xs
xsm
sm
md
lg

“โฉมหน้าพันธมิตรแห่งสารพิษ” ใครกำลังสุมหัวฆ่าคนไทยตายผ่อนส่ง??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ที่จะเกษียณอายุราชการสิ้นเดือนกันยายนนี้ เขากำลังอยู่บนทางเลือกจะให้สังคมจารึกไว้ว่าทำเพื่อประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนหรือเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทสารเคมีเกษตร
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สถานการณ์สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอยู่ในขั้นเลวร้ายสุดขีด ดังผลตรวจสอบผักของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายที่พบว่าผักยอดฮิต 7 ชนิดมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานถึง 40% โดยเป็นสารเคมีอันตรายชนิดร้ายแรงที่ทั่วโลกห้ามใช้แล้ว คำถามคือเหตุใดอธิบดีกรมวิชาการเกษตรถึงโยกโย้ไม่ยอมประกาศห้ามขึ้นทะเบียนเพื่อรักษาชีวิตคนไทยให้ยืนยาว เปิดเบื้องหลัง “พันธมิตรแห่งสารพิษ” กรมวิชาการเกษตร-บรรษัท-นักการเมือง แสดงพฤติกรรมส่อเจตนาร้ายสุมหัวฆ่าประชาชนไทยตายผ่อนส่ง

หลังจากมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องของเครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีเกษตร (ไทยแพน) และมูลนิธิชีววิถี ต่อนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ที่ขอให้สั่งระงับการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตรายร้ายแรง 4 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน (ชื่อการค้า-ฟูราดาน) เมโทมิล (ชื่อการค้า-แลนเนท) ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น มาตั้งแต่ต้นปี 2555 กระทั่งนายณัฐวุฒิให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555 ว่า ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรระงับการพิจารณาขึ้นทะเบียนสารเคมี 4 ชนิดดังกล่าว พร้อมกับให้เปิดเผยข้อมูลการขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตรายและอนุญาตให้ตัวแทนเครือข่ายประชาชนร่วมตรวจสอบกระบวนการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรด้วย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากนายณัฐวุฒิให้สัมภาษณ์ว่ามีคำสั่งดังกล่าว นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามแต่อย่างใด โดยอ้างว่าข้อมูลการขึ้นทะเบียน เช่น พิษวิทยา พิษตกค้างระยะยาว ฯลฯ เป็นผลศึกษาของบริษัทสารเคมีซึ่งถือเป็นความลับบริษัท จะนำมาเปิดเผยไม่ได้

ส่วนการห้ามนำเข้า จำหน่าย ครอบครอง เป็นอำนาจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ถ้าหากจะสั่งห้ามต้องเสนอต่อคณะทำงานพิจารณาวัตถุอันตรายในบัญชีเฝ้าระวังของกรมวิชาการเกษตรเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายต่อไป ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาการขึ้นทะเบียน มีอำนาจเต็มในการที่จะไม่อนุญาตให้สารเคมีอันตรายขึ้นทะเบียนได้หากมีข้อมูลและหลักฐานเกี่ยวกับความอันตรายร้ายแรงของสารเคมี ซึ่งเป็นที่ปรากฏชัดอยู่แล้วว่าหลายประเทศทั่วโลกประกาศห้ามใช้ไปแล้ว
ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ รมช.กระทรวงเกษตรฯ ที่มีคำสั่งให้ระงับการพิจารณาขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรอันตราย 4 ชนิด ถึงวันนี้เป็นเพียงลมลวง
ล่าสุด กรณีผลการตรวจสอบผักของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีเกษตร พบว่าผักที่เป็นที่นิยมสำหรับการบริโภคของประชาชน 7 ชนิด (อ่านรายละเอียดในข่าวเกี่ยวข้อง) มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานถึง 40% ไม่ว่าจะเป็นผักที่ขายตามห้างใหญ่ ตลาดสด หรือรถเร่ ซึ่งเป็นสารเคมีอันตราย 4 ชนิดที่หลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้แล้วรวมอยู่ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคทุกกลุ่มกำลังตายผ่อนส่งจากปัญหาการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่หน่วยงานรัฐเห็นแก่ประโยชน์ของบรรษัทมากกว่าประชาชน
 
