xs
xsm
sm
md
lg

ผุด! อีกหน่วยงานปูสั่งรวมข้อมูลน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้(16 เม.ย.55)ที่สำนักงานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ และอุทกภัย (กบอ.) ตึกแดง ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาร่วมการประชุม กบอ.ที่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานคณะกรรมการกบอ. เพื่อติดตามความคืบหน้าการทำแผนบริหารจัดการน้ำโดยละเอียดและแผนงบประมาณ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย อาทิ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย
นายปลอดประสพ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม ว่า วันนี้เป็นการประชุมติดตามความคืบหน้ากลุ่มที่รับงบประมาณไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท เช่น การขุดลอกคูคลอง การซ่อมถนนและเขื่อน การสร้างระบบเตือนภัย การทำคลังข้อมูล การถ่ายภาพทางอากาศเพื่อเก็บความสูงของพื้นที่ทั้งหมด รวมถึงการติดตามการจัดทำโครงการและปัญหาอุปสรรค ส่วนกลุ่มที่ได้รับงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องการปลูกป่าและการอนุมัติงบประมาณให้กระทรวงคมนาคม 2.4 หมื่นล้านบาทในการยกระดับถนนเพื่อป้องกันน้ำท่วม ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้จัดทำแนวทางการเขียนโครงการทั้งหมด 8-9 ข้อ เพื่อให้หน่วยงานราชการมีความเข้าใจและเกิดความสะดวกกับผู้จัดทำและผู้อนุมัติโครงการ
นอกจากนี้ ที่ประชุมจะหารือกันถึงการเตือนภัย โดยเป็นการประเมินการเตือนภัยเหตุสึนามิครั้งที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในการเตือนภัยได้ทันเวลา และการอพยพ แต่อาจมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงบ้างเล็กน้อย เช่น การทวนคำสั่งของผู้รับคำสั่ง ปัญหาการสื่อสารล่มจากกรณีมีการใช้งานจำนวนมาก การใช้ระบบจีพีเอสเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะสถานการณ์เกี่ยวกับแผ่นดินไหวขณะนี้ไม่น่าไว้วางใจ เนื่องจากเปลือกโลกแสดงความไม่เสถียร จึงต้องมีการดูแล
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงหรือมีสิ่งที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้หรือไม่ นายปลอดประสพ กล่าวว่า เรื่องน้ำนั้นนายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดว่าทำไปแล้วแค่ไหน เมื่อถามย้ำว่ามีเรื่องใดที่ยังไม่คืบหน้าบ้าง นายปลอดประสพ กล่าวว่า ตนคิดว่าไปได้ดี โดยเราแบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ เรื่องที่จะเผชิญเหตุในน้ำท่วมหรือฤดูน้ำครั้งหน้า ซึ่งเราจะเน้นในส่วนของงบประมาณ 1.2 แสนล้านบาทที่มีการเดินหน้าไปหมดแล้ว สำหรับกรณีของงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทนั้นเป็นเรื่องเฉพาะหน้าและระยะยาว ซึ่งตนคิดว่าไปได้ดี ไม่มีอะไร
เมื่อถามว่า นายกฯจะลงพื้นที่อีกหรือไม่ นายปลอดประสพ กล่าวว่า นายกฯจะไปดูงานเรื่อยๆ ซึ่งยังไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นวันใด

**เร่ง 7 ภารกิจหลักบริหารจัดการน้ำ
มีรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้รับรายงานติดตามภารกิจความก้าวหน้าผลการดำเนินการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยระยะเร่งด่วนและยั่งยืน รวมทั้งเร่งรัดงานตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเน้น 7 ภารกิจสำคัญ ประกอบด้วย 1.ฟื้นฟูและอนุรักษ์ต้นน้ำและระบบนิเวศฯ 2.บริหารจัดการเขื่อนเก็บน้ำหลัก
3.ฟื้นฟูและปรับปรุงสิ่งก่อสร้างและงานโยธา 4.การจัดตั้งคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และการเตือนภัย 5.การกำหนดพื้นที่น้ำนอง 6.การเผชิญเหตุเฉพาะพื้นที่ และ7.จัดตั้งองค์กรเพื่อบริหารจัดการน้ำ(Single Command)

