xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นสุดภารกิจลับ “ยานอวกาศไร้คนขับ” ลงจอดหลังโคจร 469 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองการเข้าสู่ชั้นบรรยากาศก่อนลงจอดของยานโอทีวี-2 (สเปซด็อทคอม/นาซา/โบอิง)
“ยานไร้คนขับ” ของกองทัพสหรัฐฯ ลงจอดเรียบร้อยหลังบินอยู่ในวงโคจรกว่า 400 วัน แม้จะเก็บงำรายละเอียดภารกิจเป็นความลับ แต่ยืนยันแข็งขันไม่ได้กระทำ “ต่ำช้า” ที่ความสูงหลายร้อยกิโลเมตรอย่างแน่นอน แจงแค่ใช้ทดสอบความสามารถและเทคโนโลยี ซึ่งสามารถขนส่งเสบียงสู่สถานีอวกาศได้

“เอ็กซ์-37บี” (X-37B) เครื่องบินอวกาศอัตโนมัติของกองทัพอากาศสหรัฐฯ หรืออีกชื่อว่า ยานทดสอบในวงโคจรโอทีวี-2 (Orbital Test Vehicle-2: OTV-2) ร่อนลงสู่พื้นโลกด้วยระบบนำร่องอัตโนมัติและแตะพื้นโลกที่ฐานทัพอากาศแวนเดนเวิร์ก (Vandenberg Air Force Base) ของสหรัฐฯ ในแคลิฟอร์เนีย เมื่อค่ำวันที่ 16 มิ.ย.2012 ตามเวลาในไทย และเป็นการปิดเที่ยวบินครั้งที่สองของโครงการเอ็กซ์-37บี ซึ่งดำเนินมานานกว่า 15 เดือน

หากแต่สเปซดอตคอม รายงานว่า เป้าหมายของโครงการยังคงถูกเก็บงำเป็นความลับ โดย กองทัพอากาศสหรัฐฯ ประกาศความสำเร็จของปฏิบัติการเครื่องบินอวกาศเอ็กซ์-37บี ด้วยแถลงสั้นๆ ที่โพสต์ไว้ในเว็บไซต์ของฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์ก รวมถึงส่งอีเมลสั้นๆ แก่ผู้สื่อข่าว

พันอากาศเอก นิญญา อาร์แมกโน (Nina Armagno) ผู้บังคับการแผนกอวกาศของกองทัพที่แวนเดนเบิร์ก กล่าวว่า ทีมแวนเดนเบิร์กได้เตรียมการสำหรับการลงจอดครั้งนี้อย่างเคร่งเครียด และวันนี้พวกเขาก็ได้เห็นความสำเร็จจากความพยายามดังกล่าว และเขาก็รู้สึกภูมิใจกับทีมซึ่งดำเนินการให้การลงจอดของยานอวกาศไร้คนขับนี้ลงจอดได้สำเร็จและปลอดภัย

ทั้งนี้ ยานเอ็กซ์-37บี อยู่ในวงโคจรนาน 469 วัน ซึ่งนาน “น็อกรอบ” ยานโอทีวี-1 ยานน้องที่ทำสถิติอยู่ในวงโคจร 225 วันเมื่อปีที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ ณ แวนเดนเบิร์ก กล่าวว่า ระหว่างปฏิบัติการยานเอ็กซ์-37บี ได้ทำการทดลองในวงโคจรไปด้วย ซึ่งจริงๆ แล้ว “หน้าต่าง” หรือโอกาสในการลงจอดของยานครั้งนี้ คือ วันที่ 11 มิ.ย.และจะปิดในวันที่ 18 มิ.ย.

สำหรับยานเอ็กซ์-37บี หรือ โอทีวี-2 นี้ ถูกส่งทะยานฟ้าโดยจรวดแอตลาส 5 (Atlas 5) จากสถานีฐานทัพอากาศเคปคานาเวอรัล (Cape Canaveral Air Force Station) ตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.2011 ซึ่งตามแผนเดิม เครื่องบินอวกาศนี้ถูกออกแบบให้บินอยู่ในวงโคจรนานแค่ 270 วัน แต่ทางกองทัพอากาศก็ปล่อยให้ยานบินต่อไปนานเกินเป้าหมายเดิมภายใต้ภารกิจที่พวกเขาเรียกว่า “ความสำเร็จอันน่าตื่นเต้น”

ด้าน พันตรี ทอม แมคอินไตร์ (Tom McIntyre) ผู้จัดการโครงการยานเอกซ์-37บี กล่าวว่า จากเหตุที่ฝูงบินกระสวยอวกาศได้ปลดระวางไปแล้วนั้น ทำให้โครงการที่เขาดูแลนั้นสามารถพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศได้เป็นพิเศษ และส่งผลให้กองทัพอากาศสามารถพัฒนาเทคโนโลยีใหม่โดยไร้ความเสี่ยงเดิมๆ อย่างที่โครงการอวกาศอื่นต้องเผชิญ ซึ่งพวกเขาภูมิใจที่ความพยายามของทั้งทีมนำภารกิจมาถึงบทสรุปอันยอดเยี่ยม

