xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” สั่ง 2 เขื่อนใหญ่เหลือน้ำ 45% หวังบริหารน้ำส่วนต่าง 2 หมื่นล้าน ลบ.ม.ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (แฟ้มภาพ)
“ยิ่งลักษณ์” นั่งหัวโต๊ะถกแผนป้องกันน้ำท่วม ย้ำ 1 พ.ค.ต้องเห็นระดับน้ำเขื่อน “ภูมิพล-สิริกิติ์” อยู่ที่ 45% หวังบริหารจัดการน้ำส่วนต่าง 2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรได้ ส่วนเขื่อนที่เหลือปรับตามสภาพ พร้อมเร่งหาพื้นที่ 2 ล้านไร่รองรับน้ำ ส่วนมาตรการระยะสั้น 3 เดือนแรก ปลูกหญ้าแฝก ทำฝายชะลอน้ำ ฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำ ปรับระบบเตือนภัย ให้ผู้ว่าฯ ดูแลเยียวยาอุทกภัย ภัยแล้ง กำชับเขื่อนปล่อยน้ำต้องสัมพันธ์ระดับน้ำพื้นล่าง


ที่โรงแรมอัมริทร์ ลากูน จ.พิษณุโลก วันนี้ (14 ก.พ.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการ กยน. ได้ร่วมรับฟังผลการประชุมแผนงานโครงการป้องกันน้ำท่วมจังหวัดพื้นที่ต้นน้ำ

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สำหรับมาตรการเร่งด่วนในช่วง 3 เดือนแรก ในสิ้นเดือน เม.ย.นี้จะทำการชะลอน้ำ ปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชันควบคู่กับการปลูกป่าในพื้นที่ล่าชันรวมถึงการทำฝายชะลอน้ำที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพ

ส่วนที่ 2 พัฒนาแหล่งน้ำที่มีอยู่ เพื่อเก็บน้ำได้เต็มศักยภาพ โดยจะมีการเข้าไปฟื้นฟูบูรณะ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นเจ้าภาพ

ส่วนที่ 3 ปรับปรุงศูนย์ข้อมูลและพยากรณ์ให้เป็นเอกภาพ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเจ้าภาพ 4. ปรับปรุงขั้นตอนการปฏิบัติแจ้งข่าวพยากรณ์เตือนภัยเหตุภัยพิบัติลงระดับชมชนให้แล้วเสร็จ โดยนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย และนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯเป็นเจ้าภาพ

ส่วนที่ 5 ปรับปรุงนโยบายของคณะกรรมการระบายน้ำทั้งประเทศรวมถึง กทม.ด้วย ภายใต้การบริหารหลักของ กอนช. และให้มีการปรับเคิบใหม่ให้คำนึงถึงภัยน้ำท่วมเป็นหลัก โดยกรมชลประทานเป็นผู้ดูแล ซึ่งต้องดูปริมาณน้ำในปี 2555 เป็นหลัก ขณะที่ภัยน้ำแล้งเป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดในการเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ทั้งหมดเป็นมาตรการในการบริหารจัดการพื้นที่ต้นน้ำ

“วันนี้การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติที่จะมาถึงเร็วๆ นี้จะต้องมีการปรับปรุงส่วนเหล่านี้และจัดทำแผนป้องกันน้ำอย่างยั่งยืน หากแผนมาตรการเหล่านี้จะปรับลดลงได้และผู้ว่าราชการจะต้องดูแลเรื่องภัยแล้ง ซึ่งจะเป็นการทำความเข้าใจร่วมกันระหว่าง กนย. ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันในทุกหน่วยงาน”

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงศูนย์เตือนภัยว่า นอกจากจะทำหน้าที่พยากรณ์แล้วการเตือนภัยจะมาจากแหล่งเดียวที่เป็นเอกภาพทั้งประเทศ ข้อมูลสามารถเช็กได้ผ่านทางทีวี และอินเทอร์เน็ต สำหรับด้านเทคนิคเป็นหน้าที่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