**สั่งตั้งหน่วยงานกลางแจงข้อมูลน้ำ
นายอานนท์ สนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและสารสนเทศ (สทอภ.) เปิดเผย ว่า นายกรัฐมนตรี กำชับเกี่ยวกับการบูรณาการข้อมูลน้ำจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องส่งมาให้ส่วนกลาง อาทิ กรม อุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ เข้ามาไว้ที่กบอ. โดยกบอ.จะมอบภารกิจ ในการจัดทำกลไก วาง มาตรฐานข้อมูล การแปรผลข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำไปสู่บทสังเคราะห์ เพื่อสื่อสารให้กับประชาชนได้ เข้าใจง่าย โดยจะเป็นหน่วยงานภายใต้กำกับของกบอ.
ทั้งนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบก็สามารถแจ้งข้อมูลให้กับประชาชนได้ แต่สำหรับหน่วยงานนี้ จะรวบรวม ข้อมูลทั้งหมดเป็น ข้อมูลพิเศษ เพื่อแถลงการณ์กับประชาชนโดยตรง โดยในเรื่องนี้ได้มอบหมายให้นายนิวัฒน์ ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีรับไปดำเนินการ
นอกจากนี้ยังได้หารือถึงเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณ ตามแผนบริหารจัดการน้ำ ที่ได้อนุมัติไปก่อนหน้า นี้ โดยในวันที่ 30 เม.ย.นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเรียกประชุมเพื่อติดตามการจัดซื้อจัดจ้างอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะ กระทรวงคมนาคม ที่มีปัญหาความล่าช้า เนื่องจากขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง และผู้รับเหมามีงานจำนวนมาก และ งานที่กำลังดำเนินการเป็นงานเร่งด่วน จึงยากต่อการจัดหาผู้รับเหมา
เช่นเดียวกับกรมชลประทานที่ประสบปัญหาเดียวกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีความ ล่าช้าในการจัดจ้างบริษัทเอกชน เพื่อจัดทำโครงการถ่ายภาพแผนที่ทางอากาศ เพื่อวัดระดับความสูงของพื้นผิวดิน สำหรับนำมาใช้คำนวณการไหลของน้ำ รวมถึงระดับพื้นที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนในพื้นที่ 3.6 หมื่นตาราง กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ไข่ขาวล้อมรอบเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเป็นพื้นที่ลุ่ม สำหรับทำการเกษตร และพื้นที่ อยู่อาศัย ขณะนี้ยังคงไม่เสร็จเช่นเดียวกัน
แต่สำหรับโครงการเดียวกัน ที่อยู่ในความรับผิดชอบของไจก้า พื้นที่ 2.4 หมื่นตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ไข่แดง สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงกรุงเทพมหานคร ดำเนินการเสร็จแล้ว
ส่วนการประเมินความพร้อมของระบบเตือนภัย จากกรณีแผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมานั้น นายอานนท์กล่าวว่า โดยภาพรวมที่ประชุมมีความพึงพอใจ ในการประเมินเหตุการณ์ล่วงหน้า และการแจ้งเตือนภัยก่อนคลื่นยักษ์สึนามิจะเข้าประมาณ 3 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ทุกคนเห็นร่วมกันว่า อาจต้องเพิ่มการแจ้งเตือนด้วยข้อความสั้น รอบรัศมีเสาสัญญาณโทรศัพท์ ทุก ๆ 2-3 กิโลเมตร และให้มีความชัดเจนในการประกาศว่าสถานการณ์สิ้นสุดแล้ว ให้รวมอยู่ที่จุดเดียว เพื่อที่ประชาชนจะได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ

สำหรับการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างเป็นทางการ ในวันที 17-20 เม.ย.นี้ นายอานนท์กล่าวว่า เบื้องต้นนายกรัฐมนตรีแจ้งว่า จะเป็นการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือ ในโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งประเทศจีนมีความเชี่ยวชาญ โดยอาจมีการลงทุนร่วมกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรับมือกับอุทกภัย

