นายกฯ เผยประชุม กบอ.เร่งรัดงาน พร้อมตรวจศูนย์เชื่อมโยงข้อมูล รับยังต้องบูรณาการให้เกิดเอกภาพ พร้อมคงระบายน้ำเขื่อนไว้ที่ 60% ยันไปจีน 17-19 เมาายนดูจัดการน้ำ-ขอเจ้าหน้าที่ร่วมงาน ด้าน “อานนท์” เผย “ยิ่งลักษณ์” สั่ง “นิวัฒน์ธำรง” ประสาน “ปลอดประสพ” รวมข้อมูลสื่อชาวบ้านยามเกิดภัย เน้นสัญญาณมือถือเตือนเหตุ ทำเรดาร์ภาพถ่ายทางอากาศพยากรณ์ความสูงน้ำ
วันนี้ (16 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กว่า 5 ชั่วโมงว่า วันนี้ไม่ได้เป็นการประชุมอย่างเป็นทางการ แต่เป็นการมาติดตามความคืบหน้าแต่ละโครงการและเร่งรัดงานแต่ละส่วนให้เรียบร้อยเร็วขึ้น โดยได้หารือถึงเรื่องการพัฒนาต้นน้ำ การทำฝายชะลอน้ำ การปลูกป่า ซึ่งการทำงานทั้งหมดต้องอาศัยการบูรณาการหลายกระทรวงรวมกัน พร้อมกันนี้จะดูเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูล ซึ่งวันนี้ทุกกระทรวงได้เตรียมงานไว้แล้ว และศูนย์แห่งนี้จะใช้เป็นศูนย์บริหารจัดการน้ำแบบศูนย์รวมของทุกหน่วยงาน (Single Command) ซึ่งต้องการดึงข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่เป็นข้อมูลทันต่อเหตุการณ์ทั้งหมดมาจัดทำเป็นห้องวอร์รูมเพื่อใช้วิเคราะห์สถานการณ์ ประเมินผล และชี้แจงให้ประชาชนทราบ ซึ่งการทำงานจะกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งตัวแทนเข้ามาทำงานในจุดนี้ด้วย ซึ่งศูนย์บริหารจัดการน้ำแห่งนี้ไม่ได้ทำงานซ้อนรายกระทรวง แต่เป็นการบูรณาการเพื่อให้การทำงานมีความเป็นเอกภาพ
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการติดตามงานมีส่วนไหนที่ยังล่าช้า น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เรื่องการบูรณาการยังต้องเชื่อมโยงให้เกิดความเป็นเอกภาพมากขึ้น ในส่วนงานที่แต่ละกระทรวงรับผิดชอบก็ได้มีการดำเนินการแล้ว โดยเรามีระบบการติดตามอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานก่อสร้างต้องใช้เวลาในการจัดซื้อจัดจ้าง
ผู้สื่อข่าวถามว่า การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ในวันนี้การระบายน้ำในเขื่อนเหลืออยู่ที่ระดับ 60% และจะยังคงระดับนี้ไว้ก่อนเพราะต้องใช้น้ำในพื้นที่น้ำแล้งด้วย แต่การบริหารจัดการน้ำโดยรวมถือว่าเป็นไปตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ได้ให้แนวทางไว้ แต่เราไม่ได้ปรับระดับลดลงไปถึง 45% ทั้งนี้เราต้องการเชื่อมข้อมูลทั้งหมดในรูปแบบที่เป็นเอกภาพ โดยคำนึงถึงความสามารถของคู คลองต่างๆ ที่จะรับน้ำได้ด้วย
เมื่อถามว่า หน่วยงานมองว่างบประมาณลงไปยังไม่ถึงส่งผลให้การดำเนินการล่าช้าหรือไม่และจะเร่งรัดงบประมาณอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า มี 2 ส่วน โดยส่วนแรกอยู่ในงบประมาณ 1.2 แสนล้านบาทได้จ่ายไปเกี่ยวกับเรื่องการเยียวยาชดเชยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมเกือบหมดแล้ว แต่ในส่วนของการก่อสร้างจ่ายไม่มาก ขณะนี้เร่งงบประมาณในส่วนของ 3.5 แสนล้านบาทซึ่งกำลังเร่งสำนักงบประมาณอยู่