ส่วนการจัดการบริหารน้ำในเขื่อน วันนี้เราได้กำหนดกรอบความสำคัญระดับน้ำในเขื่อนจากเดิมอยู่ระดับต่ำสุด 60% วันนี้ได้มีการตกลงกันเรียบร้อยแล้วให้อยู่ในระดับ 45% จากการตรวจเยี่ยมเขื่อนสิริกิติ์ก็จะยึดแนวทางนี้ ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่กำหนดไว้คร่าวๆ ก่อน โดยทางกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานจะต้องไปปรับตามคำพยากรณ์เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดและยึดหลักภัยน้ำท่วมเป็นหลัก

สำหรับภัยแล้งขอให้เป็นหน้าที่ของบจังหวัดในการดูแลเยียวยา โดยขอให้ตั้งคณะทำงานระบายน้ำที่ต้องดูทั้งน้ำในทุ่งและในเขื่อนควบคู่กันและจะเป็นชุดเดียวที่รายงานกลับมายังศูนย์ ซึ่งส่วนของน้ำตอนบนจะมีเขื่อนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 5 เขื่อน จุดสำคัญคือ ทำความสัมพันธ์แต่ละเขื่อนที่จะไหลไปยังปลายน้ำ ซึ่งจะพูดกันอีกครั้งในการบริหารพื้นที่ตอนกลาง

“หากสื่อสารได้ตรงกัน 1 พ.ค.นี้ ระดับน้ำต่ำสุดจะอยู่ที่ 45% ทุกเขื่อน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนี้ นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้แย้งนายกรัฐมนตรีว่า ระดับน้ำในเขื่อนจะอยู่ที่ 45% นั้นจะได้เฉพาะ 2 เขื่อน คือ ภูมิพล และสิริกิติ์ ส่วนเขื่อนอื่นๆ ได้กำหนดไว้เรียบร้อยเช่นเดียวกันว่าแต่ละเขื่อนจะขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละเขื่อน หลักการคือ เรื่องของการลดระดับน้ำในเขื่อนทุกคนยอมรับกันอยู่แล้วระหว่างคณะกรรมการต่างๆ ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ระดับน้ำจะต้องลดลงมาอยู่ในระดับที่กำหนดอย่างเขื่อนสิริกิติ์ในวันที่ 1 พ.ค.จะปรับลดลงมาที่ 45% และจะบริหารตามความจำเป็น ตามสถานการณ์

ขณะที่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อย่างไรก็ขอให้กรมชลประทานดูทั้งส่วนปลายน้ำและการกระจายน้ำไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ที่อยู่ส่วนล่างตอนปลาย เพื่อให้แน่ใจว่าท่อที่ระบายนั้นรับได้ โดยเฉพาะน้ำในเขื่อนภูมิพลเมื่อมีการปรับระดับมาที่ 45% จะมีปริมาณน้ำกักเก็บไว้ 6 พันล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ 4200 ล้านลูกบาศก์เมตรความสามารถในการกักเก็บน้ำ 100% ของเขื่อนจะอยู่ที่ 13,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น ถ้าเราปรับตรงนี้แล้วจะสามารถรองรับน้ำทั้งสองเขื่อนได้อยู่ที่ 12,800 ลูกบาศก์เมตร และถ้าเทียบกับน้ำที่เกิน โดยยึดปริมาณน้ำปีที่แล้วเป็นเกณฑ์ส่วนทีเกินที่เราต้องบริหารจัดการคือ 20,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นวันนี้เราจะนับแต่ส่วนเกิน เมื่อสองเขื่อนมีการปรับระดับที่ 45% จะสามารถเก็บน้ำได้เพิ่มอีก 5,000 ลูกบาศก์เมตรก็จะเหลือ 15,000 ลูกบาศก์เมตร โดยในอีก 5,000 ลูกบาศก์เมตรนี้จะบริหารโดยการหาพื้นที่ในการระบายน้ำส่วนกลางในช่วงตอนกลาง คือหาพื้นที่รองรับน้ำ 2 ล้านไร่ หรือการพัฒนาอ่างเก็บน้ำให้เต็มประสิทิภาพ ซึ่งจะไปวัดกันอีกหนึ่งถึงสองวันนี้คือจะหาที่เก็บน้ำให้ได้ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนที่เหลืออีก 1 ล้านลูกบาศก์เมตรจะกระจายพื้นที่ระบายน้ำออกไปตามคลองต่างๆ ทั้งตะวันออก และตะวันตก
กำลังโหลดความคิดเห็น