เช่นเดียวกับเกษตรกรทั่วประเทศ ที่มีผลการตรวจเลือดโดยกระทรวงสาธารณสุขล่าสุดเผยให้เห็นว่า เกษตรกรไทยประมาณ 40% มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเลือดในระดับเสี่ยงไม่ปลอดภัย นี่คือมูลเหตุสำคัญที่ญาติพี่น้องและเพื่อนรอบข้างต้องตายและทุกข์ทรมานด้วยโรคมะเร็ง โดยไม่นับโรคและปัญหาอื่นๆ ที่เกิดจากสารพิษเหล่านี้

ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะประธานคณะทำงานการขึ้นทะเบียน และผู้รับผิดชอบหลักในการเสนอให้มีการห้ามใช้สารพิษอันตรายร้ายแรงยังคงอนุญาตให้มีการแพร่กระจายสารพิษร้ายแรง 4 ชนิดดังกล่าวในประเทศไทย เพราะขณะนี้ ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ถูกห้ามใช้แล้วในหลายประเทศทั่วโลก เมโทมิลของบริษัทดูปองท์ ถูกห้ามใช้แล้วในยุโรปหลายประเทศ รวมทั้งคาร์โบฟูรานของบริษัทเอฟเอ็มซีที่ถูกห้ามใช้ในสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ แล้วเพราะเป็นอันตรายเกินกว่าจะยอมรับได้

นอกจากจะไม่ยับยั้งแล้ว กรมวิชาการเกษตรยังได้แสดงให้เห็นว่ากำลังเร่งเดินหน้าและเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการขึ้นทะเบียนของบริษัท ดังเช่นการจัด “การประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินความเป็นอันตรายและผลกระทบภายหลังการใช้ เพื่อเสนอห้ามใช้หรือจำกัดการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร” เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่เปิดเผยให้เห็นเบื้องหลังและขบวนการผลักดันให้มีการอนุญาตขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรอันตราย 4 ชนิด ของกลุ่มพันธมิตรแห่งสารพิษ ที่ประกอบด้วย ข้าราชการ และบรรษัท ส่วนนักการเมืองซึ่งเป็นคีย์สำคัญกำลังเล่นลิงหลอกประชาชนหลังจากมีกระแสข่าวสะพัดว่ารับผลประโยชน์ไปแล้ว
ธีระ วงศ์สมุทร รมว.กระทรวงเกษตรฯ ผู้ไม่เคยแสดงท่าทีต่อสาธารณะว่าจะปกป้องชีวิตคนไทยให้รอดพ้นจากการตายผ่อนส่งจากการใช้สารเคมีเกษตรอันตราย
***เบื้องหลังพันธมิตรแห่งสารพิษ

ในวันประชุมดังกล่าว ตัวแทนมูลนิธิชีววิถีที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ได้บันทึกเบื้องหน้าเบื้องหลังไว้ว่ามีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 100 คน มีหน่วยงานราชการ นักวิชาการ บริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งบรรษัทข้ามชาติ และบริษัทคนไทย ผู้ประกอบการค้าขายผัก ส่วนตัวแทนเกษตรกรที่เข้าร่วมในห้องประชุมเห็นได้ชัดว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ได้รับการชักนำมาจากบริษัทสารเคมี

สำหรับเกษตรกรจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ ประมาณ 70 คน เลือกที่จะไม่เข้าไปในห้องประชุม เนื่องจากเกรงว่าการจัดประชุมครั้งนี้จะเป็นแค่เพียงการจัดฉากเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการขึ้นทะเบียนสารพิษ พวกเขาจับกลุ่มชุมนุมอยู่ภายนอก เรียกร้องให้กรมวิชาการเกษตรปฏิเสธการขึ้นทะเบียนและยืนยันให้ยกเลิกสารพิษร้ายแรง 4 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น โดยทันทีปราศจากเงื่อนไข

แม้การประชุมนี้จะมุ่งเน้นเรื่องการกำหนดเกณฑ์การพิจารณาว่าควรใช้หลักอะไรบ้างในการห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตัวไหนบ้าง แต่กรมวิชาการเกษตรกลับสอดไส้เนื้อหาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่สารเคมีบางตัวอย่างแนบเนียน เช่น สอดแทรกข้อมูลการทดลองของเจ้าหน้าที่กรมที่บอกว่า คาร์โบฟูราน ซึ่งประเทศอเมริกาห้ามใช้แล้วนั้นไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อแมลงศัตรูธรรมชาติในนาข้าว และไม่พบการระบาดเพิ่มของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