เมื่อถามว่า การเดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 17-19 เมษายนนี้จะมีการพูดคุยเรื่องน้ำหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนมีการพัฒนาแหล่งน้ำมาก โดยคำนวณถึงน้ำท่วม น้ำแล้ง ซึ่งก่อนหน้านี้จีนมีปัญหาคล้ายกับประเทศไทย ซึ่งจะไปดูศูนย์บริหารจัดการน้ำของจีนว่าใช้หลักการบริหารจัดการน้ำอย่างไร พร้อมกับการไปดูเขื่อนของจีนด้วย ซึ่งจะมีคณะกรรมการ กบอ.บางคนเดินทางไปด้วยเพื่อดูข้อมูลว่ามีข้อมูลส่วนไหนบ้างที่จะเป็นประโยชน์แก่ไทย และนำกลับมาหารือ พร้อมกันนี้จะขอความร่วมมือจากฝ่ายจีนในการส่งเจ้าหน้าที่มาทำงานร่วมกับเรา
เมื่อถามว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องระบบการเตือนภัยหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เรื่องระบบเตือนภัยจะมีการวางอุปกรณ์ลงในพื้นที่ชุมชน พร้อมทั้งจัดระเบียบขั้นตอนการทำงานโดยให้ทุกหน่วยงานรวมแผนเข้ามาที่ศูนย์กลาง ซึ่งขณะนี้แต่ละหน่วยงานประมาณ 15 หน่วยงานได้วางโครงร่างแล้ว นอกจากนี้จะมีการเร่งติดกล้องซีซีทีวีตามจุดระบายน้ำต่างๆ
ด้านนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงประเด็นการสื่อสารเมื่อเกิดภัยธรรมชาติว่า สำนักงานบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) จะต้องมีหน่วยงานกลางเฉพาะทำหน้าที่คัดกรองข้อมูลจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกรมอุตุนิยมวิทยา หรือหน่วยงานเตือนภัยต่างๆ แล้วนำมาสังเคราะห์ให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่ายเพื่อใช้แจ้งเตือนประชาชน นายกรัฐมนตรีจึงมอบให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษา กบอ.เป็นผู้รับผิดชอบ และให้ประสานกับนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ รวมถึงสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในการสื่อสารต่อสาธารณชนด้วยโดยไม่ให้เกิดความสับสน
นายอานนท์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเน้นเรื่องสัญญาณสื่อสารในเรื่องการเตือนภัยโดยเป็นลักษณะของการกระจายข่าวผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปยังประชาชนที่อยู่ในรัศมีพื้นที่เสาส่งสัญญาณ 2-3 กิโลเมตร ได้รับการแจ้งเตือนภัยได้ในทันที ซึ่งต้องรวดเร็วกว่าการส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือ (เอสเอ็มเอส) อีกทั้งการทำเรดาร์ภาพถ่ายทางอากาศเพื่อสำรวจความสูงของแต่ละพื้นที่เพื่อช่วยให้การพยากรณ์ระดับความสูงของน้ำมีความแม่นยำนั้น ขณะนี้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) ได้ดำเนินการในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำและทุ่งนาบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ครอบคลุมทั้ง จ.พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ และกรุงเทพฯ รวม 2.4 หมื่นล้านไร่เสร็จแล้ว ขณะที่พื้นที่รอบๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มถึงเชิงเขา รวม 3.6 หมื่นล้านไร่นั้นเป็นหน้าที่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินการ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มทำเพราะอยู่ระหว่างการประมูลจัดจ้าง ซึ่งใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท แต่คาดว่าจะเสร็จทันใช้ก่อนฤดูน้ำหลากอย่างแน่นอน