ตัวยยานอวกาศนั้นผลิตขึ้นโดยบริษัท โบอิง (Boeing) แต่รายละเอียดของภารกิจก็ถูกเก็บงำเป็นความลับ ซึ่งนำสู่ความเคลือบแคลงสงสัย โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์และต่างชาติ ที่คาดเดาว่า ยานอวกาศลำนี้ คือ อาวุธอวกาศ ซึ่งอาจจะเป็น “ดาวเทียมพิฆาต” ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็สันนิษฐานว่ายานลำนี้อาจเป็นเครื่องมือสอดแนมในวงโคจรก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี สเปซดอตคอม ระบุว่า ทางกองทัพอากาศสหรัฐฯ ก็พยายามออกมาลดความสงสัยดังกล่าว และย้ำอย่างหนักแน่นหลายครั้งว่า ยานเอ็กซ์-37บี ไม่ได้กระทำการใดๆ ที่ “ต่ำช้า” ที่ระดับความสูงจากผิวโลกหลายร้อยกิโลเมตรอย่างแน่นอน

ริชาร์ด แมคคินนีย์ (Richard McKinney) ผู้ช่วยเลขานุการโครงการอวกาศของกองทัพอากาศสหรัฐฯ กล่าวไว้สั้นๆ หลังการลงจอดของยานโอทีวี-1 เมื่อเดือน ธ.ค.2010 ว่า โครงการนี้เป็นการทดสอบเพื่อพิสูจน์คุณสมบัติของวัสดุและความสามารถของยานอวกาศ โดยทำการทดลองในอวกาศและนำยานกลับสู่โลกแล้วตรวจสอบเทคโนโลยี

“คำพูดของผมที่อยากจะบอกแก่ใครก็ตามที่อาจจะไปอ่านข้อมูลจากที่อื่นๆ มาว่า “ให้ฟังสิ่งที่เรากำลังบอกคุณเท่านั้น” ด้วยความบริสุทธิ์และเรียบง่าย นี่คือการทดสอบยานยนต์ที่เราสามารถพิสูจน์เทคโนโลยีและความสามารถของยานได้” แมคคินนีย์ กล่าว

สำหรับยานเอ็กซ์-37บี นั้นค่อนข้างคล้ายคลึงกับกระสวยอวกาศขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ที่ปลดระวางไปแล้ว แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก โดยเครื่องบินอวกาศไร้คนขับนี้มีความยาวประมาณ 8.8 เมตร และกว้าง 4.5 เมตร และมีช่องสัมภาระขนาดประมาณกระบะของรถปิกอัพ ซึ่งยาน 2 ลำในโครงการเอ็กซ์-37บี นี้ สามารถใส่เข้าไปในช่องสัมภาระของกระสวยอวกาศได้อย่างสบาย และการที่เครื่องบินไร้คนขับสามารถอยู่ในวงโคจรได้ยาวนานเช่นนี้ เพราะได้พลังงานจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์

ตอนนี้ยานเอ็กซ์-37บี อาจบินแค่ในภารกิจลับๆ ของกองทัพสหรัฐฯ แต่อนาคตสเปซดอตคอมแสดงความเห็นว่า อาจจะมีการขยายบทบาทต่อไป โดยโบอิงอ้างว่า ความสามารถปัจจุบันของยานลำนี้สามารถลำเลียงสัมภาระสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) และเชื่อมต่อกับท่าจอดเทียบปกติของสถานีอวกาศได้

นอกจากนี้ โบอิงยังมีแผนสร้างยานอวกาศที่มีขนาดใหญ่กว่าที่เรียกว่า “ยานเอ็กซ์-37ซี” (X-37C) ซึ่งจะสามารถบรรทุกมนุษย์อวกาศ 6 คนไปยังสถานีอวกาศได้ และจะเป็นยานที่มีขนาดใหญ่กว่าเอกซ์-37 บี ประมาณ 65-80%

เดิมทีนาซาใช้ยานเอ็กซ์-37บี เป็นฐานทดสอบการทดลอง จนกระทั่งงบประมาณของโครงการหมดในปี 2004 ยานดังกล่าวจึงถูกส่งต่อไปยังสำนักงานโครงการวิจัยประยุกต์ของกลาโหมสหรัฐ (Defense Advanced Research Projects Agency) และที่สุดได้ถูกเปลี่ยนผ่านสู่กองทัพอากาศในปี 2006

สำหรับภารกิจต่อไปของยานเอ็กซ์-37บี นั้น เจ้าหน้าที่แวนเดนเบิร์ก กล่าวว่า จะส่งยานขึ้นไปปฏิบัติภารกิจอีกครั้งในปีนี้ ซึ่งอาจจะเป็นช่วงฤดูใบไม้ร่วง โดยจะส่งยานลำแรกของโครงการคือยานโอทีวี-1 ขึ้นสู่วงโคจรอีกเป็นเที่ยวบินครั้งที่สอง
ภาพยานโอทีวี-1 ยานลำแรกในโครงการเอกซ์-37บีลงจอดเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2010 โดยเจ้าหน้าที่สวมชุดป้องกันก่อนเข้าตรวจสอบในเบื้องต้น (สเปซด็อทคอม/กองทัพอากาศสหรัฐฯ)
ภาพเปรียบเทียบขนาดของยานในโครงการเอกซ์-37 บีและซี ในกรอบสีแดงเปรียบกับขนาดของกระสวยอวกาศ ในกรอบสีน้ำเงินเปรียบเทียบให้ดูว่าสามารถยัดยานเอกซ์-37บี เข้าในช่องสัมภาระของกระสวยอวกาศได้ และในกรอบเหลือง เปรียบเทียบขนาดยานเอกซ์37-บี (ซ้าย) และ ซี (ขวา) กับจรวดแอตลาส 5 (สเปซด็อทคอม/AIAA/Grantz/Boeing)
กำลังโหลดความคิดเห็น