อีกทั้งยังให้ผู้เชี่ยวชาญวัตถุอันตรายอ้างสถิติว่า มีการพบการตกค้างของคาร์โบฟูราน เกินค่ามาตรฐาน (MRL) เพียง 10 ตัวอย่างจาก 32,147 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นเพียง 0.03% เท่านั้นเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ข้อมูลนี้ขัดแย้งกับข้อมูลของหน่วยงานราชการด้วยกันเอง และตัวเลขการสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
บรรยากาศการประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินความเป็นอันตรายและผลกระทบภายหลังการใช้ เพื่อเสนอห้ามใช้หรือจำกัดการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร” เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา
*** ผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อบรรษัทสารเคมี?

ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิสองคนที่ได้รับเชิญมางานนี้ คนหนึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการวัตถุอันตราย อีกคนหนึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยดังด้านการเกษตรและเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ของบริษัทสารเคมีต่างชาติและเคยมีตำแหน่งในคณะกรรมการวัตถุอันตราย เป็นที่รู้กันทั่วไปในแวดวงเกษตรว่าทั้งคู่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสมาคมธุรกิจสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในระหว่างการประชุมพวกเขาแสดงทัศนคติโน้มเอียงไปในทางสนับสนุนกลุ่มบริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างชัดเจน อีกทั้งไม่ได้แสดงความกระตือรือร้นในการดำเนินการเพื่อให้มีการประกาศห้ามใช้สารเคมีดังกล่าวแต่ประการใด

ในการประชุมดังกล่าวมีเกษตรกร 2-3 คนที่แสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุม คนแรกมาจากสมาคมชาวสวนมะม่วงที่ใกล้ชิดกับบริษัทดูปองท์ พวกเขาบอกเป็นนัยว่า เมโทมิลของดูปองท์นั้นมีความจำเป็นอย่างไรต่อการผลิตมะม่วงส่งออก พร้อมกับโชว์มะม่วงน้ำดอกไม้พวงใหญ่ที่ผิวสวยสีเหลืองอร่ามปราศจากตำหนิใดๆ ให้ที่ประชุมดู

ส่วนเกษตรกรอีกคนจากสุพรรณบุรี ซึ่งแนะนำว่าตนเป็นผู้ประกอบการด้วย บอกว่า คาร์โบฟูรานมีราคาถูกและมีความจำเป็นต่อการทำนาอย่างไร ส่วนเรื่องผลกระทบต่อปูปลานั้นไม่ต้องห่วงเพราะมันหายไปจากทุ่งนาไม่เหลือมานานแล้ว มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า กลุ่มนี้เป็นเกษตรกรที่บริษัทเอฟเอ็มซีจัดให้ และไม่แน่ว่าเกษตรกรผู้นี้อาจเป็นเอเยนต์คาร์โบฟูรานของเอฟเอ็มซีก็อาจเป็นได้
การรณรงค์ให้หน่วยงานรัฐยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรอันตราย 4 ชนิดของเครือข่ายผู้บริโภคและเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
***ธาตุแท้กลุ่มทุนสารเคมี

เจ้าหน้าที่ของบริษัทเอฟเอ็มซี ซึ่งวันนั้นมีผู้บริหารระดับภูมิภาคชาวมาเลเซียบินมาร่วมด้วย พยายามแย้งข้อมูลของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีเกษตร (ไทยแพน) กรณีอีพีเอสหรัฐฯ และศาลสูงสหรัฐฯ มีคำตัดสินยืนยันห้ามใช้คาร์โบฟูรานในสหรัฐฯ แล้ว โดยอ้างว่าที่จริงเป็นการสมัครใจถอนของพวกเขาเอง และสหรัฐฯ เองแม้จะห้ามใช้ในประเทศตัวเองแต่ก็ยินยอมให้มีการนำเข้าผลผลิตจากต่างประเทศแม้จะมีการใช้สารนี้ (เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนสามารถส่งออกสารพิษที่ตัวเองไม่ใช้แล้วไปให้ประเทศอื่น)