“ยิ่งลักษณ์” จี้ ทุกหน่วยงานเป็นเอกภาพ
ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) โดยใช้อาคารเดิมที่เคยเป็นสำนักงานของคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เป็นสถานที่ประชุม และจะมีการใช้อาคารดังกล่าวเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการน้ำ ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวใช้เวลาประชุมกว่า 5 ชั่วโมง
หลังการประชุม นายกฯ เปิดเผยว่า วันนี้ไม่ได้เป็นการประชุมอย่างเป็นทางการ แต่เป็นการมาติดตามงานความคืบหน้าแต่ละโครงการและเร่งรัดงานแต่ละส่วนให้เรียบร้อยเร็วขึ้น โดยได้หารือถึงเรื่องการพัฒนาต้นน้ำ การทำฝายชะลอน้ำ การปลูกป่า ซึ่งการทำงานทั้งหมดต้องอาศัยการบูรณาการหลายกระทรวงรวมกัน พร้อมกันนี้จะดูเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูล ซึ่งวันนี้ทุกกระทรวงได้เตรียมงานไว้แล้วและศูนย์แห่งนี้ จะใช้เป็นศูนย์บริหารจัดการน้ำแบบศูนย์รวมของทุกหน่วยงาน(Single Comman) ซึ่งต้องการดึงข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่เป็นข้อมูลทันต่อเหตุการณ์ทั้งหมด มาจัดทำเป็นห้องวอร์รูมเพื่อใช้วิเคราะห์สถานการณ์ ประเมินผล และชี้แจงให้ประชาชนทราบ ซึ่งการทำงานจะกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อย่างไรก็ตามต้องขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งตัวแทนเข้ามาทำงานในจุดนี้ด้วย ซึ่งศูนย์บริหารจัดการน้ำแห่งนี้ไม่ได้ทำงานซ้อนรายกระทรวง แต่เป็นการบูรณาการ เพื่อให้การทำงานมีความเป็นเอกภาพ
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการติดตามงานมีส่วนไหนที่ยังล่าช้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เรื่องการบูรณาการยังต้องเชื่อมโยงให้เกิดความเป็นเอกภาพมากขึ้น ในส่วนงานที่แต่ละกระทรวงรับผิดชอบก็ได้มีการดำเนินการแล้ว โดยเรามีระบบการติดตามอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานก่อสร้างต้องใช้เวลาในการจัดซื้อจัดจ้าง
ผู้สื่อข่าวถามว่าการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ในวันนี้การระบายน้ำในเขื่อนเหลืออยู่ที่ระดับ 60% และจะยังคงระดับนี้ไว้ก่อน เพราะต้องใช้น้ำในพื้นที่น้ำแล้งด้วย แต่การบริหารจัดการน้ำโดยรวมถือว่าเป็นไปตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.)ได้ให้แนวทางไว้ แต่เราไม่ได้ปรับระดับลดลงไปถึง 45% ทั้งนี้เราต้องการเชื่อมข้อมูลทั้งหมดในรูปแบบที่เป็นเอกภาพ โดยคำนึงถึงความสามารถของคู คลอง ต่างๆที่จะรับน้ำได้ด้วย
เมื่อถามว่า หน่วยงานมองว่างบประมาณลงไปยังไม่ถึงส่งผลให้การดำเนินการล่าช้าหรือไม่และจะเร่งรัดงบประมาณอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า มี 2 ส่วน โดยส่วนแรกอยู่ในงบประมาณ 1.2 แสนล้าน ได้จ่ายไปเกี่ยวกับเรื่องการเยียวยาชดเชยประชาชนที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมเกือบหมดแล้ว แต่ในส่วนของการก่อสร้างจ่ายไม่มาก ขณะนี้เร่งงบประมาณในส่วนของ 3.5 แสนล้าน ซึ่งกำลังเร่งสำนักงบประมาณอยู่
เมื่อถามว่าการเดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 17 - 19 เม.ย.นี้ จะมีการพูดคุยเรื่องน้ำหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนมีการพัฒนาแหล่งน้ำมาก โดยคำนวณถึงน้ำท่วมน้ำแล้ง ซึ่งก่อนหน้านี้จีนมีปัญหาคล้ายกับประเทศไทย ซึ่งจะไปดูศูนย์บริหารจัดการน้ำของจีนว่าใช้หลักการบริหารจัดการน้ำอย่างไร พร้อมกับการไปดูเขื่อนของจีนด้วย ซึ่งจะมีคณะกรรมการกบอ. บางคนเดินทางไปด้วย เพื่อดูข้อมูลว่ามีข้อมูลส่วนไหนบ้างที่จะเป็นประโยชน์แก่ไทย และนำกลับมาหารือ พร้อมกันนี้จะขอความร่วมมือจากฝ่ายจีน ในการส่งเจ้าหน้าที่มาทำงานร่วมกับเรา
เมื่อถามว่าที่ประชุมได้หารือเรื่องระบบการเตือนภัยหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เรื่องระบบเตือนภัยจะมีการวางอุปกรณ์ลงในพื้นที่ชุมชน พร้อมทั้งจัดระเบียบขั้นตอนการทำงานโดยให้ทุกหน่วยงานรวมแผนเข้ามาที่ศูนย์กลาง ซึ่งขณะนี้แต่ละหน่วยงานประมาณ 15 หน่วยงานได้วางโครงร่างแล้ว นอกจากนี้จะมีการเร่งติดกล้องซีซีทีวี ตามจุดระบายน้ำต่างๆ

**สั่งปภ.ประสานทำระบบเตือนภัย
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม กบอ. ว่า ที่ประชุมได้พูดคุยกันถึงระบบเตือนภัย โดยเห็นว่าการเตือนภัยสึนามิครั้งที่ผ่านมาทำได้ดี แต่ต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น นายกรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นเจ้าภาพในการทำงานร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำระบบเตือนภัยให้สมบูรณ์ทั้งระบบ โดยต้องนำกลับมารายงานในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 30 เมษายนนี้
อย่างไรก็ตาม ระบบเตือนภัยต้องมีการแจ้งเตือนไปถึงชุมชนเพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น ซึ่งแม้จะทำได้ดีอยู่แล้วแต่ก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพ และต้องทำร่วมกับแผนเผชิญเหตุไม่ว่ากรณีของคลื่นสึนามิหรือแผ่นดินไหว เพื่อให้มีการเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องต่างๆ อาทิ การอพยพประชาชน การจัดเส้นทางการจราจร เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น