนี้ประสิทธิภาพแผงโซลาร์เซลล์ให้กำลังผลิตไฟฟ้าต่อหน่วย (กิโลวัตต์ชั่วโมง: kWh) ที่มีราคาใกล้เคียงกับไฟที่เราซื้อรัฐบาล และหลายประเทศในโลกคุ้มแล้วที่จะใช้แผงโซลาร์เซลล์แทนไฟรัฐ ในฟิลิปปินส์ อิตาลี แถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งมีค่าไฟแพง ใช้โซลาร์เซลล์คุ้มแล้ว” น.สพ.สมชาย กล่าว
ผู้บริหารดูปองท์ในไทย ยังแจงด้วยว่า เมื่อติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์แล้วจะได้ต้นทุนค่าไฟที่ใกล้เคียงกัน เพราะมีดวงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงาน อีกทั้งต้นทุนของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ทั่วโลกก็ใกล้เคียงกัน และดูปองท์ยังทำการประเมินว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า เมืองไทยจะใช้โซลาร์เซลล์แทนไฟบ้านได้คุ้มทุน แต่ยังมีปัญหาเรื่องการมีพื้นที่ไม่พอ เพราะการใช้โซลาร์เซลล์นั้นต้องใช้พื้นที่เยอะ แต่เชื่อว่าอนาคตโซลาร์เซลล์จะผลิตกระไฟฟ้าได้มากขึ้นในพื้นที่เท่าเดิม
“เมื่อเทียบกับ 3 ปีที่แล้ว แผงโซลาร์เซลล์ ขนาด 1.1 x 1.4 ตารางกิโลเมตรนั้นให้ไฟฟ้า 100 วัตต์ ตอนนี้แผงขนาดเดียวกันให้ไฟ 150 วัตต์ และในอีก 3 ปีข้างหน้าแผงขนาดเดียวกันอาจให้ไฟถึง 200-300 วัตต์ ทำให้ใช้พื้นที่น้อยลง แต่ได้กำลังผลิตมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีและได้ราคาถูกลง แต่ก็ยังมีช่วงปรับตัวในอีก 4-5 ปีข้างหน้า เพราะตอนนี้เทคโนโลยียังไม่เสถียร เหมือนคอมพิวเตอร์ที่ประสิทธิภาพดีขึ้น คนใช้เยอะขึ้น ผลิตเยอะขึ้น ราคาก็ถูกลง เราสร้างเทคโนโลยีมาเพื่อให้คนใช้เยอะขึ้น ผลิตเยอะขึ้น แล้วราคาก็จะถูกลง” น.สพ.สมชาย กล่าว
พร้อมกันนี้ เพื่อให้จุดประกายให้เยาวชนได้เห็นว่า วิทยาศาสตร์นั้นช่วยแก้ปัญหาพลังงานได้อย่างไรบ้าง ดูปองท์ (ประเทศไทย) จึงร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดค่ายวิทยาศาสตร์ดูปองท์ (DuPont Young Scientist Camp) ระหว่างวันที่ 17-19 ต.ค.55 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ถึงการใช้วิทยาศาสตร์เพื่อความยั่งยืนด้านอาหารและพลังงาน โดยมีนักเรียน ม.ต้นจากทั่วประเทศเข้าร่วมประมาณ 90 คน
ด.ช.จิรายุ สมประสงค์ นักเรียน ม.2 โรงเรียนสารสาส์นวิเทศสายไหม ซึ่งเป็นหนึ่งในนักเรียนที่เข้าค่ายดังกล่าว เผยว่า ได้ทดลองใช้เอนไซม์หยดลงของเหลวสองอย่างเพื่อดูปฏิกิริยาที่เกิด ซึ่งทำให้ได้เห็นว่าเอนไซม์โปรติเอสสามารถย่อยนมให้มีลักษณะใสขึ้น ส่วนเอนไซม์ไลเปสช่วยในการย่อยไขมันได้ แต่เมื่อทดลองสำหรับกันพบว่าไม่เกิดปฏิกิริยาขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเอนไซม์แต่ละชนิดนั้นมีความจำเพาะในการทำปฏิกิริยากับสารอื่น
“ผมมองว่าวิทยาศาสตร์จะช่วยแก้ปัญหาด้านพลังงานและอาหารได้ โดยเริ่มต้นจากผลผลิตทางการเกษตร ตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ การใช้สารเคมีต่างๆ เพื่อการเพาะปลูก เช่น ยาฆ่าแมลง ปุ๋ย และเมื่อพัฒนาไปเรื่อยๆ ก็ทำให้สารเหล่านั้นมีอันตรายน้อยลง และคิดว่าค่ายนี้จะทำให้เราได้ความรู้มากขึ้น” ด.ช.จิรายุให้มุมมองเรื่องบทบาทของวิทยาศาสตร์ต่อการแก้ปัญหาอาหารและพลังงาน โดยอิงพื้นความรู้เดิมที่มี
ด้าน นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารค่ายวิทยาศาสตร์ สวทช.กล่าวถึงการจัดค่ายดังกล่าวว่า มีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนในเรื่องอาหารและพลังงาน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการดำรงชีวิต และเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์มีตัวตน จับต้องได้ และเป็นสิ่งที่นำไปใช้ได้จริง และแม้ว่าจะจัดค่ายแค่ 3 วัน แค่ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันจึงเชื่อว่าเยาวชนจะกลับไปค้นคว้าเองต่อได้
“เราเลือกจัดค่ายให้นักเรียน ม.ต้น เพราะเป็นช่วงที่เขาเริ่มค้นหาว่าตัวเองสนใจอะไร และยังไม่ต้องเครียดในเรื่องสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งจะเป็นการเปิดมุมมองให้เขาสนใจและเลือกเรียนต่อในสายวิทยาศาสตร์ อีกทั้งเรื่องที่เลือกมานำเสนอนั้นค่อนข้างมีศัพท์เทคนิคเยอะ จึงเลือก ม.ต้น เพื่อให้ทำอะไรได้ลึกขึ้น โดย 70% ของกิจกรรมคือการลงปฏิบัติ โดยเยาวชนในค่ายได้ทดลองใช้เอนไซม์ รวมถึงทดลองใช้เซลล์แสงอาทิตย์ของจริงด้วย” นางฤทัย กล่าว