การแถลงของเอฟเอ็มซีได้รับการสนับสนุนโดยทันควันจากสมาคมสารพิษไทย โดยอ้างว่าการที่ประเทศอื่นๆ สั่งห้ามไม่ใช่เหตุผลที่ประเทศไทยจะสั่งห้ามสารนั้นไปด้วย เบื้องลึกของการแสดงท่าทีของสมาคมนี้ก็เนื่องมาจากกลุ่มนี้ถูกค่อนขอดจากกลุ่มบริษัทสารเคมีต่างชาติว่า กลุ่มบริษัทสารพิษท้องถิ่นไม่ยอมออกแรง ทั้งๆ ที่หากคาร์โบฟูรานของเอฟเอ็มซีได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนได้ พวกบริษัทสารพิษท้องถิ่นที่นำเข้าจากจีนก็ได้ประโยชน์ไปด้วย ครั้งนี้สมาคมคนไทยจึงต้องแสดงตัว ยอมเปลืองตัวทั้งๆ ที่ได้พยามสร้างภาพลักษณ์ว่าตนเองพยายามทำให้วงการสารพิษทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบมาโดยต่อเนื่องก็ตาม

สำหรับท่าทีของบรรษัทข้ามชาติดูปองท์ ซึ่งมีผู้บริหารระดับภูมิภาคจากสิงคโปร์มาร่วมด้วย ไม่ได้แสดงบทบาทมากนักนอกจากวิจารณ์ว่ากลุ่มผู้บริโภคตื่นเต้นเกินเหตุ กรณีที่มีการเผยแพร่ผลการตรวจผักที่พบว่ามีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานถึง 40%
 
เป็นที่น่าสังเกตว่า บริษัทนี้อาจชาญฉลาดในการจ้างบริษัทประชาสัมพันธ์ผลักดันให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงออกมาผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนเมโทมิลแทนตนก็อาจจะเป็นไปได้ แต่การวิจารณ์องค์กรผู้บริโภคที่มีการสุ่มตรวจผักที่มีห้องปฏิบัติการของรัฐเป็นผู้ทดสอบ และมีการศึกษาเรื่อง MRL มาอย่างดีนั้นอาจไม่ฉลาดมากนัก

มีข้อน่าสังเกตว่า บางทีสายสัมพันธ์ของบริษัทค้าสารเคมีพวกนี้กับกลุ่มนักวิชาการและผู้บริหารของกรมวิชาการเกษตรรวมทั้งสื่อมวลชนสายเกษตรบางกลุ่มที่ทำงานให้พวกเขามาหลายครั้งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณีการคัดค้านการเก็บภาษีสารเคมี การกดดันให้ขยายเวลาการขายวัตถุอันตรายที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน ฯลฯ อาจทำให้พวกเขาลำพองใจ คิดว่าพวกเขาควบคุมเกมในการขึ้นทะเบียน และการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในครั้งนี้ได้กระมัง?
ผักผลไม้สีสันสวยงามมีคุณค่าน่ารับประทานแต่ทว่ากลับเสี่ยงภัยต่อการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตรายร้ายแรง
***กรมการข้าวจวกปิดกั้น ยืนยันคาร์โบฟูรานสุดอันตราย แนะให้เลิกใช้นานแล้ว

ไฮไลต์ที่แท้จริงในการจัดประชุมครั้งนี้ คือการที่นักวิชาการผู้กล้าหาญจากกรมการข้าวประกาศว่า กรมวิชาการเกษตรไม่เปิดโอกาสให้กรมการข้าวเข้าร่วมในการพิจารณาขึ้นทะเบียนและการพิจารณาแบนสารเคมีเลย ทั้งๆ ที่กรมการข้าวมีงานวิชาการและหลักฐานที่ยืนยันว่าไม่สมควรอนุญาตให้คาร์โบฟูรานขึ้นทะเบียน และทางกรมการข้าวไม่แนะนำให้ใช้คาร์โบฟูราน ในนาข้าวมานานแล้ว นักวิชาการผู้นี้ยังกล่าวด้วยว่า ขนาดกรมการข้าว ซึ่งดูแลพื้นที่การเกษตรครึ่งหนึ่งของประเทศยังไม่มีส่วนร่วมเลย แล้วจะหวังการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วไปได้อย่างไร?

นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สังคมไทยได้เห็นสายสัมพันธ์ของกลุ่มบรรษัทสารเคมีการเกษตร ที่มีอิทธิพลครอบงำกลไกการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการวัตถุอันตราย หรือผู้บริหารบางคนในกรมวิชาการเกษตร

***น้ำยา “อำมาตย์เต้น” กับท่าทีอันเพิกเฉยของ “ธีระ”

ส่วนผู้เล่นกลุ่มสำคัญอีกกลุ่มคือนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ นั้น ครั้งนี้พวกเขาไม่ได้แสดงตนว่ากำลังทำอะไรและคิดอะไรอยู่ แต่ท่าทีเพิกเฉยทำเป็นทองไม่รู้ร้อนของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หลังออกคำสั่งแล้วกรมวิชาการเกษตรไม่สนใจปฏิบัติตาม อาจตีความได้ว่ามีการล็อบบี้กันเรียบร้อยแล้วหรือไม่อย่างไร เช่นเดียวกับนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ ที่นั่งอยู่ในกระทรวงนี้มายาวนานแต่ไม่เคยมีท่าทีต่อสาธารณะในการปกป้องชีวิตคนไทยให้รอดพ้นจากสารเคมีเกษตรอันตรายแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดคงจะได้เห็นจุดยืนของคนกลุ่มนี้เมื่อระยะเวลาในการตัดสินใจให้ขึ้นทะเบียนหรือแบนสารพิษเหล่านี้ใกล้เข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนวันที่ 30 กันยายน 2555 ที่นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร คนปัจจุบันจะเกษียณอายุ หรือก่อนวันที่ 31 สิงหาคม 2556 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่คาร์โบฟูราน และเมโทมิลที่นำเข้ามาแล้วจะสามารถขายในประเทศได้ (ในกรณีที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน)

ไม่มีใครไม่เชื่อหรอกว่าธุรกิจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมูลค่า 60,000-80,000 ล้านบาทนี้ จะไม่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองที่เป็นผู้คัดเลือกว่าใครจะเป็นอธิบดีในกระทรวงที่ตนดูแลอยู่?

แม้ยากจะทำลายพันธมิตรแห่งสารพิษ ซึ่งเป็นเครือข่ายผลประโยชน์ที่เชื่อมโยงคนหลายกลุ่มเข้าด้วยกันได้อย่างราบคาบ แต่การเห็นความตื่นตัวของผู้บริโภค การเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของเครือข่ายเกษตรกร นักวิชาการอิสระ และข้าราชการที่กล้าหาญ ทำให้เชื่อว่าพันธมิตรแห่งสารพิษนี้จะอ่อนกำลังลงบ้าง อย่างน้อยสารพิษที่หลายประเทศเลิกใช้ไปแล้วจะหมดไปจากสังคมไทย

***เตือนบิ๊ก ขรก.กรมวิชาการเกษตร ระวังมีชะตากรรมเหมือน “ปลัดพันล้าน”

ความคืบหน้าล่าสุดในการเคลื่อนไหวเพื่อให้หยุดยั้งการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรอันตราย 4 ชนิดนั้น ทางเครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ฯลฯ ยังติดตามกระบวนการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรอันตรายอย่างใกล้ชิด หากกรมวิชาการเกษตรยังคงยืนยันจะให้มีการขึ้นทะเบียน หรือไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อที่จะให้มีการประกาศห้ามใช้สารเคมีเกษตรดังกล่าว ทางเครือข่ายฯ เตรียมพร้อมจะเคลื่อนไหวใหญ่เพื่อเปิดโปงให้สาธารณะเห็นถึงความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้น โดยจะลงลึกถึงขบวนการล็อบบี้ การจ่ายผลประโยชน์ต่างตอบแทน เปิดเผยรายชื่อผู้ที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องในทุกกระบวนการ

นอกจากนั้น เครือข่ายฯ ยังจะดำเนินการยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบทรัพย์สินและการทุจริตของข้าราชการที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับยี่นฟ้องต่อศาล รวมถึงการรณรงค์สาธารณะเพื่อต่อต้านสินค้าของบริษัทที่แสวงหาผลประโยชน์จากชีวิตของประชาชนอย่างปราศจากจริยธรรมอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น