“ยิ่งลักษณ์” สั่งตั้งซีซีทีวีสันเขื่อนสิริกิติ์ ดูปริมาณน้ำ “ธีระ” ห่วงปล่อยน้ำมากกระทบวิถีชาวบ้าน รับลำบากใจ ด้านนายกฯ แนะทำแบบจำลองสถานการณ์ประกอบการพิจารณา เชื่อ ลดระดับน้ำเขื่อนเหลือ 45% ก่อนวันแรงงานรับมรสุมได้แน่
วันนี้ (13 ก.พ.) ที่เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ระหว่างที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะได้เดินทางถึงบริเวณสันเขื่อนสิริกิติ์ ได้การสั่งการให้มีการสำรวจพื้นที่เพื่อกำหนดจุดติดตั้งกล้องวงจรปิดบนสันเขื่อน ที่จะใช้ในการติดตามตรวจสอบปริมาณน้ำ และดูแนวโน้มว่าจะมีผลกระทบในพื้นที่ใดบ้าง
โดย นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ กล่าวชี้แจงว่า มีความเป็นห่วงในเรื่องความเคยชิน วิถีชีวิตของชาวบ้าน เพราะที่ผ่านมาในช่วงหน้าแล้ง ชาวบ้านมักจะปลูกพืชที่อายุสั้น แต่เมื่อมีการปล่อยน้ำมาก ซึ่งชาวบ้านไม่เคยเจอมาก่อน จึงทำให้มีมีผลกระทบอย่างมาก เช่น ในพื้นที่ จ.ชัยนาท ที่เมื่อเวลาน้ำลด ประชาชนก็จะลงมาใช้พื้นที่ในการทำมาหากิน ด้วยวิถีชีวิตเช่นนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลำบากใจในการปล่อยน้ำออกจากเขื่อน
ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องหารือกันก่อนว่า การดูแลในเรื่องของเขื่อน ว่าการระบายน้ำในเขื่อนให้ลงไปที่ปลายทางว่าเป็นอย่างไร และต้องดูถึงผลกระทบต่อชาวบ้านด้วย จากนั้นจึงต้องปรับวิถีชีวิตของชุมชนแต่ละที่ โดยอยากให้ทำการจำลองสถานการณ์ เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการปรับลดระดับน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ มาอยู่ที่ร้อยละ 45 ภายในวันที่ 1 พ.ค.นี้ จะทำให้เราสามารถรองรับน้ำได้อีกร้อยละ 55 เท่ากับว่าจะสามารถรองรับน้ำที่จะเพิ่มเข้าในหน้าฝนได้อีก 5,200 ล้าน ลบ.ม.โดยจะแนวทางเช่นนี้ในทุกเขื่อนทั่วประเทศ แต่ขอฝากให้ รมว.เกษตรฯคำนวณปริมาณน้ำตลอดเวลา ไม่อยากให้ยึดติดกับปรีมาณที่ตายตัว
ขณะที่ในช่วงหนึ่งของการฟังบรรยายสรุป นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ ได้รายงานว่า ได้มีการคาดการพยากรณ์ปริมาณน้ำในปีนี้ โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ ไอซีที และ เกษตร จะมีไต้ฝุ่น 27 ลูก พายุโซนร้อย 3-4 ลูก ระดับน้ำทะเลจะสูงกว่าปีที่แล้ว 15 ซม.ทำให้การระบายน้ำทำได้ค่อนข้างยาก แต่ปีนี้เราได้คาดการณ์ปริมาณน้ำว่าจะมี 2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะต้องให้เขื่อนกักเก็บน้ำให้ได้ 5 พันล้าน ลบ.ม.และเก็บในแก้มลิงอีก 5 พันล้าน ลบ.ม.ส่วนที่เหลืออีก 1 หมื่นล้าน ลบ.ม.ให้ปล่อยผ่านเข้าสู่พื้นที่ กทม.ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาระบายน้ำ 45 วัน แต่ยืนยันว่า น้ำจะไม่ท่วมกทม.แน่นอน เราเอาอยู่ นอกจากนี้ ในส่วนของระบบเตือนภัย ได้มอบหมายให้ ปภ.รับผิดชอบ แต่ในการสั่งอพยพนั้น ให้เป็นการตัดสินใจของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติหน่วยงานเดียว เพื่อป้องกันความสับสน และในการแจ้งเตือนประชาชน จะต้องเชื่อมโยงข้อมูลให้ลงลึกถึงระดับชุมชน หมุ่บ้าน ไม่ใช่เฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น ทุกระดับต้องเข้าถึงข้อมูลแหล่งเดียวกัน และให้มีการติดตั้งซีซีทีวีที่ประตูระบายน้ำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยการบูรณาการทั้งหมดนี้จะสามารถทำได้เสร็จภายใน 3 เดือนอย่างแน่นอน
ด้าน นายธีระ กล่าวรายงานว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 78 ของความจุเขื่อน โดยในเดือน พ.ค.จะพร่องน้ำให้เหลือร้อยละ 45 ให้ได้ แต่ก็ขอเตือนว่าโอกาสที่จะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำมีสูงหากปริมาณน้ำฝนไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย และ นายปลอดประสพ เร่งดำเนินการจัดทำระบบข้อมูลการพยากรณ์อากาศและการเตือนภัย ให้เสร็จภายใน 3 เดือน โดยการเตือนภัยจะต้องลงไปถึงระดับหมู่บ้าน นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนอีกเรื่อง คือ การปลูกป่าในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เร่งจัดทำฝายระบายน้ำ โดยให้ กยน.ชี้จุดในพื้นที่ และทำแผนให้เสร็จในคืนนี้ เพื่อที่จะสั่งการให้ผู้ว่าฯ ดำเนินการปลูกป่าในทันที โดยต้องให้โครงการหลวงเป็นเจ้าภาพ โดยต้องดำเนินการปลุกป่าให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และขอให้ กยน.และกรมชลประทานไปรวมกันตั้งคณะกรรมกาขึ้นมาดูการระบายน้ำในเขื่อน น้ำทุ่ง และพื้นที่รับน้ำ 1 ชุด เพื่อบริหารจัดการน้ำ